posttoday

แร่ใยหินมะเร็งร้ายใกล้ตัวคุณ

29 ตุลาคม 2553

ใครจะเชื่อว่าแค่ไดร์เป่าผม แป้งเครื่องสำอางผู้หญิง กระเบื้องหรือแม้แต่เครื่องปิ้งขนมปังก็อาจทำให้คนตายด้วยโรคมะเร็งได้ แถมเป็นมะเร็งแบบตายผ่อนส่งเหมือนบุหรี่อีกต่างหาก

ใครจะเชื่อว่าแค่ไดร์เป่าผม แป้งเครื่องสำอางผู้หญิง กระเบื้องหรือแม้แต่เครื่องปิ้งขนมปังก็อาจทำให้คนตายด้วยโรคมะเร็งได้ แถมเป็นมะเร็งแบบตายผ่อนส่งเหมือนบุหรี่อีกต่างหาก

 โดย..วิทยา ปะระมะ

วันที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมาคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับชมรมนักข่าวจัดงานเสวนาเรื่อง “แร่ใยหิน มหันตภัยเงียบที่กำลังจะคร่าชีวิตคนไทย” ณ ห้องประชุมชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หัวข้อการสนทนาก็คือตัวการของการเกิดมะเร็งเรียกว่าแร่ใยหินนั่นเอง

แร่ดังกล่าวมีลักษณะเป็นวัตถุแข็งแบ่งเป็น 2 ประเภท คือแร่ใยหินในกลุ่มแอมฟิโบลและกลุ่มเซอร์เพนไทล์ ด้วยความที่มีคุณสมบัติที่ทนความร้อนได้ดี แข็งแกร่ง ทนทานต่อสภาวะความเป็นกรด-ด่างจึงเป็นที่นิยมนำมาใช้เป็นส่วนผสมของอุตสาหกรรมซีเมนต์และอิเล็กทรอนิกส์

 เช่น กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องลอนคู่ กระเบื้องลูกฟูก ท่อซีเมนต์ ฝ้าเพดาน ตลอดจนใช้เป็นฉนวนไฟฟ้าและฉนวนกันความร้อนในอุปกรณ์ไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นเครื่องเป่าผม เครื่องอบผม เครื่องปิ้งขนมปัง กระเบื้องทนไฟ ประตูทนไฟ เสื้อผ้าไปจนถึงผ้าเบรค คลัทช์ ฯล รวมแล้วกว่า  3,000 รายการ

นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่าด้วยอนุภาคของแร่ใยหินที่เป็นฝุ่นละอองเล็กๆมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น หากฟุ้งกระจายหรือสูดดมเข้าไปในร่างกาย ฝุ่นแร่ใยหินจะเข้าไปสะสมอยู่ที่ปอดโดยที่ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถทำลายหรือขับออกมาได้ 

 “อนุภาคของแร่ใยหินที่มีลักษณคล้ายเข็มเล่มเล็กๆ จะเข้าไปทำลายเนื้อปอด เมื่อสะสมอยู่ในปอดนานๆก็จะทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับปอดและมะเร็งปอดอื่นๆตามมา เช่น มะเร็งเยื่อหุ้มปอด การฟักตัวของโรคอาจใช้เวลานานมากกว่า 10 ปี บางรายใช้เวลานาน 20-30 ปี แต่เมื่อโรคแสดงอาการแล้วผู้ป่วยอาจเสียชีวิตภายในเวลาเพียง 2-3 ปีและต้องทนทรมานด้วยความเจ็บป่วย หายใจลำบากจนเสียชีวิต”นพ.สมเกียรติกล่าว

สำหรับประเทศไทยมีนำเข้าแร่ใยหินมานานกว่า 70 ปีแต่ขณะนี้ยังมีตัวเลขรายงานโรคน้อยเนื่องจากการตรวจสอบวิเคราะห์ใยหินต้องใช้เทคนิคเฉพาะทางห้องปฏิบัติการที่มีอยู่เพียงไม่กี่แห่ง ความไม่สมบูรณ์ของระบบการบันทึกประวัติการทำงาน การวินิจฉัยโรคยังขาดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่ถ้าดูจากอัตราการใช้แร่ใยหินสูงถึง 3 ก.ก./คน/ปีเชื่อว่าความเสี่ยงต่อโรคที่เกี่ยวข้องนี้ย่อมสูงไม่แตกต่างจากคนในทวีปอื่นๆ

“ปลายปี 2550 แพทย์จากโรงพยาบาลโรคทรวงอก จ.นนทบุรี ตรวจพบผู้ป่วยคนไทยรายแรกที่เป็นโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจากแร่ใยหิน จากการตรวจสอบประวัติผู้ป่วยพบว่าเคยทำงานด้านวิศวกรรมอยู่ที่การรถไฟฯนานหลายปี ก่อนที่จะลาออกมาทำงานเป็นวิศวกรอยู่ในโรงงานผลิตกระเบื้องแห่งหนึ่งนานถึง 24 ปี และขณะที่ทำงานอยู่ในโรงงานผลิตกระเบื้องก็มีพฤติกรรมใส่หน้ากากป้องกันเฉพาะเมื่อมีฝุ่นละอองมากๆเท่านั้น เมื่อลาออกจากงานก็เจ็บป่วยด้วยโรคปอดและเสียชีวิตต้นปี 2551”นพ.สมเกียรติกล่าว

นางมาลี พงษ์โสภณ นักวิชาการชำนาญการ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าจากการสุ่มตัวอย่างแป้งเครื่องสำอางที่จำหน่ายในประเทศ 79 ตัวอย่างพบว่ามี 2 ตัวอย่างที่ส่วนประกอบของแร่ใยหินและเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการโฆษณาทางโทรทัศน์ด้วย

อย่างไรก็ตามด้วยเหตุผลว่าการสุ่มตัวอย่างยังมีจำนวนไม่เพียงพอตามมาตรฐานการการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ดังนั้นจึงยังไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อสินค้าดังกล่าวได้

ทั้งนี้โครงการวิจัยจะเน้นที่ไดร์เป่าผมและเครื่องอบผมที่วางขายในตลาดตลอดจนร้านเสริมสวยเนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็มีส่วนผสมของแร่ใยหินเนื่องจากอาจจะหลุดปลิวออกมาจากฉนวนความร้อน เน้นไดร์เป่าผมที่ผลิตและนำเข้าจากประเทศจีนซึ่งเป็นแหล่งผลิตแร่ใยหินอันดับ 2 ของโลกและสัณนิฐานว่าน่าจะมีการใช้แร่ใยหินเป็นส่วนประกอบของฉนวนกันความร้อน

“มีผลิตภัณฑ์ประมาณ 3,000 ชนิดที่มีส่วนประกอบของแร่นี้ แต่หลายชิ้นมีอุปกรณ์ห่อหุ้มภายในทำให้ไม่เกิดการฟุ้งกระจาย แต่อุปกรณ์ที่เสี่ยงต่อการสูดดมแร่ใยหินเข้าปอดก็คือไดร์เป่าผมเนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่เป่าลมเข้าหาร่างกายโดยตรง นอกจากนี้ยังมีเครื่องอบผม กระเบื้องที่ใช้ไปนานๆจนใยแร่หลุดลอกออกมา หรือแม้แต่สายของเตารีด ถ้าสายชำรุดแล้วคนไม่รู้เอามือไปสัมผัสก็มีโอกาสสูดละอองแร่เข้าไปได้เช่นกัน”นางมาลีกล่าว

ส่วนกลุ่มเสี่ยงในการสูดดมแร่นี้ประกอบด้วยคนงานที่รื้อถอนอาคารเก่า คนงานก่อสร้างต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะแร่ใยหินที่เป็นส่วนประกอบของกระเบื้อง ท่อนํ้าที่อาจฟุ้งกระจายในอากาศในขณะที่ทำการรื้อถอน

ขณะที่พญ.พิชญา พรรคทองสุข อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าปัจจุบันมีประเทศต่างๆกว่า 50 ประเทศยกเลิกการใช้หรือห้ามนำเข้าแล้วแต่สำหรับประเทศไทยยังมีการนำเข้าและผลิตเป็นสินค้าจำหน่าย 1.5แสนตัน/ปี ถือว่านำเข้ามากเป็นอันดับ 4 ของโลกและบริโภคมากเป็นอันดับ 2 ซึ่งเมื่อคำนวนจากระยะเวลาการฟักตัวของโรคแล้วเชื่อว่าจะมีผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดปีละประมาณ 1,295 คน

แน่นอนว่าทางออกที่ตรงไปตรงมาก็คือการยกเลิกการใช้ รวมทั้งมาตรการป้องกันระหว่างการเลิกใช้ เช่น มีประกาศให้ผู้ผลิตสินค้าที่มีส่วนผสมของแร่ใยหินติดฉลากประกาศเตือนภัยแต่แค่นี้คงยังไม่พอนัก

“ถ้าออกเป็นกฎหมายได้ก็จะดีแต่ก็รู้กันอยู่ว่ากว่ากฎหมายแต่ละฉบับจะผ่านออกมาได้ใช้เวลานานมาก ทางออกอีกประการคือเสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดให้แร่ใยหินเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 คือห้ามนำเข้า ห้ามผลิตและจำหน่าย จากเดิมที่จัดอยู่ในประเภทที่ 3 ที่ต้องขออนุญาตนำเข้า”พญ.พิชญากล่าว

เมื่อเลิกใช้แล้วก็ต้องหันไปใช้สารทดแทนอื่นๆแทน อย่างไรก็ตามพบว่าราคาของสารทดแทนยังคงสูงกว่าแร่ใยหิน 30% และยังต้องเสียภาษีนำเข้าอีก 5% ขณะที่แร่ใยหินไม่ต้องเสียภาษี

นพ.สุรพจน์ สุวรรณพานิช รองประธานกรรมการ คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 กล่าวว่าประเด็นเรื่องการเลิกใช้แร่ใยหินจะเป็นข้อหารือในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติวันที่ 17-19 ธ.ค. ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติเพื่อเสนอให้รัฐบาลไทยยกเลิกการนำเข้าและใช้แร่ใยหินทุกประเภทภายในปี 2555 หรืออีกภายใน 2 ปีนับจากนี้

นอกจากนี้จะมีข้อเสนอเร่งด่วนก็คือให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ปรับสถานะแร่ใยหินจากวัตถุอันตรายประเภท 3 (ต้องขออนุญาตนำเข้า ครอบครองและผลิต) เป็นวัตถุอันตรายประเภท 4 ห้ามนำเข้า ห้ามครอบครองและห้ามผลิต

โดยเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจะผลักดันให้มาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ออกมาภายในระยะเวลา 3เดือนหลังการประชุมสมัชชาสุขภาพเสร็จสิ้นลงหรือภายในเดือนมี.ค. 2554