posttoday

ปชป.หวังครองใจคนกรุง มั่นใจคว้าชัยเลือกตั้ง 24 เขต

20 มกราคม 2562

รองหัวหน้าปชป. ดูแลพื้นที่ กทม. ประเมินว่า จากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา 33 เขต ประชาธิปัตย์ชนะ 23 เขต แต่ครั้งนี้เขตเลือกตั้งลดลงเหลือ 30 เขต ประเมินแล้วประชาธิปัตย์ไม่น่าจะได้น้อยกว่า 24 เขต

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

พื้นที่กรุงเทพมหานครถือเป็นอีกฐานเสียงที่ เข้มแข็งของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มาอย่างต่อเนื่อง ด้วยจุดแข็งคือการผนึกกำลังระหว่าง สส. สก. สข. ในพื้นที่ แต่ทว่าการเลือกตั้งรอบนี้หลายพื้นที่ถูกกระแสดูด ทั้งอดีต สส. และ สก.บางส่วนย้ายไปสังกัดพรรคอื่น จนคาดการณ์กันว่าอาจส่งผลต่อเก้าอี้โดยรวม

สรรเสริญ สมะลาภา รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลพื้นที่ กทม. ประเมินว่า การที่ สส. สก.ของพรรคย้ายออกไปนั้นย่อมมีผล กระทบต่อการเลือกตั้งบ้างแต่ไม่มาก ส่วนหนึ่งอดีต สส.ที่ย้ายออกไปก็ไม่กลับมาลงเลือกตั้ง ขณะที่ สก.ที่ย้ายไปแล้วมาลงแข่งก็เป็นไปได้ว่าจะตัดคะแนนบ้างแต่ไม่เยอะ

"สก.ที่ย้ายไปพรรคอื่นแล้วกลับมาลงแข่งกับอดีต สส.ของประชาธิปัตย์นั้น จะเห็นว่าช่วงที่อยู่ในตำแหน่งทั้งคู่ก็ทำงานและมีผลงานร่วมกัน ซึ่งก็เป็นผลงานของพรรคประชาธิปัตย์ ต้องยอมรับว่า สก.ที่เขาย้ายไป เขาทำงานในพื้นที่เพราะมีพรรคหนุนหลัง ไม่อย่างงั้นก็ทำงานไม่ได้ ต่อให้ย้ายพรรคไปก็ไม่ใช่ผลงานส่วนบุคคล ดังนั้นอาจจะตัดคะแนนเราบ้าง แต่ไม่ได้ดึงไปเยอะจนทำให้เราแพ้"

รองหัวหน้าพรรค ประชาธิปัตย์ มั่นใจว่า ในส่วนของพื้นที่เดิม ซึ่งเป็นเขตของอดีต สส.ของพรรคอยู่นั้นจะสามารถเอาชนะในการเลือกตั้งได้ทุกเขต เพราะหากพิจารณาจากช่องว่างความห่างของคะแนนอย่างเขตที่เคยชนะพรรคเพื่อไทย 5,000 คะแนน ก็น่าจะยังพอรับมือไหว

สำหรับ สก.ที่ย้ายไปพรรคอื่นมีทั้งหมด 13 คน  ส่วนใหญ่ย้ายไปพรรคพลังประชารัฐ จำนวน 5 คน ภูมิใจไทย 4 คน เพื่อไทย 1 คน รวมพลังประชาชาติไทย 1 คน พลังท้องถิ่นไท 1 คน ส่วนอีกหนึ่งคน พีรพล กนกวลัย สก.เขตพญาไท ลาออกจากพรรคไปแล้ว แต่ยังไม่มีข่าวว่าไปอยู่พรรคไหน

ทั้งนี้ หากพิจารณาเป็นรายเขตจะพบว่า เขตที่ สก.ย้ายออกไปพรรคประชาธิปัตย์ก็ยัง น่าจะชนะ ทั้งเขตที่ สก.ย้ายไปพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นเขตที่ประชาธิปัตย์แข็งแรง เช่น เขตพระนคร หรือในส่วนที่ สก.ย้ายไปพรรคภูมิใจไทยก็ไม่น่าแพ้

สรรเสริญ มองว่า จากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา 33 เขต ประชาธิปัตย์ชนะ 23 เขต แต่ครั้งนี้เขตเลือกตั้งลดลงเหลือ 30 เขต ประเมินแล้วประชาธิปัตย์ไม่น่าจะได้น้อยกว่า 24 เขต ซึ่งหากดูเผินๆ อาจจะเห็นว่าได้เพิ่ม สส.แค่คนเดียว แต่จริงๆ ไม่ใช่ เพราะหากมองจากจำนวนเขตที่แพ้ คราวที่แล้วแพ้ 10 เขต คราวนี้น่าจะแพ้เหลือเพียงแค่ 6 เขต

แม้การเลือกตั้งครั้งนี้ประชาธิปัตย์จะ ส่งผู้สมัครหน้าใหม่ลงแข่งหลายเขต แต่ก็ เชื่อว่ามีโอกาส เพราะปัจจัยที่จะชี้ขาดแพ้ชนะ ไม่ได้ดูแค่หน้าเก่า หน้าใหม่อย่างเดียว แต่จะ ต้องดูแรงสนับสนุนในพื้นที่ หมายถึงคะแนนเก่าที่มีอยู่ กระแสพรรค กระแสหัวหน้าพรรค นโยบายพรรค ตัวผู้สมัครก็มีผลเยอะ ถ้าเขามีความมุ่งมั่นตั้งใจ แสดงให้เห็นว่ามีความสามารถจะมาพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้ก็ได้รับเลือกตั้ง

"พูดง่ายๆ ว่ามันมีหลายตลาด ไม่ใช่เรื่องของพรรคอย่างเดียว หัวหน้าพรรคอย่างเดียว หรือนโยบาย ตัวผู้สมัคร การทำประโยชน์ให้ประชาชนในพื้นที่ก็เป็นปัจจัยสำคัญด้วย แต่อีกด้านการส่งผู้สมัครหน้าใหม่ที่ยังไม่มีผลงานก็ต้องทำงาน หนักให้ประชาชนมั่นใจว่าเขามาทำประโยชน์ให้ได้ มีเหตุผลที่ประชาชนฟังแล้วน่าเชื่อถือ"

ยกตัวอย่าง เขต หมอเอ้ก-คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ ซึ่งเป็นพื้นที่เขตบางซื่อเต็มและดุสิตครึ่งหนึ่ง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเขตที่ยากด้วยหลายปัจจัย ทั้งเป็นพื้นที่ของ ชัชวาลย์ คงอุดม หรือ ชัช เตาปูน และ ชื่นชอบ คงอุดม ลูกชายที่เคยเป็นอดีต สส.ของพรรคก็ย้ายออกไป แม้ครั้งนี้ จะไม่ลงสมัคร แต่ก็ถือเป็นหนึ่งในเขตที่ยาก แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้

ประเมินแล้ว 4 เขตที่ถือว่ายากที่สุดในพื้นที่ กทม.สำหรับประชาธิปัตย์ ได้แก่ ดอนเมือง สายไหม บางเขน และลาดกระบัง ซึ่งยุทธศาสตร์จะต้องช่วยกันระดมคนในพรรคไปลงพื้นที่หาเสียง จากประสบการณ์การเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมา ทั้งเขตดอนเมือง ของ แทนคุณ จิตต์อิสระ และบึงกุ่ม ของ พนิช วิกิตเศรษฐ์ ซึ่งตอนแรกประชาธิปัตย์ไม่ชนะ แต่เมื่อระดมคนไปช่วยสุดท้ายก็กลับมาเอาชนะได้

ปชป.หวังครองใจคนกรุง มั่นใจคว้าชัยเลือกตั้ง 24 เขต

การลงพื้นที่ก็ต้องขอความร่วมมือแฟนคลับ ประชาชนที่ศรัทธาในพรรค ไม่ใช่แค่ขอคะแนนเฉยๆ แต่ต้องให้เขาไปบอกต่อข้างบ้าน ข้างซอย คนที่ทำงาน ให้ช่วยกระจายอีกทางหนึ่งด้วย ส่วนตัวผู้สมัครก็ต้องขยันพบพี่น้องประชาชน พูดให้เขาเชื่อว่าตัวเขาและพรรคจะทำประโยชน์ให้ พี่น้องประชาชนได้ยังไง

โดยพื้นที่ดอนเมืองครั้งนี้ได้ ธัญญ์นิธิ ชวรัตน์นิธิโชติ ผู้สมัครหน้าใหม่ แต่ลงพื้นที่ทำความคุ้นเคยกับชาวบ้านมา 3 ปี ถือเป็นคนใจถึง พึ่งได้ของชาวบ้านอย่างเต็มที่ ซึ่งแม้จะเป็นเขตที่ยาก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะชนะไม่ได้ ส่วนเขตที่ยากน้อยลงมาก็เช่นเขตหลักสี่เต็มเขตและจตุจักรครึ่งหนึ่ง ก็ส่ง พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ลงสมัคร ซึ่งต้องลงพื้นที่ทุกวันเช้ายันเย็น เคาะประตูทุกบ้าน

สรรเสริญ อธิบายว่า การหาเสียงในปัจจุบันต้องใช้หลายอย่างประกอบกัน บางคนเสพ โซเชียลมีเดีย บางคนดูหนังสือพิมพ์ บางคนดูทีวี บางคนดูว่าคนนี้มีผลงานอะไรในเขต บางคนขอให้มีความคุ้นเคยกับผู้สมัคร ซึ่งต้องใช้หลายปัจจัย ส่วนโซเชียลมีเดียที่ว่ากันว่าจะเป็นช่องทางสื่อสารสำคัญในการหาเสียงครั้งนี้ จะใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวเป็นฐาน โดยมีคนติดตามเวลานี้ 1 ล้านคน เฉพาะ กทม.ประมาณ 6 แสนคน

"ผมก็จะแชร์เพจว่าที่ผู้สมัครของ กทม.ทุกคนออกไป และจะมีเฟซบุ๊กพรรค คอยมอนิเตอร์ถ้าโพสต์ไหนเป็นที่นิยมก็จะเอาไปแชร์ต่ออีกรอบ ใช้เฟซบุ๊กเป็นหลัก ส่วนโซเชียลอย่างอื่นก็เป็นยุทธวิธีของแต่ละคนอย่าง ดร.รัชดา ธนาดิเรก เขาก็เปิดไลน์กรุ๊ปของเขา หรือบางคนอาจจะบอกว่าลงพื้นที่ไม่มีเวลาตอบคอมเมนต์ในเฟซบุ๊ก ก็เป็นสิทธิของเขา"

ที่ผ่านมาอย่างนโยบายพรรคที่สำคัญก็ลองทดสอบนำไปโพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัวก็เห็นว่ามีกระแสตอบรับ หรือช่องทางอื่นอย่างป้ายหาเสียงก็มีดีไซน์ใหม่ ทันสมัย มีออปชั่นให้เลือก มีรูปหัวหน้าหรือไม่มีรูปหัวหน้า ขณะที่เพลงก็มีการปรับเปลี่ยน มีหลายเวอร์ชั่นสำหรับแฟนพันธุ์แท้หรือคนรุ่นใหม่ เพราะการเลือกตั้งมีหลายตลาด ต้องจับให้ได้ทุกตลาด

ในแง่นโยบายของพรรค สำหรับคน กทม. เวลานี้กำลังดูจังหวะในการประกาศให้ออกมาในช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยจะเป็นนโยบายที่เข้าใจชีวิตคน กทม. เพราะเรากลั่นกรองมาจากอดีต สส.หลายคน อาจจะดูไม่ไฮเทค ไม่หวือหวา แต่นี่คือชีวิตจริงของคน กทม.  ซึ่งจะแบ่งเป็นส่วนแรก แพ็กเกจใหญ่ 4 ด้าน และจะมีรายละเอียดปลีกย่อยรวมประมาณ 10 ข้อ

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ตอนนี้ยังหาเสียงได้ไม่เต็มที่ ทำได้แค่ไปแนะนำตัว ซึ่งทุกพรรคก็ประสบปัญหาตรงนี้เหมือนกันหมด แต่หากไม่กำหนดวันเลือกตั้งให้เร็ว ยิ่งช้าเท่าไร พรรครัฐบาล พรรคทหารจะยิ่งแย่ เพราะชาวบ้านเขาก็จะมองว่าเล่นเกมอะไรกัน
 
อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งอะไรก็มีโอกาสทั้งนั้น  เพราะจริงๆ แล้วไม่สามารถพูดแทนประชาชนทุกคน แต่พูดได้จากข้อมูลสถิติในอดีต และลงสนามเลือกตั้งกี่ครั้งก็ต้องไม่ประมาท เป็นธรรมชาติของเราอยู่แล้ว แม้จะเป็น สส.มากี่สมัย แต่ลงสมัครรับเลือกตั้ง หาเสียงก็เทกันหมดตัว หมดแรงทุกคน

สรรเสริญ อธิบายถึงการเตรียมตัวของ ผู้สมัครหน้าใหม่ว่า ที่ผ่านมาได้เรียกเฉพาะผู้สมัครใหม่เข้ามาพูดคุย เพราะเขาจะมีคำถามเยอะ โดยเฉพาะอะไรทำได้ ไม่ได้ รวมไปถึงอธิบายการฟอร์มทีมหาเสียงพบประชาชนว่าทำยังไงให้ได้คะแนน แต่ละเขตจะมีพี่เลี้ยงคอยช่วย เช่น เขตของ ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย หรือ "ลูกนัท" จะมี องอาจ  คล้ามไพบูลย์ และ ชนินทร์ รุ่งแสง ช่วยดู

เขต ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ ส่วนตัวก็จะไปช่วยดูเพราะเป็นเขตเก่าในบางส่วน และมี สก.ช่วยดูอีกด้วย ส่วนเขตหมอเอ้ก มี พ.อ.เฟื่องวิชชุ์ อนิรุทธเทวา และ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นพี่เลี้ยง  เขตของ พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ก็มี พนิช วิกิตเศรษฐ์ บิดา ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่เดิมช่วยดูแล  หรือ รัฐพงศ์ ระหงษ์ ที่ลงเขตบางเขน ก็มี น.ต.สุธรรม ระหงษ์ บิดา ช่วยดู

"เวลาไปอธิบายให้ผู้สมัครใหม่ฟัง หลักๆ ก็คือผมจะทำให้ทุกอย่างเป็นวิทยาศาสตร์หมด เอาแผนที่เขตมากางพล็อตตรงไหนเป็นอะไร ตรงนี้ชุมชน ตรงนี้หมู่บ้าน ตรงนี้ตึกแถว ตรงนี้ออฟฟิศ ยุทธวิธี เราจะใช้อะไรในกลุ่มเป้าหมายนั้นๆ คอนโดเจอเขายากก็ต้องเอาสื่อไปเสียบ ตึกแถว เดินพบ หมู่บ้านก็ต้องใช้รถแห่ ทำเป็นวิทยาศาสตร์หมด ครอบคลุมทุกพื้นที่ ส่วนวิธีการพบประชาชนก็เป็นแนวทางให้เขา แต่ละคนก็จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ให้เขาเอาแนวทางไปแอพพลายของเขาเอง"

สรรเสริญ กล่าวว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ก็คอยดูอยู่ อย่างเวลาไปช่วยหาเสียงกับผู้สมัครใหม่ ก็จะคอยบอกว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร อันไหนชม อันไหนต้องปรับ ซึ่งหัวหน้าพรรคเป็นคนละเอียดมาก สังเกตสไตล์การหาเสียงของผู้สมัครแต่ละคน

ส่วนฐานเสียงของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเลือกตั้งครั้งนี้จะมีถึง 7 ล้านคนทั่วประเทศ เฉพาะ กทม. 1 ล้านคน หากคำนวณต่อเขตก็ตกประมาณเขตละ 3 หมื่นคน ตรงนี้จะมีทีมพิเศษไปคอยเจาะเฉพาะวัยรุ่น  อย่างอดีต สส.บางคนที่เดิม ไม่ได้สัมผัสกับวัยรุ่นเลยก็ต้องปรับตัว ต้องเจอวัยรุ่นบ้าง อย่างตนเองก็อาจจะเป็นหนึ่งในนั้น เพราะอายุ 50 ปีแล้ว

แต่โดยหลักๆ เลย จะมีทีมจรยุทธ์เป็นทีม New Dem ไปตามจุดต่างๆ ซึ่งเขาจะรู้แหล่ง วัยรุ่นไปที่ไหนกันเยอะพวกเราก็จะรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง ส่วนตัวคิดว่าคนที่นำทีมได้ดีที่สุดคือ ปลื้ม-สุรบถ หลีกภัย ลูกชายท่านชวน หลีกภัย ซึ่งการสื่อสารของเขากับวัยรุ่นทำได้ดี ต่อไปก็จะไปกำหนดจุดว่าจะไปจุดไหน อย่างไร

"ทั้งหมดเชื่อว่าเลือกตั้งในพื้นที่ กทม.ครั้งนี้ ประชาธิปัตย์น่าจะได้อย่างน้อย 24 เขตขึ้นไป ส่วนอีก 6 เขต ไม่ใช่ว่าจะไม่ได้ แต่ต้องทำงานหนักขึ้น" สรรเสริญ กล่าว