posttoday

"โพสต์ทูเดย์ 4 หน้า"เสี้ยวหนึ่งของการยืนหยัดมาตลอด 16 ปี

31 มีนาคม 2562

เรื่องเล่าจากอดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ในวันที่โพสต์ทูเดย์ออกหนังสือพิมพ์ได้เพียง 4 หน้า ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตทางการเมืองเมื่อปี53

เรื่องเล่าจากอดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ในวันที่โพสต์ทูเดย์ออกหนังสือพิมพ์ได้เพียง 4 หน้า ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตทางการเมืองเมื่อปี53

************************

โดย....ภัทระ คำพิทักษ์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

วันที่ทำหนังสือพิมพ์ยากที่สุดในรอบ 16 ปีของกองบรรณาธิการ คือ วันที่ 19 พ.ค. 2553

ตอนก่อนจะออกหนังสือพิมพ์ฉบับแรกในวันศุกร์ที่ 17 ก.พ. 2546 นั้น เราซักซ้อมอยู่พักใหญ่ ไปทำงานแต่เช้ากลับดึกดื่นค่อนคืน เพราะกว่าจะทำให้นอตและเฟืองทุกตัวหมุนสอดรับกันได้โดยไม่ติดขัดผิดพลาด เอาต้นฉบับพิมพ์เป็นเล่มออกแท่นได้ มิใช่เรื่องง่าย แต่ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องขี้ประติ๋วไปเลย เมื่อเจอกับสถานการณ์วันที่ 19 พ.ค. 2553

วิกฤตการณ์ทางการเมืองในเวลานั้น เกิดจากแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ปะทะกับรัฐบาล สถานการณ์ยืดยื้อและรุนแรงขึ้นตามลำดับ จนแทบจะปะทุเป็นสงครามกลางเมือง

ขณะที่นักข่าวและช่างภาพของเราหลายคนฝ่าดงปืนอยู่ตามท้องถนนและสถานที่เกิดเหตุสำคัญๆ การปะทะกันย่านพระราม 4 บ่อนไก่ คลองเตย ก็ขยายวงมาจนถึงที่ตั้งสำนักงานหนังสือพิมพ์ที่บริษัท บางกอก โพสต์

กลุ่มก่อกวนส่งทีมยกขบวนมาข่มขู่อยู่ที่หน้าบริษัท โดยทำทีว่าจะพากันบุกเข้ามาถึงข้างใน ขณะที่ตามถนนใหญ่มีเสียงปืนไม่ขาดระยะ

ทางฝ่ายบริหารปรึกษากองบรรณาธิการแล้ว เราเห็นพ้องกันที่จะย้ายพนักงานที่ไม่จำเป็นออกจากที่ตั้งโดยเร็วที่สุดตามแผนความปลอดภัยที่เตรียมกันไว้ล่วงหน้า

ผมเรียกประชุมกองบรรณาธิการเลือกเอาคนที่จำเป็นและแบ่งงานกัน โดยวางแผนว่ารูปการณ์บังคับไม่ให้ออกหนังสือพิมพ์ได้ดังเช่นปกติแล้ว

แรกเราจะทำหนังสือพิมพ์ 12 หน้า และลดลงเรื่อยๆ ตามข้อจำกัดที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ

ขณะที่เราแยกย้ายกันไปจัดเตรียมเนื้อหา สถานการณ์ปะทุขึ้นเรื่อยๆ ถึงขนาดสถานีย่อยการไฟฟ้าที่คลองเตยถูกเผา ไฟฟ้าในย่านนี้ถูกตัดเป็นวงกว้าง

ฝ่ายอำนวยการและฝ่ายสถานที่เปิดระบบไฟฟ้าสำรองของอาคารขึ้นมาใช้แทน

ต้องต่อสาย ลากสายกันวุ่นวาย โกลาหลกันเป็นการใหญ่

ข่าวร้ายคือ ระบบจะทำงานได้จำกัดในเวลาไม่นานนักเท่านั้น

เราปิดไฟที่ไม่จำเป็น ปิดเครื่องปรับอากาศ ปิดทุกอย่างที่ใช้พลังงาน เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ไม่กี่เครื่องได้ทำงานต่อไป

พอปิดไฟแป้นพิมพ์ก็มองไม่เห็น ใครมีแบตเตอรี่พอในมือถือก็เปิดให้แสง ใครมีไฟฉายพวกก็ส่องไฟฉายช่วย

ขณะนั้นนึกถึงคำในวงการหนังสือพิมพ์ขึ้นมาเลยว่า เมื่อก่อนมีสำนวน “จุดเทียนเขียนข่าว” ไม่เคยนึกเลยว่าชีวิตนักข่าวรุ่นเรายังจะมีประสบการณ์แบบนั้นอีก

ต่างแต่เพียงว่า จุดเทียนเขียนข่าวสมัยก่อนมีความหมายว่า คนเขียนแต่งเรื่องนึกคิดเอาเอง ไม่ได้สอบหาความจริงก่อนนำมาเสนอ แต่จุดเทียนเขียนข่าวของเราคือ ไม่มีแสงพอจะทำงานต้องจุดเทียนเขียนข่าวที่ฝ่าอันตรายไปเสาะหามาได้

ด้วยข้อจำกัด ในวันรุ่งขึ้นเราออกหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ฉบับประวัติศาสตร์ และน่าจะเป็นประวัติศาสตร์ของวงการสื่อมวลชนร่วมสมัย โดยมีเนื้อหาเพียง 4 หน้า

เป็น 4 หน้าที่ขาดๆ เกินๆ ตรวจพิสูจน์อักษรผิดๆ ถูกๆ ที่แย่สุดคือ ทำได้เพียง 4 หน้าจากปกติ 32 หน้า

แต่นั่นก็เป็นหนังสือพิมพ์ที่เราภูมิใจที่สุด เพราะมันบ่งบอกแทนอะไรหลายอย่าง

"โพสต์ทูเดย์ 4 หน้า"เสี้ยวหนึ่งของการยืนหยัดมาตลอด 16 ปี

สำหรับคนอ่านและสมาชิก มันคือตัวแทนของการบอกกล่าวถึงความรับผิดชอบ ไม่ทอดทิ้งหน้าที่ของคนที่เขาเลือก

ไม่ว่าจะเกิดอะไร จะยากลำบากขนาดไหน เราก็จะมีหนังสือถึงมือคนที่เชื่อใจเรา ไว้วางใจเราเสมอในทุกๆ วัน

จะกะรุ่งกะริ่ง จะสะบักสะบอม แต่เราก็จะไม่ผิดคำสัญญา

เราจะทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์และซื่อตรง ต่อคนอ่านและสังคมจนถึงวาระสุดท้าย

สำหรับคนทำงานและบรรณาธิการ มันคือความไว้วางใจ เชื่อใจซึ่งกันและกัน การอุทิศตัวอย่างที่สุดเพื่อรับผิดชอบภารกิจอย่างไม่ย่อท้อ

ผมภูมิใจในทีมงานของเรามาก และซาบซึ้งใจไม่หายถึงการอุทิศตัวของพวกเขาที่พร้อมจะเสียสละทุกสิ่งอย่าง ไม่หวั่นไหวต่อภยันตรายใดๆ

เราเขียนคำขออภัยแจ้งให้ผู้อ่าน สมาชิกและสาธารณชนทราบผ่านทางเว็บไซต์ของเราว่า เราขออภัยที่หนังสือพิมพ์พรุ่งนี้จะมีเนื้อหาแค่ 4 หน้า

มันเป็นความรับผิดชอบและจำเป็นที่ต้องบอกกล่าวกัน

คืนนั้นกลับยังไม่ถึงบ้าน ระหว่างแวะรับประทานข้าวมื้อไหนก็ไม่รู้อยู่ข้างทางกับน้องๆ สถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งโทรมาขอให้ผมเล่าสถานการณ์ให้ฟัง เป็นการออกอากาศสดคาชามข้าว ที่ผนังข้างหน้าแขวนทีวีขึ้นหน้าจอเรื่องของเราให้คนทั้งประเทศได้รับรู้

เนื้อหาคำขออภัยนั้นมีว่า

ขออภัย “4 หน้า” ในภาวะวิกฤต

ในนามกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ เราต้องขออภัยท่านผู้อ่านและผู้มีอุปการคุณทุกท่านอย่างยิ่งที่หนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 20 พ.ค. เหลือเนื้อหาเพียง 4 หน้า

เหตุจลาจลหลังแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อวานนี้ ได้ขยายวงมาใกล้ที่ตั้งบริษัท โพสต์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ย่านคลองเตย กลุ่มผู้ก่อจลาจลบางส่วนได้วางเพลิงธนาคารและโจมตีบริษัทเอกชนซึ่งมีที่ตั้งใกล้เคียงกับที่ตั้งของกองบรรณาธิการด้วยอาวุธสงคราม และมีผู้ก่อการจลาจลรวมตัวกันมากขึ้นตามลำดับโดยจะขยายเป้าหมายเพิ่มขึ้น ขณะที่สื่อมวลชนหลายแห่งก็ตกเป็นเป้าหมายของการก่อเหตุร้าย เราต้องอพยพคนออกจากที่ตั้งในช่วงบ่าย

ในช่วงดังกล่าวทำให้การรายงานข่าวของกองบรรณาธิการต้องหยุดชะงักไปช่วงหนึ่ง ทั้งการรายงานข่าวทางอินเทอร์เน็ตและทางเอสเอ็มเอส แต่ก็เป็นแต่เพียงช่วงสั้นๆ

กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ตัดสินใจที่จะเดินหน้าต่อ เพราะถือว่าเรามีหน้าที่และความรับผิดชอบที่ไม่อาจจะละทิ้งได้

นั่นทำให้การนำเสนอข่าวทางอินเทอร์เน็ตและเอสเอ็มเอสที่สะดุดไปในช่วงไม่กี่ชั่วโมงนั้นกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ชั่วคราว

บริษัทได้อพยพคนออกเหลือไว้เท่าที่จำเป็น และกองบรรณาธิการก็ตัดสินใจที่จะผลิตหนังสือพิมพ์ออกไปให้ได้อย่างน้อย 12 หน้า ด้วยกำลังคนที่มีอยู่ราว 10 คน แต่เมื่อเริ่มกระบวนการอีกครั้งก็พบว่า ผลจากการที่สำนักงานไฟฟ้าเขตคลองเตยซึ่งอยู่ใกล้เคียงถูกวางเพลิงก็ทำให้ทางการต้องตัดระบบไฟฟ้า ระบบสำรองไฟฟ้าของเราก็มีจำกัด และหากย้ายกองบรรณาธิการไปที่อื่นก็จะทำให้พนักงานเสี่ยงอันตรายเพราะมีอุปสรรคเรื่องเส้นทางคมนาคม

เมื่อเงื่อนไขเวลาและพลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้เราต้องตัดสินใจลดจำนวนหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับวันนี้ลงเหลือ 8 หน้า แต่เมื่อเริ่มงานพลังงานไฟฟ้าสำรองก็ไม่เพียงพอ เครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งตอนแรกเปิดขึ้นมาใหม่แล้วระบบสนับสนุนต่างๆ ไม่ทำงาน ต้องเปลี่ยนวิธีการมาทำนอกระบบจากปกติ ทำไปได้ไม่เท่าไหร่ทยอยดับลงทีละจอสองจอ พนักงานฝ่ายซ่อมบำรุงได้ทำงานอย่างแข็งขันหาทางลากสายไฟฟ้าในเส้นที่ยังพอมีไฟอยู่ต่อเข้ามาที่เราทำงาน และทางกองบรรณาธิการก็ต้องย้ายเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีข้อมูลบันทึกอยู่มานั่งทำงาน ณ จุดที่สายไฟเข้าถึง

เราต้องส่องไฟฉายเพื่อให้อีกคนพิมพ์งาน เพราะไม่เช่นนั้นจะมองไม่เห็นแม้แต่แป้นคีย์บอร์ดโทรศัพท์ก็โทรออกได้บ้างไม่ได้บ้าง เข้าใจว่าเป็นเพราะระบบข้างนอก
จะมีปัญหา

ในภาวะที่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและพลังงานอยู่เพียง 1 ชั่วโมงเศษนั้น ทำให้เราทำหนังสือพิมพ์ได้เพียง 4 หน้า และเป็น 4 หน้าที่ท่านได้เห็นในวันนี้

มันอาจจะเป็นหนังสือพิมพ์ที่ไม่สามารถรองรับเนื้อหาข่าวสารต่างๆ ที่นักข่าวของกองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์ ไม่ว่าทั้งจากต่างจังหวัดหรือที่ลงรายงานข่าวในพื้นที่เสี่ยงในจุดต่างๆ ทั่ว กทม.รายงานเข้ามาไม่ได้ทั้งหมด มันอาจจะเป็นหนังสือพิมพ์ที่ไม่อาจจะตอบสนองความต้องการบริโภคข่าวสารของท่านผู้อ่านและท่านผู้มีอุปการคุณของเราได้อย่างที่เราอยากจะทำ แต่เป็นหนังสือพิมพ์ที่เราตั้งใจทำและภูมิใจนำเสนอ

เราขออภัยในความบกพร่องและความไม่สมบูรณ์ของเนื้อหาที่เกิดขึ้นมา ณ โอกาสนี้ด้วย และหวังใจว่าจะได้รับความเห็นใจและเข้าใจถึงปัญหาและอุปสรรคดังกล่าว

เราขอให้หนังสือพิมพ์ 4 หน้า ซึ่งพาดหัวว่า “แผ่นดินร่ำไห้” นี้เป็นเครื่องยืนยันถึงความตั้งใจที่จะทำงานโดยไม่ย่อท้อต่อสถานการณ์ใดๆ เพราะเราสำนึกว่าเราทำหน้าที่อยู่ได้เพราะได้รับความไว้วางใจจากท่านทั้งหลาย.....

*******************************

โดยมิได้คาดหวัง มีประชาชนและผู้อ่านเข้ามาตอบรับและให้กำลังใจเราจำนวนมาก หลายคนบอกว่าพรุ่งนี้จะออกไปหาซื้อหนังสือพิมพ์เราไว้เป็นที่ระลึก

มันเป็นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากอย่างที่สุดและก็เป็นความทรงจำที่ดีที่สุด

นี่เป็นเพียงเสี้ยวเดียวในเรื่องนับแสนนับล้านเรื่องที่เราได้ยืนหยัดทำมาตั้งแต่ต้นจนถึงวันสุดท้าย

เป็นเสี้ยวเดียวของความพยายามมา 16 ปี

เป็นเสี้ยวเดียวของการฝ่าฟันอุปสรรคนานาประการ ไม่ว่าจะมาในรูปแบบการถูกข่มขู่ด้วยระเบิด ลูกปืน การถูกกล่าวหา และสารพัดรูปแบบ เพื่อทำหน้าที่ตามอาชีวปฏิญาณอย่างไม่ย่อท้อ

โพสต์ทูเดย์เฝ้าบ้านมาให้ 16 ปีแล้ว และบัดนี้ถึงเวลาที่ต้องจากกัน

ขอกราบขอบพระคุณที่ได้ให้ความเชื่อมั่นและไว้วางใจกันตลอดมาครับ