posttoday

10 ชุมชนในกรุงเฝ้าระวังไฟไหม้ มาตรการดับเพลิงเชิงรุกป้องกัน

26 สิงหาคม 2561

ความแออัดในกทม.ทำให้พบว่ามีชุมชน 10 แห่งเป็นพื้นที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะหากเกิดอัคคีภัยอาจทำให้ยากต่อการเข้าไปช่วยเหลือ

ความแออัดในกทม.ทำให้พบว่ามีชุมชน 10 แห่งเป็นพื้นที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะหากเกิดอัคคีภัยอาจทำให้ยากต่อการเข้าไปช่วยเหลือ

**************************

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

ผลจากการสำรวจของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ประเมินพื้นที่เสี่ยงเกิดเหตุอัคคีภัยในชุมชนภายในพื้นที่ กทม.พบว่ามีชุมชน 10 แห่ง ถือได้ว่าเป็นพื้นที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะหากเกิดอัคคีภัยอาจทำให้ยากต่อการเข้าไปช่วยเหลือดับเพลิงได้ทันท่วงที

ชุมชนที่พบความเสี่ยง ประกอบด้วย 1.เคหะห้วยขวางแฟลต 21-24 สถานีห้วยขวาง 2.วานิชสัมพันธ์ สถานีสวนมะลิ 3.ประตูน้ำฉิมพลี สถานีตลิ่งชัน 4.มะนาวหวาน สถานีตลาดสวนพลู 5.โชคชัยร่วมมิตร สถานีสุทธิสาร 6.ชุมชนผาสุก สถานีดาวคะนอง 7.ชุมชนร่วมกันสร้างลาดพร้าว 101 แยก 48 สถานีหัวหมาก 8.ริมคลองราชมนตรี สถานีบางแค 9.เลียบคลองทวีวัฒนา สถานีบางแค และ 10.ประชาร่วมใจ สถานีลาดยาว

ด้วยปัจจัยความเสี่ยงที่มีผลต่อการป้องกันและบรรเทาอัคคีภัยในชุมชน ประกอบด้วย บางชุมชนยังไม่มีถังดับเพลิงหรือมีแต่
ไม่เพียงพอ การติดตั้งสัญญาณเตือนภัยที่รับรู้กันได้ทั้งชุมชนไม่ทั่วถึง ประปาหัวแดงในชุมชนยังมีไม่ครบทุกพื้นที่ ทำให้เมื่อเกิดอัคคีภัยเจ้าหน้าที่ดับเพลิงต้องใช้แหล่งน้ำสาธารณะสำรองต่างๆ อาจส่งผลให้การปฏิบัติงานไม่คล่องตัว

ทั้งยังขาดการฝึกซ้อมร่วมกับประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ทำให้ไม่ทราบว่าขั้นตอนเบื้องต้นต้องปฏิบัติตัวอย่างไร รวมถึงบางพื้นที่อยู่ห่างไกลจากสถานีดับเพลิง และมีสภาพแวดล้อมคับแคบ มีปัญหาด้านการจราจรติดขัด

พ.ต.ท.สมเกียรติ นนทแก้ว รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. เปิดเผยว่า พื้นที่ที่สำรวจพบว่าชุมชนเหล่านี้มีโอกาสเกิดอัคคีภัยมากกว่าพื้นที่อื่นๆ และด้วยสภาพแวดล้อมอาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงให้เป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่ที่กล่าวเช่นนี้ไม่ได้ต้องการให้ชุมชนเกิดความตื่นตระหนก เนื่องจากสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย กทม.ได้วางมาตรการลดความเสี่ยงไว้ให้แล้ว

สำหรับวิธีการลดความเสี่ยง เริ่มที่การเพิ่มวงรอบส่งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเข้าไปจัดกิจกรรมในชุมชน แจกแผ่นพับให้ความรู้ช่วยเหลือตนเองได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฝึกสังเกตเฝ้าระวังปลั๊กไฟ สายไฟต่างๆ เสื่อมโทรมแล้วหรือไม่ รวมถึงตรวจถังดับเพลิงให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน วงรอบจัดกิจกรรมให้ความรู้จากเดิมเฉลี่ยปีละ 1 ครั้งเปลี่ยนเป็นทุก 6 เดือน วิธีนี้พิสูจน์มาแล้วว่าได้ผล ทำให้ประชาชนป้องกันรับมือก่อนที่จะมีหน่วยดับเพลิงเข้าไปช่วยเหลือ

พร้อมกันนี้ ยังประสานกับสำนักงานเขตทุกแห่ง สำรวจพื้นที่โดยรอบของชุมชนว่ามีพื้นที่รกร้างหญ้าแห้งจุดใดบ้าง หากพบต้องเร่งทำความสะอาด และการจอดรถในชุมชนสามารถเข้าออกได้สะดวกหรือไม่หากเกิดเหตุฉุกเฉิน เนื่องจากเคยประสบกับปัญหารถดับเพลิงเข้าไปในพื้นที่ไม่ได้ ขณะที่ประชาชนขนทรัพย์สินออกมาไม่ได้เช่นกันปัญหานี้ไม่ควรเกิดขึ้นโดยเด็ดขาด

10 ชุมชนในกรุงเฝ้าระวังไฟไหม้ มาตรการดับเพลิงเชิงรุกป้องกัน

พ.ต.ท.สมเกียรติ กล่าวว่า ในส่วนของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงไม่ใช่แต่จะนั่งรอเกิดเหตุอยู่ที่สถานีดับเพลิงเพียงอย่างเดียว เพราะหากสถานการณ์เป็นปกติเจ้าหน้าที่ต้องลงพื้นที่สำรวจทางหนีทีไล่ ตรวจสอบค้นหาประปาหัวแดงมีน้ำใช้งานได้จริง รถกระเช้าเข้าไปฉีดน้ำได้อย่างไร หรือในชุมชนนั้นมีจุดเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เช่น โรงเรียนอนุบาล สถานที่รับเลี้ยงเด็ก รวมถึงสถานที่สะสมเชื้อเพลิง อย่างร้านจำหน่ายก๊าซหุงต้ม เป็นต้น เพื่อให้ได้รู้ข้อมูลนำมาเตรียมความพร้อม ในยามที่ต้องเข้าไปป้องกันให้ทันก่อนที่ไฟจะลุกลามจนยากจะควบคุม เหมือนทำแผนผังของพื้นที่นั้นๆ เมื่อกางออกมาจะทราบขั้นตอนปฏิบัติงานเป็นขั้นตอนทันที

นอกจากนี้ นโยบายของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ได้สั่งการให้สำนักป้องกันฯ จัดหาถังดับเพลิงจำนวน 5 หมื่นถัง เป็นกรณีเร่งด่วนเพื่อกระจายเสริมเข้าไปใน 50 เขตทั่ว กทม. ในจุดที่ไม่ยังขาดแคลนให้ทันช่วงฤดูแล้งที่มักมีเหตุเพลิงไหม้บ่อยครั้ง

ส่วนระบบการประสานงานกรณีมีเหตุ ประชาชนสามารถโทรสายด่วน 199 แจ้งเหตุดับเพลิงโดยตรง นอกจากเป็นสายด่วนรับแจ้งเหตุแล้วยังให้ความรู้ ให้คำปรึกษาหรือรับฟังข้อเสนอแนะอีกด้วย เช่น โทรมาถามว่าถังดับเพลิงแบบไหนดี ก็จะมีผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำได้หรือหากนึกไม่ออกสามารถโทรเบอร์ 191 ของตำรวจได้เช่นกัน เนื่องจากมีการสื่อสารผ่านวิทยุของทั้งสองระบบนี้ตลอดเวลา

ดังนั้นขอฝากเตือนเด็กๆ อย่าโทรเล่น เพราะอาจทำให้คู่สายเต็มเป็นการกระทำที่ไม่ดี สร้างความเดือดร้อนให้ผู้ที่มีความจำเป็นจริงๆ ไม่สามาถโทรแจ้งเหตุได้

พ.ต.ท.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า การประสานงานกับผู้บริหารของ กทม.เพื่อรายงานความคืบหน้าของเหตุการณ์ มีระบบลำดับขั้นผู้บัญชาการเหตุการณ์อยู่แล้ว ในกรณีที่ผู้บริหารระดับสูงยังไม่มา หน้างานใครจะเป็นผู้บัญชาเหตุการณ์ต่อไปได้ รวมถึงประสานกับผู้อำนวยการสำนักงานเขตซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ประกอบด้วยหน่วยที่เกี่ยวข้องอย่าง ฝ่ายโยธาเทศกิจ เข้ามาวางแผนช่วยเหลือประชาชน ไม่ว่าจะเป็นกางเต็นท์ สั่งอพยพผู้คน ขนส่งเครื่องจักรหนักขุดเจาะตัดถ่าง ทุบทำลาย ด้านเทศกิจ ตำรวจ ทหาร ช่วยกั้นพื้นที่ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหรือแม้แต่ช่วยชาวบ้านขนของออกจากบ้านเรือนอีกด้วย

“ทุกวันนี้ความช่วยเหลือจากดับเพลิงอย่างเดียวไม่พอแล้ว ต้องใช้ความร่วมมือทุกภาคส่วนของ กทม.เข้ามาช่วยกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในอนาคตจะมีอาสาสมัครเข้ามาฝึกอบรม และร่วมทำงานประจำแต่ละสถานีดับเพลิง เป็นการส่งเสริมคนรุ่นใหม่ที่รักในอาชีพนี้ให้เข้ามาทำงานเต็มตัว เชื่อมั่นว่ามาตรการเพิ่มความปลอดภัยและเฝ้าระวังนี้จะทำให้ชุมชนทั่ว กทม.ปลอดภัยจากอัคคีภัยได้แน่นอน” พ.ต.ท.สมเกียรติ กล่าว