posttoday

ศึกซักฟอก ตีนวดทุกพรรค เขย่าบัลลังก์3 ป. เกมยาวเก็บแต้มเลือกตั้ง

30 มกราคม 2564

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

************

ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ซึ่งจะมีขึ้นในเดือน ก.พ. เป็นการพิสูจน์การทำหน้าที่ของฝ่ายค้านและลบข้อครหาเดิมที่ติดมากับศึกซักฟอกหนก่อนเมื่อเดือน ก.พ.ปีที่แล้วช่วงเดียวกันว่าฝ่ายค้าน ไม่สมราคา ซูเอี๋ยกับรัฐบาล เกิดปัญหาความเป็นเอกภาพภายในทีมฝ่ายค้าน หลังจากพรรคก้าวไกลออกมาแฉว่า พรรคเพื่อไทยมีดีลลับกับพี่ใหญ่คสช. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทำให้หลุดรอดจากการถูกอภิปรายทั้งที่มีการยื่นญัตติไว้แล้ว

ครั้งนี้ฝ่ายค้าน ยื่นญัตติรายบุคคล รวม 10 คน ข้อแตกต่างจากครั้งที่แล้ว คือ จำนวนรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายมากกว่าก่อนคือ 10 คน จาก 6 คน รอบนี้เป็นครั้งแรกที่บรรดาหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลหลักถูกยื่นอภิปราย ไม่ว่า อนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ รองนายกรัฐมนตรี

นอกจากหัวหน้าพรรคหลักแล้ว รัฐมนตรีที่ถูกยื่นอภิปรายเหลือยังกระจายทั้ง 3 พรรคหลักของรัฐบาลด้วย ไม่ว่าจะเป็น ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม จากพรรคภูมิใจไทย นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย จากพรรคประชาธิปัตย์ นายณัฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ จากพรรคพลังประชารัฐ

เหตุที่เลือกอภิปรายกระจายทุกพรรคต่างจากครั้งก่อนที่นวด “บิ๊กตู่” และเน้นเฉพาะรมต.จากพรรคพลังประชารัฐ เพราะครั้งนี้ฝายค้านคงไม่ได้หวังน็อครัฐบาล หรือ เกิดการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง เพราะรัฐบาลบิ๊กตู่ได้ล็อคทุกประตู ไว้แล้วมีแนวโน้มอยู่ครบเทอมแน่ ถ้าไม่พลาดพลั้งไปเอง เพราะนี่ผ่านไป 1 ปี ครึ่งของรัฐบาล เหลือวาระในสภาอีก 2 ปีครึ่ง เครื่องมือที่ทำให้รัฐบาลอยู่ครบวาระ คือ กระบวนการจัดทำร่างรธน.ฉบับใหม่ ที่ต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปีเศษพอดีจากนี้ ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดตั้ง สสร. การเลือกตั้ง สสร. กระบวนการยกร่าง รธน. การทำประชามติ ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านก็พร้อมใจ รอการจัดทำร่างรธน.ฉบับใหม่เสร็จเพื่อรอเลือกตั้งภายใต้กติกาที่ประชาชนทั้งประเทศเห็นชอบ ศึกซักฟอกหนนี้จึงเป็นการใช้สิทธิ์ 1 ปีมีครั้ง ให้คุ้มค่าด้วย ยุทธวิธี นวดเก็บแต้มให้สังคมเห็นความล้มเหลวของรัฐบาลไปเรื่อยๆ เหมือนมวยต่อย 12 ยกกันยาวๆ รอกรรมการตัดสิน

แต่มุมกลับ การยื่นอภิปราย หัวหน้าพรรคทั้งหลายจะยิ่งทำให้พรรครัฐบาลกอดคอกันเหนียวแน่น มีความสามัคคีในการลงมติไว้วางใจกันรัฐมนตรีต่างพรรค ไม่มีใครกล้าแตกแถว

อย่างที่บอก ผลของการอภิปราย คงไม่ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลสั่นคลอน เพราะมีเสียงสนับสนุน 270 เสียงจากในสภา 487 เสียง (เสียงกึ่งหนึ่ง 245 เสียง) มั่นคงเพียงพอและเป็นไปตามแผนที่ประกาศไว้เมื่อปีที่แล้ว เพราะไปดูด สส.ฝ่ายค้าน

เนื้อหาการอภิปรายครั้งนี้เชื่อว่า จะเน้นปัญหาการแพร่ระบาดโควิดที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังไม่หยุด ต้นเหตุมาจากความไร้ประสิทธิภาพรัฐบาล จนทำให้ประชาชนยากลำบากทุกหย่อมหญ้า จะเขย่าความเชื่อมั่นประชาชนที่มีต่อรัฐบาลประยุทธ์ ได้แค่ไหน อยู่ที่หลักฐานที่ต้องหนักแน่นชัดเจนไม่ใช่ข้อมูลที่พูดกันในโลกออนไลน์ และต้องมากกว่าการซักฟอกครั้งก่อน

โดยเฉพาะ ข้อกล่าวหาฉกาจฉกรรจ์ เรื่องการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบโครงการขนาดใหญ่ทั้งหลายที่โยงไปยังนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม พรรคภูมิใจไทย ที่ถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษว่า มีการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนผูกขาดเหล่านี้มีหลักฐานมากน้อยแค่ไหน

ทว่า ประเด็นที่สังคมสนใจ คือ การแก้ปัญหาโควิดของรัฐบาลที่บกพร่อง จนเกิดการระบาดรอบสอง กระทั่งยอดผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลง ซึ่งมาจากปัญหาทุจริตของเจ้าหน้าที่ใกล้ตัวผู้มีอำนาจ เกี่ยวกับกับขบวนการขนแรงงานต่างด้าวประเทศเพื่อนบ้านผิดกฎหมาย และ การเปิดบ่อนการพนัน ที่เป็นต้นเหตุการระบาด กระทบของประชาชนทั่วประเทศ โยงไปที่การบริหารราชการแผ่นดินของ “บิ๊กตู่”

ดังคำบรรยายในญัตติอภิปรายฯระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไร้ประสิทธิภาพ บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง ไร้ประสิทธิภาพ ไร้ภูมิปัญญา ไร้ความสามารถ ไร้คุณธรรม จริยธรรม ไร้ภาวะผู้นำ ยังปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตเพื่อสร้างความมั่นคั่งให้กับตนเองและพวกพ้อง ขณะที่ประชาชนดำรงชีวิตอย่างลำบากในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งยิ่งทำให้สภาพเศรษฐกิจดิ่งเหว

คำถาม คือ ฝ่ายค้านจะมีความสามารถ หาหลักฐาน ใบเสร็จมาโยงได้หรือไม่ จะกล้ากระชากหน้ากากขบวนการค้าแรงงานต่างด้าวเถื่อน และบ่อนการพนันโยงใยกับผู้มีอำนาจในรัฐบาลได้หรือไม่ ฝ่ายค้านพรรคเพื่อไทย มีเส้นสาย วงในตำรวจมากมาย หากจะอภิปราย ไม่ควรชี้ให้เห็นแค่ความล้มเหลวอย่างเดียว มากกว่านั้น ต้องพิสูจน์ด้วย หลักฐาน เชื่อว่า ถ้าฝ่ายค้านหาข้อมูลจริงๆ คงไม่ยาก มิฉะนั้นจะเข้าทำนองเล่นละครตบตา

ในส่วนรัฐบาลเห็นได้ชัดถึงความล่าช้า ไม่จริงจังในการแก้ปัญหาจนถึงวันนี้ยังไม่กล้าจัดการกับตำรวจนอกรีต ฟันไปยัง ไอ้โม่งที่อยู่เบื้องหลังบ่อนการพนันในภาคตะวันออก ได้แต่ตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาบ่อนและแรงงานต่างด้าว มาซื้อเวลา

ทว่า อีกด้าน ที่น่าสนใจของการอภิปรายที่จะเกิดขึ้น ภาพการชิงการนำระหว่างฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่า ทั้งสองพรรคทำงาน ขบเหลี่ยมกัน ทับซ้อนทั้ง พื้นที่เลือกตั้งและคะแนนนิยมในก้อนเดียวกัน

พรรคเพื่อไทยเพลี่ยงพล้ำไปมากถูกกลุ่มธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ชิงการนำม็อบคนรุ่นใหม่ในนาม คณะราษฎร และการอภิปรายในสภา พรรคเพื่อไทยดูเป็นรองด้านข้อมูลและท่วงทำนองการอภิปรายเมื่อเทียบกับพรรคก้าวไกล แต่พรรคเพื่อไทยเพิ่งผ่าตัดพรรคเปลี่ยนคณะผู้บริหารชุดใหม่กลับมาใช้บริการทีมกุนซือ สมัยยุครุ่งเรืองในพรรคไทยรักไทย จึงเป็นโอกาสที่จะเรียกความนิยมในการทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลกลับคืนมา อย่าลืมว่า ศึกนี้ เพราะจะมีการเลือกตั้งผู้ว่ากทม. และการเลือกตั้งท้องถิ่นอีกหลายระดับที่รออยู่เป็นเดิมพันคาดว่าปลายปีนี้ที่สองพรรคเองก็ต้องมาแข่งตัดคะแนนกันเอง

อย่าลืมว่าวันนี้การเมืองนอกสภา ไปไกลกว่าการเมืองในสภามาก ถ้าอภิปรายไม่สมราคา ฝ่ายค้านเองก็มีราคาที่ต้องจ่าย แต่หากฝ่ายค้านชี้ใช้เวทีซักฟอกชี้ให้ประชาชนเห็น ถึงการบริหารที่ผิดพลาด ความไม่โปร่งใสของรัฐบาลจากวิกฤตโควิด ทำให้ประชาชนต้องมารับภาระเกินกว่าปกติ รัฐบาลก็ยิ่งอยู่ยาก ซ้ำจากปัญหาความเบื่อหน่ายรัฐบาล และตัวพล.อ.ประยุทธ์ ที่อยู่ในตำแหน่งมานานตั้งแต่ คสช. วิกฤตเศรษฐกิจ ความไม่เป็นธรรมในการเยียวยา การใช้จ่ายเงินกู้หากมีพวกพ้องได้ประโยชน์ ล้วนเป็นระเบิดเวลาที่รอรัฐบาลอยู่ผสมกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง

********************