posttoday

พบทุจริตเงินสงเคราะห์โผล่บึงกาฬงบกว่า2ล้านบาท

19 กุมภาพันธ์ 2561

ป.ป.ท.พบทุจริตเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งโผล่อีกที่บึงกาฬ กว่า 2 ล้านบาท ส่งเจ้าหน้าที่ปูพรมตรวจพื้นที่เป้าหมาย 31 จังหวัดจว.ในพื้นที่งบเกินล้านบาท คาด90 วันสรุปผลได้ทั่วประเทศ

ป.ป.ท.พบทุจริตเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งโผล่อีกที่บึงกาฬ กว่า 2 ล้านบาท ส่งเจ้าหน้าที่ปูพรมตรวจพื้นที่เป้าหมาย 31 จังหวัดจว.ในพื้นที่งบเกินล้านบาท คาด90 วันสรุปผลได้ทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 19 ก.พ. พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เปิดเผยหลังจากลงพื้นที่ จ.บึงกาฬ ตรวจสอบการทุจริตเงินสงเคราะห์ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในพื้นที่ บ้านท่าสะอาด หมู่ 1 ต.ท่าสะอาด อ.เซกา ว่า จากการตรวจสอบพบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ามีรายชื่อรับเงินดังกล่าว และทราบหลังเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.ลงพื้นที่สอบข้อมูล เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา

โดยพฤติการณ์การทุจริตชาวบ้านระบุว่า บางส่วนได้ไปลงทะเบียนฝึกอบรมอาชีพกับหน่วยงานในพื้นที่และนำเอกสารสำเนาบัตรประชาชนไปลงทะเบียนโดยไม่ทราบว่าจะถูกนำหลักฐานมาแอบอ้าง ส่วนผู้สูงอายุที่เขียนหนังสือไม่ได้ก็กลับมีการเซ็นชื่ออย่างเชี่ยวชาญ โดยในพื้นที่หมู่ 1พบว่ามีการแอบอ้างชื่อรับเงินจำนวน 36  คน แต่ได้รับเงินจริงเพียง 4 คน รายละ 3,000 บาท

พ.ท.กรทิพย์ กล่าวว่า พื้นที่ จ.บึงกาฬ มีงบประมาณที่ได้รับมาประมาณ 2 ล้านบาท รวมผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับเงิน 1,239 คน แบ่งเป็นเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย 1.8 ล้านบาท และเงินช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ HIV 1.5 บาท ในส่วนของผู้ติดเชื้อ HIV  จำนวน 60 รายไม่มีปัญหาเพราะยึดตามบัตรประจำตัวผู้ป่วย ส่วนใหญ่จะได้รับเงินทั้งหมด  แต่ในส่วนของชาวบ้านที่จะมีรายชื่อรับเงินคนไร้ที่พึ่ง ใน จ.บึงกาฬ มีจำนวน 1,179 คน แยกเป็นเงิน 1,000 บาท ประมาณ 545 กว่าคน ,2,000 บาท ประมาณ 588 กว่าคน และ 3,000 บาท จำนวน 46 คน  แม้จำนวนเงินจะไม่มากเท่ากับจ.ขอนแก่น หรือเชียงใหม่แต่ก็พบพฤติการณ์ทุจริตที่ถอดแบบมาเหมือนกันตั้งแต่เริ่มจนจบ แต่ก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่าทำเป็นขบวนการหรือไม่

"เรื่องนี้แม้ทุกพื้นที่ที่มีข้อมูลการทุจริต ลักษณะการดำเนินจะเหมือนกัน ก็ยังตอบไม่ได้ว่า ทำเป็นขบวนการแบบเงินทอนวัดหรือไม่ ซึ่งหลังจากนี้ ป.ป.ท.จะต้องปูพรมลงพื้นที่เป้าหมายในพื้นที่ที่ได้งบเกิน 1 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 31 จังหวัด แม้จะมากแต่ก็ต้องสรุปผลให้ได้ภายใน 90 วัน หรือ ภายใน 31 พ.ค.นี้" พ.ท.กรทิพย์ กล่าว

พ.ท กรทิพย์ กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่ที่มีหลักฐานปรากฎชัดเจนแล้วว่ามีการทุจริตเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง คือ 5 จังหวัด คือ ขอนแก่น เชียงใหม่ บึงกาฬ หนองคาย และสุราษฎร์ธานี  ส่วนพื้นที่อื่นๆที่มีข้อมูลพบหลายจังหวัด ทั้งภาคกลาง เหนือ ใต้ แต่ยังไม่ขอเปิดเผย 

อย่างไรก็ตามขณะนี้ป.ป.ท.ได้จัดชุดตรวจสอบ 15ชุดปูพรมตรวจสอบพื้นที่เป้าหมายศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 37ศูนย์เป้าหมายส่อทุจริตจากทั้งหมด 70 แห่ง