posttoday

พาไทยไปเวทีโลก อีกก้าวของ "สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์"

18 มีนาคม 2561

“มหาวิทยาลัยไทยชอบแข่งกันเองในประเทศ ไม่ยอมออกไปข้างนอกเหมือนอุตสาหกรรม ต้องสู้กับญี่ปุ่น จีน มหาวิทยาลัยไทยก็ต้องสู้กับสิงคโปร์”

“มหาวิทยาลัยไทยชอบแข่งกันเองในประเทศ ไม่ยอมออกไปข้างนอกเหมือนอุตสาหกรรม ต้องสู้กับญี่ปุ่น จีน มหาวิทยาลัยไทยก็ต้องสู้กับสิงคโปร์”

************************** 

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

หากไม่พลิกโผ กลางปีนี้ ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จะได้รับเลือกจากที่ประชุมให้ดำรงตำแหน่ง “ประธานสมาคมสถาบันการศึกษาขั้นอุดมแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (The Association of South east Asian Institutions of Higher Learning : ASAIHL) ถือเป็นตำแหน่งอันทรงเกียรติระดับนานาชาติ หลังจากปัจจุบันเขานั่งรักษาการประธานอธิการบดีอาเซียนฯ แห่งนี้มาหลายเดือน และเป็นเต็งหนึ่งที่จะได้รับเลือกเป็นผู้นำคนใหม่

“ที่ผ่านมาบทบาทของไทยในเวทีการศึกษาโลกมีไม่มาก ผมก็ภูมิใจที่ได้นั่งหัวโต๊ะสมาคมการศึกษาระดับโลกแห่งนี้ อย่างน้อยก็ได้รับการยอมรับในฐานะตัวแทนประเทศไทย และจะนำความรู้มาต่อยอดพัฒนาประเทศ

...ความจริงสมาคมอุดมศึกษาอาเซียนไม่ได้มีสมาชิกแต่ในชาติอาเซียนเท่านั้น แต่เป็นอาเซียนบวกบวก รวมทั้งหมด 28 ประเทศ มีชาติยักษ์ใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน โปแลนด์ เข้าร่วม มีมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาเป็นสมาชิกเกือบ 3,000 แห่ง” สุชัชวีร์ กล่าว

ในแวดวงการศึกษา สุชัชวีร์ถือเป็นคนรุ่นใหม่อนาคตไกลเมื่ออายุ 37 ปี เขาเป็นศาสตราจารย์ด้านการก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์คนแรกของประเทศไทย สมัยเรียนที่ Massachusetts Institute of Technology (MIT) สหรัฐอเมริกา ได้รับการประกาศเกียรติคุณไอเซนฮาวร์ เฟลโลว์ชิพ ประจำปี 2012 ในฐานะผู้นำยุคใหม่ด้านวิศวกรรมจากมูลนิธิประธานาธิบดี ดไวท์ ไอเซนฮาวร์ แห่งสหรัฐอเมริกา 

ปัจจุบัน สุชัชวีร์ อายุ 45 ปี นอกจากจะดำรงตำแหน่งอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) แล้วยังนั่งเก้าอี้เป็นประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ซึ่งได้รับเลือกเมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีบทบาทผลักดันอุดมศึกษาไทยในยุคเปลี่ยนผ่านจากกระแสออนไลน์ เขาย้ำให้ทุกมหาวิทยาลัยเร่งปรับเปลี่ยนทิศทางการศึกษาเพื่อรองรับเทรนด์ใหม่ของโลก
ที่มหาวิทยาลัยต้องเป็นแหล่งเรียนรู้รอบด้าน ไม่ใช่แค่เรียนอย่างเดียว

สิงคโปร์-มาเลย์ เป้าที่ไทยต้องแข่ง

สุชัชวีร์ กล่าวว่า สมาคมดังกล่าวก่อตั้งมาแล้ว 40 ปี เป็นเวทีนานาชาติที่ได้รับการยอมรับ เป็นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการศึกษา องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาคของโลก และยังผลักดันให้มหาวิทยาลัยร่วมเปลี่ยนแปลงโลกทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ ทำเรื่องพลังงาน การปฏิรูปหลักสูตร โดยเฉพาะในยุคหลังการเข้ามาของดิจิทัล มีการนำผลกระทบที่เกิดขึ้นหลายประเทศมาถอดบทเรียน

“ตำแหน่งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบอุดมศึกษาบ้านเรามาก เพราะจะช่วยเปิดหูเปิดตาให้เราได้รู้จากประเทศที่มีระบบการศึกษาก้าวหน้า และจะได้รู้ว่าอเมริกา ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ คิดอย่างไร ผมตั้งใจมากๆ ที่จะให้ไทยไปกับโลก ดึงโลกกลับมาไทย อย่างจีนถ้าไม่คิดจะแข่งกับญี่ปุ่นก็ไม่ใหญ่โตเหมือนวันนี้ เกาหลีถ้าไม่คิดแข่งกับญี่ปุ่นก็ไม่เหมือนวันนี้”

จากที่ได้คลุกคลีระบบการศึกษาในอาเซียน สุชัชวีร์ ยกตัวอย่าง สิงคโปร์และมาเลเซีย สองชาติที่ก้าวหน้าด้านการศึกษาที่ไทยต้องดูไว้เพื่อใช้เป็นเป้าหมายยกระดับมหาวิทยาลัยของไทย  

“มหาวิทยาลัยมาเลเซียเติบโตเร็ว ในอดีตสู้ประเทศไทยไม่ได้ เพราะความมุ่งมั่นของรัฐบาลและความต่อเนื่องของรัฐบาล มาเลเซียเห็นเมืองนอก เช่น อเมริกาคิดเทคโนโลยี ทางเน็ต พลังงาน งานวิจัยเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์มาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ ทางมาเลเซีย คิดว่า การที่จะสู้สิงคโปร์ได้ มหาวิทยาลัยเขาต้องเข้มแข็ง ต้องสร้างคน องค์ความรู้ นวัตกรรม และร่วมมือกับเอกชนต่อยอดจึงเป็นวาระแห่งชาติ ที่รัฐบาลบูมมหาวิทยาลัย ทั้งให้งบประมาณ แก้ไขกฎระเบียบ ทลายกำแพง เชิญชวน และแกมบังคับให้อุตสาหกรรมมาลงทุนในมหาวิทยาลัย โดยได้ส่วนลดภาษีและสิทธิพิเศษ

“มาเลเซียยุคปัจจุบันมีจิตวิญญาณของการแข่งขัน เพราะเขาตั้งเป้าจะเอาชนะสิงคโปร์ให้ได้ เขามองเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เมื่อเขาคิดอย่างนั้น วันนี้เขาจึงชนะไทยกระจุยเลย เพราะเขามองเป้าที่ใหญ่กว่า สิ่งเหล่านี้ทำให้มหาวิทยาลัยในมาเลเซียก้าวกระโดด”

สิงคโปร์ไม่ใช่แค่อาเซียน ปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกไปแล้ว เพราะสิงคโปร์ติดกระดุมมาถูกทุกเม็ด เขาไม่มีน้ำมัน แร่ธาตุ แต่พัฒนาประเทศด้วยทรัพยากรมนุษย์ สิงคโปร์กวดขันตั้งแต่เด็กอนุบาล ต้องได้รับการดูแลที่ดี ทั้งสุขภาพ การกิน สติปัญญา เข้าประถมต้องเรียนภาษาอังกฤษ จีน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ถ้าไม่ผ่านก็ให้ซ้ำชั้นไปเรื่อยๆ จะไม่ปล่อยคนไร้คุณภาพออกจากท่อเด็ดขาด สุดท้ายพอถึงระดับมหาวิทยาลัยก็ไม่ต้องทุ่มอะไรมาก เพราะทุกคนได้รับการพัฒนามาทุกทาง และให้พลเมืองมีความรับผิดชอบ เอาใจใส่

เทคนิคการสร้างมหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ สุชัชวีร์ ระบุว่า เน้นประเภท “โด๊ป” มากกว่า มาเลเซีย ไทยเองก็ทำไม่ได้ เขาดึงคนเก่งเข้ามามาก ยกตัวอย่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางของสิงคโปร์มีอายุเพียง 25 ปี เริ่มต้นจากการเป็นมหาวิทยาลัยฝึกหัดครู แต่ปัจจุบันเป็นท็อปเทนของโลกแล้ว เขาซื้อตัวอาจารย์จากทั่วโลก แม้กระทั่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนของสหรัฐ ปีหนึ่งไม่น่าจะต่ำกว่า 300-400 ล้านบาท

“เขาโด๊ปยาสุดๆ และอาศัยทรัพยากรทั่วโลกมาสร้างประเทศเขา แต่ของเราเวลาชาติตะวันตกจะมาตั้งก็ลำบากมาก แต่สิงคโปร์ไม่คิดเหมือนแบบเรา เขาคิดว่าทรัพยากรทั่วโลกที่ไหนดี เก่ง ก็ซื้อหมดมาอยู่ในประเทศของเขาเพื่อมาปั้นประเทศและเด็กของเขา สุดท้ายก็มาเป็นพลเมืองของเขา นี่คือสไตล์ของเขา จัดหนัก จัดเต็ม ทำให้เขาได้มหาวิทยาลัยท็อปของโลกในช่วงไม่ถึง 10 ปี”

รัฐต้องออกแรงช่วยมหา’ลัยไทย

สำหรับอินโดนีเซีย ขนาดของประเทศใหญ่ มีพลเมืองมาก ทรัพยากรพร้อมเหมือนจีน มีความมั่นคงทางการเมืองมานาน อินโดนีเซียจึงเริ่มหันมาโฟกัสเรื่องการศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยบันดุง แต่ก็อยู่ในระดับพอๆ กับประเทศไทย อย่างไรก็ตามในอนาคต ถ้าประเทศไทยไม่เร่งตัวเองอินโดนีเซียก็จะแซง ส่วนเวียดนามน่ากลัวสุดๆ คนที่นั่นถูกปลูกฝังเรื่องการศึกษาเหมือนคนจีนว่า เด็กทุกคนต้องตั้งใจเรียนหนังสือ ขยันขันแข็ง เวียดนามจึงได้เปรียบเรื่องความอึดของคน แต่คุณภาพมหาวิทยาลัยยังสู้เมืองไทยไม่ได้ ส่วนฟิลิปปินส์ได้เปรียบเรื่องภาษาแต่คุณภาพยังไม่มาก

สุชัชวีร์ กล่าวว่า ถ้าย้อนกลับมาดูประเทศไทย วิสัยทัศน์เริ่มมา รัฐบาลนี้พูดเรื่องไทยแลนด์ 4.0 แต่การลงแรงยังไม่ใช่ ดูเหมือนลงทุน แต่ยังไม่ดุดันพอเหมือนมาเลเซีย แม้จะมีการออกมาตรา 44 ให้มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนมาตั้งลาดกระบัง แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องแก้ เอกชนยังไม่บริจาคให้มหาวิทยาลัยมากเท่ากับวัด เพราะเขาไม่เห็นประโยชน์ทั้งที่ภาษี 200% ขณะที่วัดก็ไม่ได้ภาษีคืน ทั้งหมดเพราะแรงจูงใจไม่แรงพอ

“มหาวิทยาลัยไทยชอบแข่งกันเองในประเทศ ไม่ยอมออกไปข้างนอกเหมือนอุตสาหกรรม ต้องสู้กับญี่ปุ่น จีน มหาวิทยาลัยไทยก็ต้องสู้กับสิงคโปร์”

อธิการบดี สจล. กล่าวทิ้งท้ายว่า ช่วงปลายเดือน มี.ค.นี้ จะพาตัวแทนมหาวิทยาลัยไทยทั้งราชภัฏ ราชมงคล เอกชน ไปดูงานที่ญี่ปุ่นด้วย เพราะจะไปทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมสมาคมสถาบันการศึกษาอาเซียน ซึ่งจัดที่มหาวิทยาลัยโซกะ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษาญี่ปุ่นฅมาต้อนรับคณะจากไทย จะได้ดูงานการศึกษาของญี่ปุ่นว่าเป็นอย่างไร เพื่อให้เราตื่นตัวแล้วกลับมาฟิต รวมพลังการต่อสู้ มิฉะนั้นการศึกษาของไทยจะสู้ต่างชาติไม่ได้