posttoday

สรุปแถลงการณ์ 25 หน้า ผู้พิพากษายิงตัวเอง

05 ตุลาคม 2562

เฟซบุ๊ก Poetry of Bitch โพสต์ข้อความ สรุปแถลงการณ์ 25 หน้า ของ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นศาลจังหวัดยะลา ที่ก่อเหตุยิงตัวเอง

เฟซบุ๊ก Poetry of Bitch โพสต์ข้อความ สรุปแถลงการณ์ 25 หน้า ของ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นศาลจังหวัดยะลา ที่ก่อเหตุยิงตัวเอง

เมื่อวันที่ 5 ตค. เพจเฟซบุ๊ก Poetry of Bitch โพสต์ข้อความ สรุปแถลงการณ์ 25 หน้า ของ “นายคณากร เพียรชนะ” ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นศาลจังหวัดยะลา

รายละเอียดคดีที่นายคณากรรับผิดชอบ

ชื่อคดี: ความผิดต่อชีวิต อั้งยี่ ซ่องโจร ความผิดต่อ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ลหุโทษ

จำเลย: มี 5 คน เป็นผู้ชายทั้งหมด

คดีโดยสังเขป:
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1, 3 และ 4 ร่วมกันฆ่าคน 5 คน โดยใช้อาวุธปืนหลายชนิดยิง โดยมีจำเลยที่ 2 และ 5 เป็นผู้สนับสนุน

ลักษณะคดี: คดีนี้เป็นคดีอุกฉกรรจ์ แต่ไม่ใช่คดีความมั่นคงหรือก่อการร้าย

—————
สรุปเนื้อหาแถลงการณ์
:
1- คดีนี้เดิมทีนัดอ่านคำพิพากษา 19 ส.ค. 62 แต่เนื่องจากเป็นคดีสำคัญจึงต้องรายงานคำพิพากษาให้ “อธิบดีผู้พิพากษาภาค 9” ทราบก่อน

2- ตนได้ส่งร่างคำพิพากษาพร้อมสำนวนให้สำนักงานอธิบดีฯ ตามระเบียบ โดยคำพิพากษาของตนคือ “ยกฟ้อง ปล่อยจำเลยทั้งห้าไป”

3- จากนั้นมีบันทึกกลับมาว่าไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของตน และมีหนังสือประทับตรา “ลับ” ส่งกลับมาให้แก้คำพิพากษาใหม่ตามคำสั่งอธิบดี

4- คำพิพากษาที่อธิบดีต้องการ คือ
- สั่งประหารชีวิตจำเลยที่ 1, 3 และ 4
- จำคุกจำเลยที่ 2 และ 5 ตลอดชีวิต
.
ถ้าไม่ทำตามคำสั่งให้ทำบันทึกชี้แจง แล้วจะได้ดำเนินการต่อไป

5- ตามหลักกฎหมาย หากอธิบดีไม่เห็นด้วยกับร่างคำพิพากษาก็ต้องทำความเห็นแย้งติดสำนวนมา แต่อธิบดีไม่ยอมทำตามกระบวนการ กลับใช้วิธีออกคำสั่งผ่านหนังสือลับ

6- ตนไม่ทราบว่า ความหมายของคำว่า “ถ้าไม่ทำตามจะดำเนินการต่อไป” คืออะไร ในเมื่ออธิบดีดำเนินการอย่างผิดกฎหมาย แล้วจะเอาอำนาจที่ไหนมาลงโทษตน

7- หากตนแก้คำพิพากษาตามคำสั่งอธิบดีแล้ว ตนและองค์คณะก็จะมีตราบาปในชีวิต

8- หนังสือลับบอกว่า ถ้าตนไม่ทำตามคำสั่งก็ให้ทำบันทึกชี้แจง ซึ่งตนไม่ทำ เพราะคำพิพากษาเขียนอย่างละเอียด ครบถ้วน เป็นเหตุเป็นผลในตัวมันเองแล้ว

9- ดังนั้น แทนที่จะเขียนบันทึกชี้แจงอธิบดี ตนจึงเลือกที่จะเขียนแถลงการณ์ชี้แจงมายังคนไทยที่รักความยุติธรรมให้ได้ทราบความจริงแทน

10- เหตุผลที่ตนพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งห้า เพราะพยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะเอาผิดจำเลยได้

11- ตนไม่ได้บอกว่าจำเลยทั้งห้าไม่ใช่คนร้าย แต่ต้องทำให้ถูกต้องตามกระบวนการยุติธรรม คือตัดสินไปตามพยานหลักฐาน

12- โดยปกติแล้วในคดีความมั่นคงหรือก่อการร้าย กฎอัยการศึกอนุญาตให้คุมตัวผู้ต้องหาได้ 7 วัน และขยายเวลาได้ครั้งละ 7 วัน รวมแล้วไม่เกิน 30 วัน แต่ตำรวจกลับนำกฎนี้มาใช้กับคดีนี้ซึ่งเป็นคดีฆาตกรรมทั่วไป

13- จากนั้นพบว่า พยานหลักฐานทั้งหมดของคดีนี้ “เกิดขึ้น” ในตอนที่จำเลยทั้งห้าถูกคุมตัว จึงถือเป็นพยานหลักฐานที่ไม่ควรรับฟัง

14- กฎหมายบัญญัติชัดเจนว่า อย่าพิพากษาลงโทษใคร จนกว่าจะแน่ใจว่าเขาทำความผิดจริง

15- ตนจะไม่ตัดสินด้วยอคติ
ไม่ตัดสินด้วยความรู้สึกส่วนตัว
ไม่ตัดสินตามคำสั่งใคร
ไม่ตัดสินเพราะอยากได้หน้า
ไม่ตัดสินเพราะอยากให้คนรู้ว่าเรามีอำนาจควบคุมผู้พิพากษาและคำพิพากษาได้

16- ในหนังสือลับยังระบุด้วยว่า ถ้าตนยกฟ้องก็ให้ขังจำเลยทั้งห้าไว้ระหว่างอุทธรณ์ ซึ่งตนไม่เห็นด้วย เพราะเมื่อข้อเท็จจริงในคดีรับฟังไม่ได้ว่าเขาทำความผิด แล้วจะขังเขาไว้ทำไม

17- จากนั้นนายคณากรได้วินิจฉัยการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของคดีนี้ ดังนี้...
:
- ในคืนเกิดเหตุ ตำรวจไม่ได้มาตรวจเก็บวัตถุพยานในทันที แต่มีอาสาสมัครกู้ภัยซึ่งไม่มีอำนาจหน้าที่เข้าไปเก็บปลอกกระสุน หัวกระสุน เอาไปให้ตำรวจที่โรงพยาบาล ถือเป็นการทำคดีที่ไม่รัดกุมและมีพิรุธ

- จากนั้นตำรวจได้ไปปิดล้อมจับกุมตัว “นายมะรอฟี” โดยตำรวจบอกไม่ได้ว่าทำไมจึงสงสัยนายมะรอฟี ซึ่งนายมะรอฟีก็สารภาพและซัดทอดจำเลยทั้ง 5 แต่กลับไม่ปรากฏชื่อนายมะรอฟีเป็นจำเลย

- หลักฐานชิ้นหนึ่งในคดี ก็คือโทรศัพท์มือถือที่ตำรวจอ้างว่านายมะรอฟีใช้ติดต่อกับจำเลยทั้ง 5 โดยตำรวจไปพบบริเวณเล้าไก่ แต่กลับตรวจไม่พบดีเอ็นเอของนายมะรอฟีที่โทรศัพท์ แล้วยังลงทะเบียนซิมการ์ดเป็นชื่อคนอื่นอีก

- นายมะรอฟีบอกว่าใช้ปืนหลายชนิดกระหน่ำยิงผู้เสียชีวิตทั้งห้า แต่กลับตรวจไม่พบกระสุนปืนชนิดที่นายมะรอฟีอ้าง

- ตำรวจอ้างว่าจำเลยที่ 2 และ 5 พาไปชี้ที่ซ่อนอาวุธปืน พบอาวุธปืนสั้น 9 มม. แต่กลับไม่ตรงกับอาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุ ที่ซ่อนปืนเป็นที่โล่งแจ้ง ใครก็สามารถเข้าถึงและเอาปืนไปวางได้ อีกทั้งตรวจไม่พบดีเอ็นเอของจำเลยที่อาวุธปืน

- ต่อมาจำเลยทั้งสองอ้างว่า ที่รับสารภาพเพราะถูกบังคับขู่เข็ญขณะถูกควบคุมตัว

18- การกระทำของอธิบดีเป็นการแทรกแซงอำนาจตุลาการและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่รู้ว่าทำแบบนี้มากี่ครั้งกี่หน กี่คดีแล้ว ลดตำแหน่งผู้พิพากษาให้เป็น “นิติบริกร” คอยรับใช้คำสั่งอธิบดี

19- และนี่ไม่ใช่ครั้งแรก ย้อนกลับไปในเดือน มี.ค. 62 ขณะตนรับราชการอยู่ที่ศาลจังหวัดปัตตานี ตนรับผิดชอบคดีทหาร 3 นายยิงชาวบ้านตาย ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลในขณะนั้นโน้มน้าวให้ตนตัดสินว่าทหารทำไปด้วยความจำเป็น แต่ตนไม่เห็นด้วย

20- ต่อมามีคำสั่งให้ตนไปพบอธิบดีที่สงขลาทันที ถ้าไม่ไปจะถูกย้าย เมื่อไปถึงอธิบดีได้สั่งให้ตนแก้ไขคำพิพากษาทำนองว่า “ทหารคาดว่าผู้ตายมีของผิดกฎหมาย เช่น ปืนหรือระเบิด แต่ผู้ตายไม่ยอมให้ตรวจค้น และทำร้ายเจ้าหน้าที่ ทั้งถีบและต่อย”

21- ความจริงในคดีนี้ก็คือ ผู้ตายนุ่งโสร่งขับมอเตอร์ไซค์มาเจอด่านลอยของทหารและมีปากเสียงกัน ผู้ตายขับรถหนี ทหาร 2 คนใช้ปืนยิงจากด้านหลัง กระสุนทะลุออกปาก และผลตรวจที่เกิดเหตุไม่พบปืนหรือระเบิดแต่อย่างใด เรื่องนี้ทหารไม่จำเป็นต้องฆ่าชาวบ้านเลย

22- ต่อมาอธิบดีสั่งให้ตนแก้คำพิพากษาลดโทษให้จำเลย โดยเขียนกำกับมาว่า “ให้เห็นใจเจ้าหน้าที่ด้วย” ในครั้งนั้นตนและองค์คณะเกิดความกลัวจึงยอมแก้ไขตามนั้น ทั้งที่ในใจคิดว่า “แล้วไม่เห็นใจผู้ตายและครอบครัวบ้างหรือ”

23- เหตุการณ์นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ผู้พิพากษาอีกหลายคนทั่วประเทศก็ถูกกระทำไม่ต่างจากตน และสิ่งที่ตนทำในวันนี้อาจทำให้ถูกตั้งกรรมการสอบ และคงถูกไล่ออกโดยไม่ได้รับเงินบำเหน็จ

24- จากนั้นนายคณากรได้เรียกร้อง 2 ข้อ คือ
:
- ให้ออกกฎหมายเพิ่มเติม ห้ามตรวจร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้โจทก์-จำเลยฟัง และห้ามแทรกแซงผลคำพิพากษา

- ให้ความเป็นธรรมทางการเงินแก่ผู้พิพากษาทั่วประเทศ เพราะทุกวันนี้ผู้พิพากษาถูกสั่งห้ามประกอบอาชีพอื่นเสริม เมื่อขาดความมั่นคงทางการเงินก็ทำให้ถูกชักจูงและเกิดการแทรกแซงได้ง่าย

25- นายคณากรทิ้งท้ายแถลงการณ์ว่า...
:
“คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา
คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”

และ

“คำแถลงของผม
อาจมีน้ำหนักเบาบางเหมือนขนนก
แต่หัวใจผู้พิพากษาหนักแน่นปานขุนเขา
จึงมอบหัวใจชั่งบนตราชูยืนยันคำแถลง
ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ทุกท่าน”

—————
อัพเดตเหตุการณ์หลังจากนั้น
:
26- วันที่ 4 ต.ค. เวลา 12.30 น. นายคณากรขึ้นบัลลังก์อ่านคำพิพากษา ตัดสินยกฟ้องจำเลยทั้งห้า

27- จากนั้นนายคณากรได้ใช้อาวุธปืนพกสั้นประจำตัว จ่อยิงหน้าอกด้านซ้ายของตัวเองจำนวน 1 นัด ในห้องพิจารณาของศาล

28- พบว่าก่อนขึ้นบัลลังก์ นายคณากรได้โพสต์แถลงการณ์ทั้ง 25 หน้า และโพสต์ว่าจะไลฟ์สดเพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบว่า อธิบดีแทรกแซงการพิพากษาคดี แต่ตนไม่ยอมทำตาม เชื่อว่าตนคงถูกไล่ออกโดยไม่ได้รับบำเหน็จ ใครต้องการเยียวยาให้ภรรยากับบุตรของตน สามารถบริจาคได้ที่...
:
ธนาคารออมสิน
เลขที่บัญชี 020152308985
ด.ญ.ขวัญชนก เพียรชนะ

29- ต่อมาโพสต์ทั้งหมดถูกลบไปในขณะที่นายคณากรอยู่ที่โรงพยาบาล

30- เวลา 15.27 น. ของวันเดียวกัน โฆษกศาลยุติธรรมแถลงว่า นายคณากรอาการปลอดภัยแล้ว สอบถามเบื้องต้นว่า “ยิงตัวเองเพราะความเครียดส่วนตัว”