posttoday

ชัยเกษมจี้อุตตมงัดหลักฐานโชว์ค้านคดีกรุงไทยปล่อยกู้

13 กรกฎาคม 2562

คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 จัดวงเสวนารุมชำแหละคดีกรุงไทยปล่อยกู้ ชัยเกษมจี้ "อุตตม" แสดงหลักฐานคัดค้านเพราะไม่เคยปรากฏในรายงานการประชุม

คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 จัดวงเสวนารุมชำแหละคดีกรุงไทยปล่อยกู้ ชัยเกษมจี้ "อุตตม" แสดงหลักฐานคัดค้านเพราะไม่เคยปรากฏในรายงานการประชุม
 
เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ห้องประชุมชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการจัดเวทีเสวนา “สภาที่สาม The Third Council Speak คดีอุตตม ใครถูก ใครผิด ประชาชนพิพากษา จัดโดยคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35
 
นายวันชัย บุนนาค ทนายความอิสระ กล่าวตอนหนึ่งว่า สืบเนื่องจากกลุ่มกฤษดามหานคร เป็นลูกหนี้รายใหญ่ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เมื่อปี 2537 – 2546 วงเงินต้นรวมดอกเบี้ย เป็นวงเงินหนี้กว่า 13,000 ล้านบาท กระทั่งปี 2546 หนี้ก้อนดังกล่าวเป็น NPL หรือ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ธนาคารกรุงไทยในฐานะธนาคารของรัฐ จึงมีหน้าที่เข้ามาแก้ปัญหาว่าทำอย่างไรให้กิจการดำเนินต่อไปได้ ทางกลุ่มกฤษดามหานคร จึงดำเนินการขอกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย โดยตั้งวัตถุประสงค์การกู้ 3 ข้อ คือ 1.เพื่อนำไปชำระหนี้ให้ธนาคารกรุงเทพ วงเงินกู้ 8,000 ล้านบาท 2.เพื่อซื้อที่ดินเพิ่ม 500 ล้านบาท และ3.เพื่อพัฒนาสาธารณูปโภค 1,400 ล้านบาท รวม 9,900 ล้านบาท ซึ่งในวันที่ 9 ธ.ค.2546 เงินกู้ดังกล่าวได้รับการอนุมัติ โดยมติคณะกรรมการบริหารพิจารณาสินเชื่อในยุคนั้น ซึ่งมีนายอุตตม สาวนายก รมว.คลัง เป็นหนึ่งในกรรมการชุดนั้นด้วย ต่อมาวันที่ 17 ธ.ค.2546 เป็นการรับรองรายงานประชุมเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2546 ถัดมาเพียง 1 วัน คือวันที่ 18 ธ.ค.2546 มีการเบิกเงินกู้วงเงินชำระหนี้ที่ธนาคารกรุงไทย สาขาปิ่นเกล้า โดยแยกเป็นเช็ค 11 ฉบับ ให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร และนำไปชำระคืนธนาคารกรุงเทพ เพียง 4,500 ล้านบาท ที่เหลือ 3,500 ล้านบาท นำไปใช้อย่างอื่นจึงไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ในการขอกู้
 
จากนั้น 1 เดือน มีการประชุมติดตามผลของลูกหนี้รายใหญ่ ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่า นายอุตตม ไม่ได้แสดงท่าทีในการรักษาผลประโยชน์ของรัฐแต่อย่างใด อีกทั้งยังเคยยอมรับในที่ประชุมว่าลูกหนี้ปฏิบัติตามเงื่อนไข จึงอยากตั้งคำถามถึงนายอุตตม ในฐานะที่อดีตเป็นหนึ่งในกรรมการที่อนุมัติการปล่อยกู้ดังกล่าว ว่าตั้งแต่มีการอนุมัติวงเงินชำระหนี้ เคยแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการปล่อยกู้เมื่อไหร่บ้าง
 
ขณะที่นายชัยเกษม นิติสิริ อดีตอัยการสูงสุด กล่าวว่า การประชุมเรื่องการปล่อยกู้ดังกล่าวมีการประชุม 3 ครั้ง แม้ว่านายอุตตม จะไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย 1 ครั้ง แต่ก็ไม่เคยมีการปรากฎว่านายอุตตม ได้แสดงความเห็นคัดค้าน และแม้ว่านายอุตตม ไม่ได้เข้าประชุม แต่ต้องรู้รายละเอียดการประชุมจากรายงานการประชุม ทั้งนี้ ภายหลังแม้มีการชี้แจงต่อธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ก็เป็นชี้แจงในช่วงที่มีการปฏิวัติ จึงหาความถูกต้องเป็นธรรมได้ยาก เพราะเป็นกลุ่มบุคคลที่อยู่ในอำนาจเหนือกลุ่มบุคคลใดในประเทศ
 
“นายอุตตม ไม่ได้แสดงความคัดค้านใดๆเลย และรายงานการประชุมก็ถูกรับรองโดยกรรมการทุกคนโดยไม่มีบันทึกว่ามีการคัดค้าน นายอุตตม ก็ต้องหามาให้ได้ว่ามีหลักฐานอะไรที่ท่านไม่เห็นด้วย การที่ไปพูดที่ไหนก็ตามว่าไม่เห็นด้วย ใครก็พูดได้ เพราะเป็นการพูดภายหลัง” นายชัยเกษม กล่าว
 
ส่วนกรณีที่นายอุตตมไปเป็นพยาน และให้การในศาลว่าไม่เห็นด้วยนั้น การกันเป็นพยานไม่ได้มีอยู่ในกฎหมาย แต่เป็นเทคนิคในการสอบสวนเพื่อหาคนผิดมาลงโทษด้วยการกันคนที่ผิดน้อยที่สุดมาเป็นพยาน เพื่อเอาโทษคนที่ผิดสูงสุดมารับโทษ แต่ไม่ได้หมายความว่านายอุตตมไม่ผิด
 
ทั้งนี้ ในชั้นสอบสวนกรณีดังกล่าวไม่จำเป็นต้องมีการกันใครเป็นพยานด้วยซ้ำ สิ่งที่ติดอยู่ในใจตนทุกครั้งที่มีการปฏิวัติ คือ กระบวนการสอบสวนไม่ว่าในชั้นใดก็ตามไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น เพราะมีคนที่มีอำนาจเหนือทุกคนในประเทศ ถ้าคนใจแข็งก็สู้ได้ แต่ถ้าใจไม่แข็งก็ให้เรื่องจบไป ขณะเดียวกัน การที่ไม่เอาชื่อนายอุตตม ใส่ไว้ในสำนวน ก็อยู่ที่อำนาจ และดุลพินิจของหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งจากการสอบสวนที่ผ่านมา ผลมักออกมาไม่ตรงไปตรงมานัก อยู่ที่จะไปสะกิดเอาอะไรออกมา
 
เมื่อถามว่า คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) สรุปสำนวนไม่ตรงกับหลักฐานที่มี นายชัยเกษม กล่าวว่า มีความพยายามเปลี่ยนข้อเท็จจริงในการที่นายอุตตม เข้าไปร่วมอนุมัติเงินกู้ด้วย แต่ไม่มีหลักฐานใดปรากฎที่ธนาคารกรุงไทยเลย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่การปล่อยเงินกู้จำนวนขนาดนี้จะไม่ระบุหลักฐานอะไรไว้ เพราะเป็นเรื่องที่เป็นความเป็นความตายของทุกคน การที่ คตส.ไปเชื่ออย่างนี้ ตนไม่ให้ราคา เขาจะพูดจะเขียนอย่างไรก็ว่ากันไป เพราะเราอยู่ในยุคที่บ้านเมืองไม่ปกติ คนที่รู้สึกอึดอัดกับเหตุการณ์นี้ไม่รู้จะพูดอย่างไรเพราะถ้าไม่ถูกเรียกไปปรับทัศนคติ ก็อาจจะถูกทุบแบบจ่านิว คนเลยเลือกที่จะปิดปาก วันนี้เมื่อปรากฎพยานหลักฐานใหม่ขึ้นมาอาจจะมีการรื้อคดีขึ้นมาสืบสวนใหม่ได้ แต่ในทางคดีนายอุตตม ยังไม่เคยเป็นผู้ต้องหาขนาดถูกสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ดังนั้น ถ้ามองในมุมคดีอาญายังอยู่ในข่ายที่ถูกดำเนินคดีได้ แต่จากความรู้สึกของตน ถ้ายังอยู่ในยุคนี้ ก็อย่าไปหวังเลยว่าจะมีการรื้อคดีนี้ขึ้นมาพิจารณา อย่างไรก็ตาม กรณีนี้เป็นที่ประจักษณ์แล้วว่านายอุตตม ไม่ได้มีความซื่อสัตย์ สุจริต จนเป็นที่ประจักษ์ ไม่มีความสง่างาม จากนี้ก็ให้ประชาชนเป็นผู้พิจารณาเอง
 
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดล่อง ในฐานะอดีตรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า วันนี้รัฐธรรมนูญ 2560 ให้อำนาจคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาตรา 243 มีหน้าที่ไต่สวนและมีความเห็น โดยเขียนขยายเรื่อง “จริยธรรม ความซื่อสัตย์ สุจริต ดังนั้น ในอนาคตคดีดังกล่าวคงจะส่งไปป.ป.ช. วันนี้เราต้องยอมรับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ทุกคนควรได้รับการตรวจสอบและชี้แจง