posttoday

เขื่อนวชิราลงกรณเตือนเกษตรกรรับมือภัยแล้ง หลังเข้ากลางฤดูฝนมีน้ำเพียง51%

30 กรกฎาคม 2562

เขื่อนวชิราลงกรณเตือนเกษตรกรเตรียมรับมือภัยแล้ง หลังเข้าสู่ช่วงกลางฤดูฝน แต่มีน้ำในเขื่อนเพียง 51% สาเหตุจากฝนตกพื้นที่เหนือเขื่อนในปริมาณน้อยมาก

เขื่อนวชิราลงกรณเตือนเกษตรกรเตรียมรับมือภัยแล้ง หลังเข้าสู่ช่วงกลางฤดูฝน แต่มีน้ำในเขื่อนเพียง 51% สาเหตุจากฝนตกพื้นที่เหนือเขื่อนในปริมาณน้อยมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ ทั้งในพื้นที่ อ.ทองผาภูมิ และ อ.สังขละบุรี มีปริมาณน้ำน้อยที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา หลังจากพื้นที่เหนือเขื่อนต้องเผชิญปัญหาฝนทิ้งช่วง โดยพบว่า บ้านแพริมแม่น้ำรันตีจำนวนมาก บริเวณสะพานรันตี อยู่ในสภาพต้องเกยตื้นอยู่บนบก หลังระดับน้ำลดลง ซึ่งหากเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา ถ้าเป็นช่วงต้นเดือนสิงหาคมเช่นนี้ ภาพที่เห็นจะต้องเป็นภาพเรือแพที่ลอยอยู่กลางน้ำที่มีสีขุ่น เช่นเดียวกับระดับน้ำในแม่น้ำรันตีบริเวณนี้ ที่มีสภาพตื้นเขิน จนเด็กๆ สามารถลงไปยืนกลางน้ำได้ ซึ่ง อ.สังขละบุรี เป็นพื้นที่ที่มีป่าอุดมสมบูรณ์และมีแม่น้ำสำคัญ 3 สาย อันได้แก่ แม่น้ำซองกาเลีย บีคลี่ และรันตี ที่ทำหน้าที่คอยเติมน้ำลงในเขื่อนวชิราลงกรณ แต่ปีนี้กลับพบว่าในพื้นที่ต้นน้ำทั้ง 3 สาย มีปริมาณฝนน้อยมาก และเกิดปรากฎการณ์ฝนทิ้งช่วง ในเดือน กรกฎาคม ที่กำลังจะผ่านไป

ด้าน นายไววิทย์ แสงพานิชย์ ผู้อำนวยการเขื่อนวชิราลงกรณ เปิดเผยว่า วันนี้สถานการณ์น้ำในเขื่อนวชิราลงกรณ มีปริมาณน้ำที่กักเก็บเพียง 4,500 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 51% ซึ่งหากเทียบกับภาวะปกติของทุกปี เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมซึ่งถือเป็นช่วงกลางเดือนของฤดูฝนของที่นี่ปริมาณน้ำในเขื่อนจะอยู่ที่ประมาณ 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 70% ซึ่งปัญหาเกิดจากปริมาณฝนในพื้นที่เหนือเขื่อนทั้งในพื้นที่ อ.สังขละบุรี และบางส่วนของ อ.ทองผาภูมิ มีปริมาณน้อยมาก โดยมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนโดยเฉลี่ยเพียงวันละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่านั้น

หากเป็นภาวะปกติ ในแต่ละปีจะมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำของเขื่อนประมาณ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปีนี้ขณะนี้มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนฯ เพียง 800 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่านั้น ถือว่าน้อยมาก โดยปกติฤดูฝนในพื้นที่จะเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน – กันยายน หากเป็นเช่นนี้คาดว่าปี 2563 พื้นท้ายน้ำจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำ ซึ่งจะส่งผลต่อภาคการเกษตรและการผลักดันน้ำเค็มบริเวณปลายน้ำอย่างแน่นอน แต่ในส่วนของน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ไม่มีปัญหา

จึงฝากเตือนไปยังภาคการเกษตรที่ต้องใช้น้ำปริมาณมาก รวมไปถึงเกษตรกร ให้ติดตามข่าวสารของทางราชการ รวมทั้งควรปรับเปลี่ยนมาเพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยและมีอายุสั้น เพื่อลดผลกระทบและความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์น้ำดังกล่าว