posttoday

ภูเก็ตเตรียมพร้อมทุกฝ่ายต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 11 กลุ่ม

28 กันยายน 2563

ภูเก็ต-คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ตจัดประชุมเตรียมความพร้อมทุกฝ่ายต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 11 กลุ่มในสถานการณ์โควิด-19 พร้อมซักซ้อมทำความเข้าใจในสถานการณ์จริง

เมื่อวันที่ 28 กันยายน นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 51/2563 มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมฯ ณ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต

นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ได้พิจารณาการเตรียมความพร้อมการรับผู้เดินทาง Special Tourist Visa (STV) ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำเสนอต่อการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 กันยายน ซึ่งคณะรัฐมนตรึมีมติเห็นชอบในหลักการ จังหวัดภูเก็ตพยายามประเมินโรงแรม ALQ ให้มีความพร้อม ต้องใช้เวลา เพราะว่า โรงแรมต้องปรับปรุงระบบตัวอาคาร แยกส่วนกับการพักกับแขกปกติทั่วไป ความพร้อมจึงต้องเป็นไปตามเกณฑ์รวมทั้งทำข้อตกลงกับโรงพยาบาล มาตรการรักษาความปลอดภัย อบรมบุคลากรให้เข้าใจ วิธีการต่างๆที่ถูกต้อง สามารถรองรับ 11 กลุ่มที่ศบค.ให้เข้ามาได้ เช่น กงสุล สถานทูต ทูต ผู้ที่มีสามีภรรยาเป็นคนไทยอยู่แล้ว หรืออยากเข้ามาศึกษาต่อที่เมืองไทย เป็นต้น

ภูเก็ตเตรียมพร้อมทุกฝ่ายต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 11 กลุ่ม

ทั้งนี้ ในจำนวน 11 กลุ่มดังกล่าวตอนนี้เข้ามาบ้างแต่นานๆครั้ง โดยให้ท่าอากาศยานภูเก็ต ดำเนินการรวบรวมข้อมูลตัวเลขจำนวนผู้เดินทางเข้ามาตั้งแต่ 31 กรกฎาคม 2563 ในจำนวนที่เข้ามามีผู้ติดเชื้อบ้างหรือไม่ ซึ่งจะได้มีการยืนยันข้อมูลต่อคนภูเก็ตที่มีความกังวล ทำเพื่อความโปร่งใสไม่มีการปิดบัง สถานที่กักตัวALQ ในจังหวัดภูเก็ต ที่อนุมัติแล้ว 5 แห่ง จำนวนห้องพัก 537 ห้อง และล่าสุดที่ปรับปรุงแล้ว 4 แห่ง 528 ห้อง ถ้ารวมส่วนกลางที่เประเมินไว้ก่อนนี้ จะมีห้องพักทั้งหมด 1,222ห้อง ส่วนเป้าหมายของจังหวัดต้องมีห้องพักรองรับ ประมาณ 5,000 ห้อง

นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า การเดินทางเข้ามาจังหวัดภูเก็ตของนักท่องเที่ยวต่างชาติ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ตได้พิจารณาโดยละเอียด ในประเด็นที่เข้ามาแล้วมีกระบวนการรับนักท่องเที่ยวอย่างไรบ้าง ที่สำคัญ คือ ทาง ศบค.ส่วนกลางได้พิจารณาอนุญาตให้เข้ามาก่อน อาจจะเป็นกลุ่มที่เข้ามาพักระยะยาว Long Term Stay กลุ่มที่มีบ้านหลังที่ 2 อยู่ที่ภูเก็ต และสามารถเดินทางเข้ามาภายใต้การจัดการของบริษัทไทยแลนด์ลองสเตย์ จำกัด

"เรามีเงื่อนไขเพิ่มเติมว่า กลุ่มที่เข้ามาอันดับแรก เมื่อเข้ามาแล้วจะต้องตรวจหาเชื้อที่สนามบิน ซึ่งการตรวจหาเชื้อ ทางกรมควบคุมโรคติดต่อได้ติดตั้งเครื่องตรวจหาเชื้อประจำที่สนามบินจำนวน 2 ชุด สามารถรองรับได้ประมาณ 96 คน ต่อวัน ทดสอบระบบในวันนี้ (28ก.ย.) และ ในวันที่ 2 ตุลาคมนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะเข้าประเมินรับรองห้อง LAB ตรวจเชื้อโควิด-19 ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต " นายพิเชษฐ์ กล่าวและว่า

สำหรับ การประชุมฯครั้งนี้มีมติคือ เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาถึงอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานภูเก็ต หลังจากผ่านกระบวนการพิธีการทางตรวจคนเข้าเมืองศุลกากรแล้ว ต้องให้เจ้าหน้าที่ของโรงแรมที่กักตัวนำไปยังอาคารเอ็กซ์เทอมินอล ตั้งอยู่ภายในบริเวณท่าอากาศยานภูเก็ต เพื่อตรวจหาเชื้อและเก็บสิ่งส่งตรวจ ก่อนจะเดินทางไปกักตัวที่ ALQ เมื่อผู้เดินทางหรือนักท่องเที่ยวไปถึงสถานที่กักตัว ALQ ให้ติดตั้งแอพพลิเคชั่น AOT ของสนามบินภูเก็ต และแอพพลิเคชั่น TESTING สำหรับติดตามตัวให้ติดตั้งภายในวันแรกที่เข้ามา หลังจากไปถึงที่กักตัว ภายใต้การกำกับของเจ้าหน้าที่โรงแรมและตำรวจ

ภูเก็ตเตรียมพร้อมทุกฝ่ายต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 11 กลุ่ม

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ผ่านการกักตัว ALQ เป็นเวลา 14 วันแล้วให้ผู้ที่เป็นนักท่องเที่ยว ย้ายไปพักที่อื่นที่ไม่ใช่ ALQ อาจจะเป็นคอนโดมิเนียมที่เขาซื้อไว้ หรือโรงแรมอื่นในจังหวัดภูเก็ต เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ ให้เป็นประโยชน์กับคนในภูเก็ต

"จังหวัดภูเก็ตต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ เมื่อติดเชื้อเกิดการแพร่ระบาดขึ้น จะต้องแก้ไขปัญหาให้ทันท่วงที คือ ในส่วนของภาคราชการที่จังหวัดออกคำสั่งให้ดูแลกระบวนการกักตัวของนักท่องเที่ยวมีอยู่แล้ว ส่วนมากเป็นฝ่ายความมั่นคง หากมีการหนีเที่ยวหรือออกจากห้องพักไป ทางตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต มีการติดตั้งอุปกรณ์สำหรับส่งสัญญาณกรณีหากมีการเปิดประตูจะส่งสัญญาณไปที่ผู้ควบคุมดูแลโรงแรมจากนั้นส่งสัญญาณไปยังศูนย์ควบคุมตำรวจภูธรจังหวัด ที่ตั้งศูนย์ไว้ ส่วนศูนย์ควบคุมของโรงแรม มีจอซีซีทีวี สามารถมองเห็นประตูทุกห้องหากมีการออกไป จะบันทึกไว้จึงสามารถตรวจสอบได้ว่าผู้เข้าพักแต่ละห้องเป็นใครออกไปไหน จะหาตัวคนที่กระทำผิดได้ทันที ดำเนินคดีได้ทันทีถ้าผู้เข้ากักตัวไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของการปฏิบัติการกักตัวของทางราชการ " นายพิเชษฐ์ กล่าว และว่า

นอกจากนั้น หากมีเหตุสุดวิสัยเกิดขึ้น จะมีคณะกรรมการกำกับดูแล อาทิ จุดที่เป็นสาธารณะ ท่าเรือ ท่ารถ ท่าอากาศยาน จะมีศูนย์ EOC รับเรื่องราวประจำศูนย์อยู่แล้ว สามารถแจ้งไดัทันที เพื่อส่งตรวจหาเชื้อ ให้ชัดเจนว่า เป็นคนที่มีเชื้ออยู่ในร่างกายหรือไม่ ถ้ามีเชื้อต้องส่งโรงพยาบาล ถ้าไม่มีเชื้อนำไปกักตัวและลงโทษ ถ้าพบว่าไม่มีเชื้อต้องค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดนำกักตัวจนครบ 14 วันเพื่อให้ปลอดภัย ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวต้องพร้อมค้นหาตัวคนที่หลบหนีออกไป สำหรับแผนปฏิบัติการดังกล่าวทางจังหวัดไดัมีการซักซ้อมตั้งแต่มีการแพร่ระบาดจนกระทั่งไม่มีการพบเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดภูเก็ต