posttoday

แนวโน้มติดโควิดยังพุ่งต่อเนื่อง สธ.ชงมาตรการสกัดระบาดให้ศบค.ชุดใหญ่เคาะ16เม.ย.นี้

15 เมษายน 2564

สธ.เผยแนวโน้มยังพบผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มอย่างต่อเนื่อง แนะหลังสงกรานต์ควร Work from Home ลดการกระจายเชื้อในสถานที่ทำงาน พร้อมชงมาตรการสกัดการระบาดในแต่ละพื้นที่ให้ศบค.ชุดใหญ่พิจารณา 16 เม.ย.นี้

เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 64 นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ข้อมูลการระบาดของไวรัสโควิด-19 เฉพาะรอบใหม่ในเดือนเม.ย.64 นี้ มีผู้ป่วยสะสม 7,074 ราย อยู่ในระหว่างการรักษาตัวและรักษาหายแล้ว 98.58% ส่วนอัตราผู้เสียชีวิต 3 ราย คิดเป็น 0.03% ในขณะที่การระบาดระลอกปลายปี 63 (15 ธ.ค.63 - 31 มี.ค.64) มีจำนวนผู้ป่วย 24,626 ราย รักษาหายแล้ว 99.86% เสียชีวิต 34 ราย คิดเป็น 0.14%

"แม้โควิดจะเป็นโรคติดต่ออันตรายในภาวะฉุกเฉินนี้ แต่มาตรฐานการดูแลของระบบสาธารณสุขนั้นทำให้เกือบ 100% รักษาหาย และอัตราการเสียชีวิตต่ำมาก" นพ.เฉวตสรรกล่าว

ขณะที่ กลุ่มเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการระบาดรอบใหม่นี้เป็นวัยทำงาน และเชื่อมโยงกับสถานบันเทิงทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ ด้วย โดยล่าสุดมีรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศรวมแล้ว 75 จังหวัด ยังเหลือเพียง 2 จังหวัด คือ ระนอง และสตูล ที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า แนวโน้มยังพบการรายงานผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สัมผัสภายในครอบครัวและผู้สัมผัสใกล้ชิดอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับผู้ติดเชื้อที่มาจากการรวมกลุ่มกันของคนจำนวนมาก เช่น สถานบันเทิง งานเลี้ยงสังสรรค์ การประชุมสัมมนา หรือการออกค่ายของนักศึกษา เป็นต้น ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดที่จะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ มาตรการที่ควรปฏิบัติคือการให้ทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) เพราะหากยังมีการไปพบปะกันในสถานที่ทำงาน จะยิ่งมีโอกาสเสี่ยงในการกระจายเชื้อต่อกันได้ รวมทั้งต้องมีการติดตามดูแลผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้กักตัวครบตามกำหนด 14 วันด้วย

นพ.เฉวตสรร ยังกล่าวถึงกระแสข่าวการล็อกดาวน์ หลังพบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในประเทศเพิ่มขึ้นระดับหลักพันคนต่อวันว่า กระทรวงสาธารณสุขมีการประชุมศูนย์ปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉินระดับกระทรวงทุกเช้า ซึ่งได้ประเมินสถานการณ์เป็นรายวัน และเมื่อเห็นแนวโน้มการติดเชื้อที่เพิ่มสูงมากขึ้น ก็จะมีการเสนอมาตรการจากผู้เชี่ยวชาญ โดยเป็นมาตรการหนัก-เบา ไปตามแต่ละพื้นที่ที่มีสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งในรายละเอียดจะได้นำเข้าสู่การพิจารณาของกรรมการวิชาการ ในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติวันนี้ ก่อนจะนำมติที่ได้ไปเสนอต่อที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันที่ 16 เม.ย.ต่อไป