posttoday

สร้างประชาธิปไตยเป็นวัฒนธรรม

11 สิงหาคม 2561

ประชาธิปไตย รากฐานเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ ถ้าไม่มีเสียงประชาชนก็ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยหลังๆ อ้างอิงประชาชนเพื่อเข้าสู่อำนาจ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

โครงการสร้างคนดี มองการณ์ไกล ไทยรุ่งเรือง มูลนิธิหมอเสม พริ้งพวงแก้ว ได้จัดเวทีเสวนาสาธารณะ เพื่อประชาธิปไตยจากล่างขึ้นบน "เลือกตั้งอย่างไรให้ประเทศไทย เป็นประชาธิปไตยที่มั่นคงและยั่งยืน" ณ ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ

สาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ประชาธิปไตย รากฐานเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ ถ้าไม่มีเสียงประชาชนก็ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยหลังๆ อ้างอิงประชาชนเพื่อเข้าสู่อำนาจ

ทั้งนี้ โลกความจริงไม่เป็นอย่างนั้น อำนาจเป็นเรื่องหอมหวน ใครก็ต้องการ แต่ก็ต้องติดตาม ตรวจสอบ แม้ประเทศคอมมิวนิสต์ยังจัดกระบวนการเลือกตั้ง แต่วิธีการให้ได้มาซึ่งผู้แทนก็ออกแบบแตกต่างกันไป เครื่องมืออำนาจเหล่านั้น ขึ้นกับลักษณะของสังคมเป็นอย่างไร

"สำหรับต่างประเทศ คำว่าประชาธิปไตยถือเป็นวัฒนธรรม เช่น อังกฤษ แม้ไม่มีรัฐธรรมนูญ ทว่าอะไรผิด ถูก ควรไม่ควร หรือการเลือกตั้งบริสุทธิ์เป็นอย่างไร หากย้อนถามของไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน การเปลี่ยนผ่านปี 2475 มาถึงขณะนี้เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ คำตอบไม่ใช่ ประชาชนได้เลือกตั้ง ดังนั้นเจตจำนงประชาชนสำคัญที่สุด เพื่อป้องกัน ไม่ให้เกิดรัฐประหาร

ขณะเดียวกัน ตราบใดประชาชนไม่มีอำนาจ หรือเข้าไปนั่งในสภา เพื่อเขียนกฎหมายให้ตัวเอง ก็ยังทำอะไรไม่ได้ แต่ไม่ใช่การเลือกตั้งจะเป็นประชาธิปไตย เพราะอยู่ที่คนมีอำนาจจะใช้ถูกหรือไม่ แต่นักการเมืองไทยไม่เคยสำนึกเรื่องทำให้ประชาชนลืมตาอ้าปาก ซึ่ง สส.ต้องไม่ปฏิเสธอำนาจจากชาวบ้านในการเสนอกฎหมาย แต่ที่ผ่านมาโครงสร้างยังไม่เป็นประชาธิปไตย จึงต้องปลูกฝังวัฒนธรรมเรื่องนี้

สร้างประชาธิปไตยเป็นวัฒนธรรม สาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)

ด้าน กษิต ภิรมย์ คณะพลเมืองประชาธิปไตย และอดีต รมว.ต่างประเทศ ยกตัวอย่างประเทศฟิลิปปินส์ คนเป็น สส. หรือคนนามสกุลเดียวกันกับ สส.คนนั้น หากไปลงเล่นการเมืองในระดับท้องถิ่นจะกระทำไม่ได้ ซึ่งแตกต่างจากไทยครอบครัวหนึ่งสามารถครอบงำได้ทั้งจังหวัด

ขณะเดียวกัน สส.ฟิลิปปินส์จะต้องเว้นวรรคการเมือง 2 เทอม เพื่อไม่ให้เกิดความยึดโยง เพราะมองว่า การเมืองไม่ใช่อาชีพ หรือเพื่อเข้ามาหาผลประโยชน์ แต่เป็นอาสาสมัครในการเข้ามาบริหารพัฒนาให้กับประเทศชาติ

"สวิตเซอร์แลนด์ สส.ไม่มีเงินเดือน แต่จะให้เป็นเบี้ยประชุม เข้าประชุมเท่าไหร่ได้เท่านั้น แต่ สส.ไทยสามารถมีผู้ช่วยติดตามได้ถึง 7 คน ไม่มีประโยชน์ต่องานทั้งในด้านวิชาการหรือการเมือง จึงควรปรับลด แม้กระทั่งการขึ้นเครื่องบินฟรีได้เฉพาะไปปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น ไม่ควรใช้ในการส่วนตัว หากทำตรงนี้ได้ คนดีๆ จะเข้ามาอุทิศตัวเพื่อทำงานการเมือง ไม่ได้เข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์"

อย่างไรก็ดี ทุกอย่างต้องช่วยกันขับเคลื่อน ซึ่งการเป็นพลเมืองประชาธิปไตยไม่ใช่เพียงแค่ไปหย่อนบัตรเท่านั้น ประเด็นสำคัญต้องกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น และทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อตรวจสอบ หรือเข้าไปร่วมตัดสิน เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย

"อินโดนีเซียตอนนี้ทหารเข้าค่ายหมด ไม่ออกมาเล่นการเมือง เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ แม้อินโดนีเซียเคยเป็นเผด็จการมากว่า 30 ปี ก็ยังแก้ได้ หากไทยจะเอามาเป็นบทเรียนได้ไหม คำตอบคือได้ เพราะผมเห็นความเปลี่ยนแปลงสมัยตอนเป็นทูต ด้วยการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น เพราะเป็นหัวใจสำคัญ"

สร้างประชาธิปไตยเป็นวัฒนธรรม กษิต ภิรมย์ คณะพลเมืองประชาธิปไตย และอดีต รมว.ต่างประเทศ

ขณะที่ ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์รองประธานองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-Net) มองว่า ประชาธิปไตยบางครั้งต้องรอคอยว่าเมื่อไหร่ ถ้าคิดใหม่รัฐธรรมนูญเขียนไว้อำนาจอยู่ในมือประชาชนคนไทยทุกคน แต่ต้องเข้าใจว่าอำนาจคือการยอมรับ

"ถ้าบ้านเมืองบอกว่าเราไม่ทำตามกฎหมายก็ถูกจับ แต่ถ้าเป็นกฎหมายไม่เป็นธรรม และทุกคนเห็นอย่างนั้น สุดท้ายกฎหมายต้องเปลี่ยน เพราะคนมีอำนาจรู้ว่าฝืนไปไม่มีประโยชน์ แต่ในอดีตคงพูดยาก ทว่าในยุคปัจจุบัน ผู้มีอำนาจฟัง แต่ชัดเจนยังไม่เป็นธรรม อำนาจอยู่ในมือทุกคน แต่ไปใช้ในวันเลือกตั้ง เมื่อมีในมือก็ใช้ศักยภาพของแต่ละคนเพื่อให้เป็นที่ประจักษ์"

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งหรือ ส่งเสริมประชาธิปไตย ปัญหาเป็นโครงสร้างที่ผู้มีอำนาจบอกว่า จน ไม่มีการศึกษา แต่ทำไมถึงบอกอย่างนั้น เช่น การเลือกตั้ง การซื้อสิทธิขายเสียง เป็นเพราะประชาชนไปรับเงิน แต่ไม่มีการพูดถึงคนจ่ายเงิน สมมติประเทศต้องการแก้เรื่องนี้ ถ้าคนแข่งขันทำ ตามกติกาตั้งแต่เริ่มต้น และมีการรวบรวมประวัติผู้สมัครให้เป็นที่รู้กันมาเปิดเผยแสดงผลงาน เพื่อผู้มีสิทธิจะได้เลือกถูก

ส่วนเรื่องไพรมารีโหวตถือเป็นข้อดีของรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะสมาชิกพรรคได้มีส่วนร่วมในการคัดเลือก ต่างจากของเดิมที่กำหนดโดยหัวหน้าหรือกรรมการบริหารพรรค แต่ท้ายที่สุดเห็นว่าจะไม่มี เพราะ คิดว่าควบคุมไม่ได้ ทั้งหมด แต่เรื่องนี้สำคัญไม่น่าจะยอม เพราะเป็นหัวใจปฏิรูปพรรคการเมือง อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ กับพรรค

สร้างประชาธิปไตยเป็นวัฒนธรรม ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์รองประธานองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-Net)