posttoday

4 ปัจจัยไปต่อลำบาก "บิ๊กตู่" ไม่ง่ายฝืนกระแสขาลง

25 กันยายน 2564

โดย....ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

*******************

ปัญหาความขัดแย้งของกลุ่มมุ้งต่างๆภายในพรรคพลังประชารัฐ ผลสะเทือนจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลดบทบาท ปรับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พ้นจาก รมช.เกษตร แต่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมมนตรี รั้งไม่ให้ลาออกจากพรรค ขอให้ทำหน้าที่แม่บ้าน ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐต่อ ยังคงเป็นเป้าสนใจว่า ที่สุดแล้ว ความขัดแย้งร้าวลึกในพรรคพลังประชารัฐ จะส่งผลต่อ "บิ๊กตู่" ที่จะชิงชัยเป็นนายกฯอีกสมัยหรือไม่

สภาพของรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐขณะนี้แม้ดูจะฟื้นขึ้นมาจากสถานการณ์โควิดที่เริ่มคลายตัวลง "บิ๊กตู่" ดูกระชับอำนาจในรัฐบาลและมั่นใจในคะแนนนิยมที่เชื่อว่ากำลังกลับมา ภาพภายนอกหลายคนมองว่า "บิ๊กตู่" จะไม่ถอดใจ เพราะลงพื้นที่ถี่ยิบ ดูการรับมือปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดที่ล้วนเป็นฐานเสียงแกนนำพรรคพลังประชารัฐทั้งนั้น ดังนั้น อาจฝ่ากระแส ลงชิงนายกฯต่อในการเลือกตั้งครั้งหน้า จากปัจจัยและความได้เปรียบที่ดูจะเอื้อหลายอย่าง

อย่างไรก็ตาม หาก "บิ๊กตู่" เลือกจะไปต่อ ในช่วงเวลานับถอยหลังที่สภาผู้แทนราษฎรใกล้จะหมดวาระ 4 ปี ปลายเดือน มี.ค. 2566 ซึ่งจะต้องเลือกตั้งใหม่ จำต้องฝ่าด่านหินหลายปัจจัย

1.ปัญหาภายในพลังประชารัฐ

การเมืองในพปชร.ถูกมองว่า แตกแยกระหว่างพี่น้องสอง ป. มีการประลองอำนาจกันระหว่างกลุ่มสส. "บิ๊กป้อม" กับ "บิ๊กตู่" กันสนุก เช่น ในการลงพื้นที่ดูปัญหาน้ำท่วมวันก่อน มีสส.ร่วมคณะ "บิ๊กป้อม" มากถึง 50 คน ขณะที่ "บิ๊กตู่" ลงพื้นที่อีกแห่งวันเดียวกันมีสส.ร่วมไม่ถึงสิบคน แน่นอน ณ เวลานี้ สส.ในพรรคสนับสนุน "บิ๊กป้อม" มากกว่า "บิ๊กตู่"

แต่ทั้ง "บิ๊กป้อม" และ "บิ๊กตู่" ไม่มีทางแตกแยก ทั้งคู่ยืนยัน ว่าอยู่ด้วยกันมา 50 ปี จะไม่แยกทางจากกัน นอกจากตายจากกันข้าง ส่วน "บิ๊กตู่" ให้สัมภาษณ์สื่อก่อนลงมติไม่ไว้วางใจว่า สามป. ไม่มีใครเสี้ยมให้แตกกันได้เป็นสามพี่น้องที่รักกันมานาน

ลูกพรรคพปชร. รู้ดีว่า เขาควรผูกอนาคตการเมืองไว้ที่ "บิ๊กป้อม" เพราะเป็นผู้กุมอำนาจในพรรคตัวจริง แม้จากนี้ "บิ๊กตู่" จะมีทางสะดวกในการบริหารราชการแผ่นดิน ม็อบต่อต้านหมดพลัง การอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ทำไม่ได้แล้ว นอกจากรอเปิดสมัยประชุมในกลางปีหน้าเดือน พ.ค 2565 ขณะที่การแก้ปัญหาโควิด วัคซีนจำนวนมากทยอยให้ประชาชนต่อเนื่อง และเตรียมการกู้เงินอีกเพื่อมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หลังจากรัฐบาลขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% ต่อ GDP

"บิ๊กตู่" ยังได้ขจัด ร.อ.ธรรมนัส ที่เขาระแวงพ้น ครม.ไปแล้วด้วยข้อหา คิดการใหญ่จากข่าวลือในช่วงลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตั้งแต่ อยากป็นรมว.มหาดไทย ชิงเก้าอี้จาก พล.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ยังมีข่าวว่าต่อท่อกับคนแดนไกลด้วยการจับมือพรรคเล็ก ให้โหวตไม่ไว้วางใจ บิ๊กตู่ ในญัตติอภิซักฟอกเพื่อให้หลุดเก้าอี้นายกฯ

การปลด ร.อ.ธรรมนัสสร้างความไม่พอใจให้กับ "บิ๊กป้อม" เพราะ ร.อ.ธรรมนัสคือ มือขวาคู่ใจ เป็นลูกน้องคนโปรดของพี่ใหญ่คสช. เป็นดาวรุ่งอนาคตไกล ในฐานะเลขาธิการพปชร. แต่การที่พี่ใหญ่ "บิ๊กป้อม" เล่นบท ชิงอำนาจกลับโดยรั้ง ร.อ.ธรรมนัส ไม่ให้หนีออกจากพรรค ขอให้เป็นมือขวาอยู่คุมพรรคต่อ แสดงให้เห็นว่า ในอนาคตถ้ายังให้ ร.อ.ธรรมนัสอยู่จริง "บิ๊กตู่" ก็อาจวางมือหรือเลิกการเมือง เพราะทั้งคู่ไม่มีทางอยู่ถ้ำเดียวกันได้ หรืออาจเป็นไปได้ที่มีสัญญาณว่า "บิ๊กตู่" อาจจะพอแค่สมัยนี้ "บิ๊กป้อม" จึงต้องวางขุนพลจัดทัพเลือกตั้งล่วงหน้า

2. ประเทศขัดแย้ง /การเมืองแตกแยก

ประเด็นนี้ สส.พรรคพลังประชารัฐ รับรู้ว่า อาจถึงคราวที่ "บิ๊กตู่" ต้องลงจากหลังเสือ เพราะไม่ง่ายที่พรรคจะฝืนกระแสชู "บิ๊กตู่" เป็นนายกฯ คนอีกครั้ง เลือกตั้งครั้งที่แล้ว มีคำสัญญาว่า "เลือกความสงบ จบที่ลุงตู่" เป็นจุดแข็ง แต่เกือบสามปีในรัฐบาลพปชร. จุดแข็งนี้ได้กลายเป็นจุดอ่อน หรือย้อนกลับไป ช่วงรัฐประหาร "บิ๊กตู่" ก็มาด้วยวาทกรรม "ขอเวลาอีกไม่นาน" แต่แล้วก็ไม่นานจริงๆ!!!! ต้องยอมรับว่า วันนี้กระแสสนับสนุน ไม่เหมือนก่อนเพราะพล.อ.ประยุทธ์ คือ เชื้อปมความขัดแย้งจากการทำรัฐประหาร คสช. และนับวันยิ่งขยายร้าวลึกขึ้นกระทบไปยังสถาบัน องค์กรหลักต่างๆ

หาก "บิ๊กตู่"ยังสู้ต่อ รธน. 2560 ก็จะยังไม่ถูกแก้ แน่นอนเรายังจะเห็นการเมืองสู้รบ ขัดแย้งอีกนาน ปัญหาความไม่ชอบธรรมจากการใช้กติการธน.ที่ไม่เป็นธรรม ก็จะยิ่งสะสมไพอกพูนไปเรื่อยๆ เพราะ สว.250 คน ยังโหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีก

3. ความเบื่อของประชาชน

ตลอด 7 ปี แต่รัฐบาลไม่ได้ทำการปฏิรูปโครงสร้างเรื่องสำคัญ ถือว่า สูญเสียโอกาสอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจ การปฏิรูปการศึกษา ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรออย่างเท่าเทียมกัน ที่รัฐบาลใกล้ชิดกับกลุ่มทุนผูกขาด เสียงประชาชนบ่นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ค่าครองชีพสูง ตั้งแต่ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด ยิ่งมาเจอวิกฤตโควิดก็สาหัสสากรรจ์เข้าไปอีก ขณะที่ นิด้าโพลสำรวจเมื่อเดือนก.ย.นี้สะท้อนว่า ประชาชนเบื่อพล.อ.ประยุทธ์ แล้ว หากให้เป็นนายกฯอีกสมัย สมควรยุติบทบาทการเมืองถึง 58% เพราะได้รับความเดือดร้อนถ้วนหน้า มีเพียง 19.97 % เห็นด้วยอย่างยิ่ง ให้ลุยต่ออีกสมัย

4. ข้อห้ามเป็นนายกฯ 8 ปี ในรธน.

ด่านสำคัญอีกเรื่อง คือ รธน.ฉบับปัจจุบันซึ่งบังคับใช้เมื่อปี 2561 กำหนดไว้ใน มาตรา 158 วรรคสี่ว่า นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม

พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนากยรัฐมนตรีมาสองรอบ โปรดเกล้าเป็นนายกฯครั้งแรกจากการยึดอำนาจวันที่ 24 ส.ค. 2557 และต่อเนื่องจากการเลือกโดยรัฐสภาจนปัจจุบันอยู่ในตำแแหน่งแล้ว 7 ปี 1 เดือน ถ้านับจากการเป็นนายกฯครั้งแรก ในวันที่ 24 สค. 2565 หรือ ปีหน้าก็จะครบ 8 ปี ฝ่ายค้านประกาศแล้วว่า จะใช้ประเด็นนี่กดดันให้ "บิ๊กตู่" ลาออกตามเจตนารมณ์รธน. และคงหนีไม่พ้นที่จะมีการยื่นเรื่องให้ศาลรธน. ตีความว่า พล.อ.ประยุทธ์ ฝ่าฝืนบทบัญญัติ รธน.หรือไม่ หากยังนั่งทำงานในฐานะนายกฯ หลังวันที่ 24 สค. 2565

เจตนารมณ์ของรธน.ในเรื่องนี้ ไม่ต้องการเห็นผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีผูกขาดทางการเมืองป้องกันการใช้อำนาจฉ้อฉล โดยมีบทเรียนจากสมัยทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ แม้จะอยู่ได้เกือบ 6 ปี และถูกยึดอำนาจไปก่อน แต่ระบอบทักษิณในยุคนั้นใช้อำนาจเพื่อตัวเองพวกพ้อง ควบรวมพรรค แทรกแซงองค์กรอิสระ คอรัปชั่นเชิงนโยบาย นำมาซึ่งการเขียนรธน.ฉบับ 2560 กำหนดห้ามนายกฯนั่งเก้าอี้ รวมเป็นเวลา 8 ปี

แม้ว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะให้สัมภาษณ์เมื่อปีที่แล้วในประเด็นนี้ โดยยืนยันว่า กรณี "บิ๊กตู่" ไม่เข้าข่าย เพราะกำหนดระยะเวลาสูงสุดในการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี จะต้องเริ่มนับจากวันที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2561 ประกาศใช้ คือวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2561 ไม่ใช่นับย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ พล.อ.ประยุทธ์ยึดอำนาจเข้ามา ขณะที่อุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อีกคน ก็อธิบายไปไกลกว่านั้น คือให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ สมัยสอง คือวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2562

ถ้าเป็นดังนั้นแล้วทุกอย่างเอื้ออำนวยให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นต่อ ไม่ว่า ศาลรธน.ไฟเขียวเห็นว่า ไม่เข้าข่าย และกระแสของบิ๊กตู่ พรรคพลังประชารัฐ ยังพอฟื้นคะแนนได้ มีสว. 250 โหวตเป็นนายกฯได้อีก 4 ปี แปลว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะสามารถลากยาวนั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศได้ไปจนถึงปี 2570

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การเมือง และกระแสเปลี่ยนทุกวัน คำอธิบายของวิษณุวันนั้น อาจใช้ไม่ได้กับสถานการณ์ในอนาคตก็ได้

4 ปัจจัยที่กล่าวมา คือ สัญญาณความไม่ต่อเนื่องจากปรากฏการณ์ขาลง ขณะที่อุบัติเหตุการเมืองก็อาจเกิดขึ้นได้ตลอด ถ้ากระแสของ "บิ๊กตู่" ตกฮวบอีกในปีหน้า ทั้งความเบื่อของชาวบ้าน และยังยื้ออยู่ถึง ส.ค. 2565 ศาลรธน.เกิดตีความห้ามเป็นนายกฯ และต้องตกเก้าอี้ เกมอำนาจเปลี่ยนไปอยู่ในมือ "บิ๊กป้อม" ในฐานะรองนายกฯอันดับ 1 และหัวหน้าพรรคพปชร. ผู้มากบารมี วันนั้น ร.อ.ธรรมนัส ก็อาจกลับมาเป็นใหญ่อีกครั้ง

ทั้งหมดจึงอยู่ที่ "บิ๊กตู่" จะเป็นผู้กำหนดอนาคตนเองว่าจะพอ หรือ ขอต่อเวลาอีก....ไม่นาน

***************