posttoday

สภาไฟเขียวกฎหมายเดินหน้า กสทช.

10 พฤศจิกายน 2553

ทีประชุมสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ ร่างกฎหมายจัดสรรคลื่นฯ 228 ต่อ2 เสียงให้ เดินหน้าตั้ง กสทช. พร้อมส่งให้วุฒิสภาพิจารณาในวันที่ 15 พ.ย.นี้

ทีประชุมสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ ร่างกฎหมายจัดสรรคลื่นฯ 228 ต่อ2 เสียงให้ เดินหน้าตั้ง กสทช. พร้อมส่งให้วุฒิสภาพิจารณาในวันที่ 15 พ.ย.นี้

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ ตามร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง  วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ... ที่คณะกรรมาธิการร่วมกันฯพิจารณาเสร็จแล้ว ด้วยคะแนนเห็นชอบ 228 เสียง ต่อ 2 เสียง งดออกสียง 24 เสียง ไม่ลงคะแนน14 เสียง  เห็นชอบตามรายงานของคณะกรรมาธิการร่วม

ทั้งนี้เนื้อหาที่ปรับแก้ไขจากร่างที่ผ่านการเห็นชอบของวุฒิสภาคือ  1.จำนวน  กสทช.ให้กลับไปมี 11 คน  2. โครงสร้างของ กสทช. ให้ตัดสัดส่วนตัวแทนของฝ่ายความมั่นคงและการบริหารราชการออก 3. คุณสมบัติเรื่องอายุกสทช.กำหนด 35 – 70 ปี 4.ให้สำนักเลขาธิการวุฒิสภาเป็นหน่วยธุรการในการสรรหา กสทช. 

บรรยากาศการอภิปราย สส. ได้ตั้งข้อสังเกตในมาตรา 84 ให้รัฐวิสาหกิจนำรายได้จากผลประกอบการที่ได้รับส่งให้ กสทช.เพื่อส่งเป็นรายได้แผ่นดิน จาก 1 ปีเป็น 3 ปี  ซึ่ง เอื้อประโยชน์ต่อรัฐวิสาหกิจ เมื่อเงินได้มาแล้วทำไมไม่รีบนำเข้าเป็นรายได้ของแผ่นดิน มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่  

นายสมคิด บาลไธสง ส.ส. หนองคาย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า  มีความเป็นห่วงในข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการร่วมกัน ซึ่งระบุว่า ควรให้แต่งตั้ง ผู้ที่มีผลงานหรือมีความรู้ และมีความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ด้านความมั่นคงของรัฐ ข้าร่วมเป็นอนุกรรมการของ กสทช. ด้วย เพราะไม่แน่ใจว่าผู้ที่มีความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการด้านความมั่นคงหมายถึงใครบ้าง  จะเปิดทางให้ใครเข้ามาเป็นอนุกรรมการบ้าง คนที่สั่งฆ่าประชาชนใช่หรือไม่ ทำให้นายประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ สส.ยะลา พรรคประชาธิปัตย์ ประท้วงขอให้ถอนคำพูด แต่นายสมคิดไม่ยอมถอนพร้อมกันเดินออกจากห้องประชุม  ทำให้นายชัย ชิดชอบ ประธานในที่ประชุมสั่งให้เจ้าหน้าที่ห้ามไม่ให้นายสมคิดเข้ามาในห้องประชุมอีก 

อย่างไรก็ตามนายประสิทธิ์ โพธสุธน สว.สุพรรณบุรี ประธานคณะกรรมาธิการ เสนอขอให้ถอนข้อสังเกตออกจากรายงานของคณะกรรมาธิการร่วม โดยให้เหตุผลว่ามีผู้แสดงความคิดเห็นคัดค้านไม่เห็นด้วยในหลายประเด็น  และสุดท้ายที่ประชุม มติเห็นชอบ 236 เสียงต่อ6 เสียง งดลงคะแนน 34 เสียง ไม่ลงคะแนน 15 เสียง เห็นชอบให้ถอนข้อสังเกตออก​

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย  รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะกรรมาธิการร่วมฯ ชี้แจงว่า  ถกเถียงกันว่าควรจะกำหนดให้ส่งรายได้หลังดำเนินกิจการ 1 ปี หรือ 3 ปี นั้น จากการได้หารือกับผู้บริหารทศท.และกสท. ว่าปัญหาคือเรื่องความไร้ประสิทธิภาพของการบริหารงาน หากกำหนดเพียงแค่ 1 ปีอาจทำให้เกิดปัญหาในการบริหารองค์กรภายในได้ ดังนั้นจึงขยายเป็น 3 ปี แต่ก็ต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานด้วย

ทั้งนี้หลังจากสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ขั้นตอนต่อจากนี้  จะส่งต่อให้วุฒิสภาพิจารณาเห็นชอบ ซึ่งขณะนี้มีการบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภาแล้วในวันที่ 15 พ.ย.นี้ ​