posttoday

"เบนซ์ เรซซิ่ง"ขอปลดEMจริง ศาลอนุญาตปี62

25 มิถุนายน 2563

"เบนซ์ เรซซิ่ง" ขอศาลปลด EM จริง ศาลเห็นความจำเป็นอนุญาตปลดเมื่อปี 62 แต่เจ้าตัวเบี้ยวนัดรายงานตัวครั้งล่าสุด ส่อผิดเงื่อนไข ลุ้นผลพิจารณา

กรณีนายอัครกิตติ์ วรโรจน์เจริญเดช หรือ เบนซ์ เรซซิ่ง ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ทุ่งสองห้อง จับกุมข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย ขณะใส่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ หรือ กำไล EM ที่ข้อเท้า โดยภายหลังนายอัครกิตติ์ ได้ชี้แจงผ่านสื่อว่าได้รับการอนุญาตจากศาลให้ถอดกำไล EM แล้ว

ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ พบว่า ก่อนเกิดเหตุ วันนี้นายอัครกิตติ์ซึ่งเคยได้รับการประกันตัวคดีฟอกเงินที่ศาลอาญาพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 8 ปี (เมื่อปี 2561) และได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดีด้วยหลักทรัพย์ 1 ล้านบาทพร้อมการติดกำไลข้อเท้า EM ด้วยความสมัครใจและกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล ได้ยื่นคำร้องขอปลดกำไลข้อเท้า EM ต่อศาลเมื่อวันที่ 22 พ.ย.62 โดยให้เหตุผลว่าการติดอุปกรณ์ส่งผลต่อกาจใช้ชีวิตตามปกติ เพราะต้องทำงานด้านแข่งรถที่ถือเป็นอาชีพหนึ่งซึ่งได้รับค่าตอบแทนจากค่ายรถ โดยกำไล EM เป็นอุปสรรคในการใส่ชุดแข่งที่ออกแบบเพื่อความปลอดภัยโดยเฉพาะ อีกทั้งการสวมกำไลฯ ทำให้มีอาการเจ็บบริเวณข้อเท้าจากการกดทับที่เป็นระยะเวลานาน

รวมทั้งพบว่าตัวเครื่องมีปัญหาเกิดขึ้นบ่อยครั้งเรื่องชาร์จไฟแบตเตอรี่ ประกอบกับต้องเดินทางออกต่างจังหวัด บางครั้งก็เดินทางนานติดต่อกันหลายอาทิตย์ แต่ด้วยกฎข้อบังคับทำให้ไม่สามารถเดินทางด้วยเครื่องบินได้ซึ่งการเดินทางด้วยเครื่องบินช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางตลอดปีจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็ต้องเดินทางศึกษากฎหมายเพิ่มเติมที่ ม.รามคำแหงด้วย ส่วนหลักประกันที่ใช้เป็นหลักทรัพย์มีมูลค่ามากกว่าวงเงินประกันของศาลที่ตีราคาพอสมควรกับมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งจึงขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาต

โดยในวันเดียวกัน (22 พ.ย.62) ศาลได้พิจารณาคำร้องแล้ว เห็นว่า นายอัครกิตติ์ ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และหลักประกันมีมูลค่าเพียงพอที่จะบังคับคดีหากเกิดกรณีผิดสัญญาประกัน จึงอนุญาตให้ปลดกำไล EM โดยให้จำเลยรายงานตัวต่อศาลทุก 2 เดือนแทน

อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ (24มิ.ย.) ปรากฏว่าได้ครบกำหนดการรายงานตัวครั้งล่าสุดตามคำสั่งศาล แต่นายอัครกิตติ์ ไม่ได้มาตามนัด วันนี้ (25มิ.ย.) ทนายความเพิ่งได้มายื่นคำร้องต่อศาลขอเลื่อนนัดการรายงานตัว แต่ขณะนี้ยังไม่ปรากฎว่าศาลมีคำสั่งเรื่องการขอเลื่อนนัดรายงานตัวอย่างไรบ้าง ซึ่งจะต้องติดตามคำสั่งอีกครั้งว่ากรณีดังกล่าวจะเข้าข่ายการผิดเงื่อนไขประกันตัวหรือไม่