posttoday

"เราคิดผิดว่า ทหารต้องดีกว่า กล้ากว่า ซื่อสัตย์กว่า" เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

05 กุมภาพันธ์ 2561

"ผมคิดว่าคนไทยจำนวนหนึ่งกำลังเข้าใจผิด ไปฝากความหวังการเปลี่ยนแปลงประเทศไว้กับระบบทหาร หรือคนดี มันไม่เคยเกิดขึ้นจริง"

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

กิจกรรม “นัดรวมพลประชาชนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช.” กลายเป็นของแสลงกวนใจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถึงขั้นต้องรีบตัดไฟแต่ต้นลม แจ้งข้อหาบรรดาแกนนำหวังตีกรอบควบคุมการเคลื่อนไหวไม่ให้บานปลาย หลังมีมวลชนหลั่งไหลเข้าร่วมกิจกรรม

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้ที่ถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน และยุยงปลุกปั่นตาม ป.อาญา มาตรา 116 นั้น ให้สัมภาษณ์โพสต์ทูเดย์ถึงแนวคิดการออกมาแสดงพลังและทิศทางการเคลื่อนไหวนับจากนี้

“ผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติของประชาชนคนทั่วไปที่มีหน้าที่ตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชั่น รวมทั้งสามารถแสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะ ครั้งนี้ผมไปในฐานะผู้สังเกตการณ์เหมือนหลายๆ ครั้งก่อนหน้านี้ ที่อาจจะคนไม่เยอะเท่านี้ แต่ครั้งนี้คนเยอะ” ​

เนติวิทย์ อธิบายว่า ไม่ได้ไปร่วมกิจกรรมทุกครั้ง แต่ครั้งนี้อยู่ใกล้ที่สกายวอล์ก นิสิตจุฬาฯ ก็มาร่วมกันเป็น 10 คน รวมแล้วมากันร่วม 200 คน ส่วนหนึ่งเพราะครั้งก่อนรวมตัวด้วยเรื่องที่เป็นนามธรรมจับต้องยาก สู้เพื่อเสรีภาพ ไม่เอาเผด็จการ แต่ครั้งนี้ชัดเจน คือเราต้องการเลือกตั้ง รัฐบาลสุจริต

สำหรับเรื่องนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะเป็นเรื่องทุจริตหรือไม่นั้น ไม่ฟันธง แต่การที่คนไม่สามารถตรวจสอบได้ถือว่าผิด หรือการพูดจาบ่ายเบี่ยงประเด็นอย่างยืมเพื่อนมาถือว่าผิด มนุษย์ต้องมีศักดิ์ศรี ต้องเปิดเผย โปร่งใส ขณะที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ทำหน้าที่น่าเสียดายเหลือเกิน

“มันเป็นสิ่งที่น่าเยาะเย้ย สิ่งที่พวกเขาทำในวันนี้ เมื่อลูกหลานกลับมาอ่านในบทเรียน ตำราเรียน ลูกหลานเราจะเสียดายที่เรามีผู้นำที่กลายเป็นแบบนี้ และมีองค์กรที่พร้อมจะช่วยเหลือปกปิดต่างๆ จะไม่ทุจริตก็ไม่เป็นไร แต่การปิดปากคน มองว่าตัวเองถูกอย่างเดียว มันไม่ใช่ ต้องตรวจสอบได้ ประชาชนถามต้องคุยกับเขาดีๆ แต่นี่ไม่มี”

คนระดับรองนายกฯ บอกถ้าประชาชนไม่ต้องการจะลาออก เป็นการเล่นคำทั้งนั้น จะไปฟังประชาชนที่ไหนหรือมาตรฐานตัวไหน ถ้าตัวเองรู้ว่าตัวเองไม่ได้รับความไว้วางใจ มีมลทิน ทำผิดพลาดตรงนี้ เราเป็นทหารด้วย คนก็คิดว่าทหารต้องดีกว่านักการเมือง ต้องกล้ากว่า ซื่อสัตย์​กว่า แต่นี่เราคิดผิด เมื่อคนผิดหวังก็ต้องออกมาไล่ ส่วน พล.อ.ประวิตร จะลงหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ

ส่วนการเลื่อนเลือกตั้งก็เป็นวาทกรรมที่หลอกลวงไปเรื่อยๆ แต่ที่บอกว่าเลือกตั้งแล้วได้นักการเมืองแบบเดิมๆ รอให้ปฏิรูปแก้ไขระบบแล้วค่อยเลือกดีกว่าหรือไม่นั้น จากประสบการณ์ที่ผ่านมาไม่เห็นว่าเลื่อนแล้วจะดีขึ้น ไม่มีการรับฟังมากขึ้น หรืออ่อนน้อมถ่อมตัวมากขึ้น ปิดปากคนมากขึ้น แล้วจะปฏิรูปได้อย่างไร 

“ผมคิดว่าคนไทยจำนวนหนึ่งกำลังเข้าใจผิด ไปฝากความหวังการเปลี่ยนแปลงประเทศไว้กับระบบทหารหรือคนดี มันไม่เคยเกิดขึ้นจริง เราต้องยอมรับกติกาตามประชาธิปไตย อย่าไปคิดว่าเทวดาจะช่วยแก้ปัญหาได้ทันที ต้องค่อยๆ แก้ มีภาคประชาชนเข้มแข็ง เคารพประชาธิปไตย เคารพสิทธิคนอื่น อย่าคิดว่าเลือก สส.คนดีไปคุยในสภาแล้วจะพอ เพราะคนดีไม่ใช่จะดีตลอด ประชาชนต้องช่วยกันตรวจสอบ”

\"เราคิดผิดว่า ทหารต้องดีกว่า กล้ากว่า ซื่อสัตย์กว่า\" เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

มาตรการแจ้งข้อหากับผู้ชุมนุม เนติวิทย์กล่าวว่า เป็นมุขตื้นๆ ใช้วิธีปรามคนที่มารวมตัว ซึ่งเป็นวิธีที่ผิด ถ้ารัฐบาลฉลาดนิดหนึ่ง ปล่อยให้คนอยากทำอะไร ก็เปิดไปตามสิทธิเสรีภาพ รัฐบาลก็ยังจะมีหน้ามีตาขึ้นมานิดหน่อย แต่นี่ไปจับคน ส่งฟ้อง คสช.ยิ่งเสีย ยิ่งไปโยงกับเรื่องนาฬิกาด้วย

“การเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่ผิดอะไรเลย ที่ผ่านมาก็มีการรวมตัวแบบนี้ไม่เห็นแจ้งข้อหาอะไรเลย เขาก็ไปชุมนุมหลายครั้งแล้ว พื้นที่ตรงนี้กลุ่มเดิมก็ใช้มาหลายครั้ง ​แต่ครั้งนี้คงกลัวเป็นพิเศษ เพราะเห็นคนมาเยอะกว่าเดิม 2-3 เท่า นักข่าวก็เยอะ เลยแจ้งข้อหา ส่วนจะทำให้ต่อไปคนออกมาเคลื่อนไหวน้อยลงหรือจะปลุกให้คนออกมามากขึ้น ตรงนี้ยังไม่แน่ใจ แต่สำหรับผมคาดหวังว่าคนไม่ควรจะยอม ถ้าจะจับก็จับให้เป็นร้อยเป็นพัน หรือจะไม่ออกมาก็ไม่รู้เหมือนกัน”

เนติวิทย์ กล่าวว่า การชุมนุมต่อไปจะต้องมีหลายรูปแบบมากขึ้น หากต้องการเอาชนะ คสช. จะต้องครีเอทีฟให้มากขึ้น ต้องมีหลายเทคนิคจูงใจคน รวมทั้งต้องสลายสีเสื้อให้หมด ที่ผ่านมายอมรับว่าเพื่อนเราบางกลุ่มก็ไปสนับสนุน คสช. แต่จะเดินหน้าไม่ได้ถ้ายังมีอคติ

“รัฐบาลทหารเป็นยังไง เราเห็นโทษภัยแล้ว ต่อไปต้องจับมือคุยกัน หาวิธีที่จะทำให้ทุกคนมารวมตัวกัน รู้สึกเป็นพื้นที่ปลอดภัย ของทุกสีทุกฝ่ายในการขับไล่เผด็จการ”

ถามว่าการรวมพลังของประชาชนจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างที่ต้องการได้หรือไม่ เนติวิทย์ มองว่า ไม่แน่ใจ บางทีสิ่งที่อยู่เหนือตัวแปรกว่าที่เราคิด อย่างเรื่องความไม่โปร่งใส ไม่รู้ตัวไหนจะเป็นปัจจัยที่มีผลต่อระบบการเมืองมากกว่ากัน

“แต่ระบบทหารเป็นพวกเดียวกัน สนช.ส่วนใหญ่ก็เป็นทหาร เขาไม่มีฝ่ายค้าน ถ้ามีก็จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประชาชนก็จะเห็น​นี่คือประเด็นปัญหา โทษโกรธแค้นกันไม่ได้ คนไทยก็ต้องยอมรับกรรม”

ในแง่พลังของคนรุ่นใหม่นั้นยังมีอยู่ทุกหย่อมหญ้า แต่ปัญหาของเราคือไม่มีการนำที่ดี ต้องมีกิจกรรมเข้าถึงคนแต่ถ้าจะไปเทียบกับ 14 ต.ค. 2516 ก็คงเทียบกันไม่ได้ เพราะเงื่อนไขบริบทสังคมเปลี่ยนแปลงไป เราต้องคิดกันว่าจะทำยังไงกันดี

“โทษเด็กอย่างเดียวไม่ได้ เมื่อเงื่อนไขเปลี่ยน คนที่อยากเปลี่ยนแปลงก็ต้องคิดว่าทำยังไง ให้ตอบโจทย์ ให้เกิดพลัง ไม่จำเป็นต้องรวมตัวเป็นแสนๆ ล้านๆ ​จะตอบโต้ทหารในอินเทอร์เน็ตยังไง บางเรื่องที่กระทบกับเขาก็จะทำให้มีคนออกมาอย่าง พ.ร.บ.คอมพ์ ก็มีคนออกมาค้านกันมาก”

\"เราคิดผิดว่า ทหารต้องดีกว่า กล้ากว่า ซื่อสัตย์กว่า\" เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

เนติวิทย์ กล่าวว่า ช่วงใกล้จุดจบของ คสช. การต้องมาติดคุกติดตะรางเพราะความไม่อยุติธรรมนั้นเป็นเกียรติมากกว่าเป็นโทษ ถามว่าดีใจไหมหากต้องมาติดคุกก็คงไม่ดีใจ แต่หากต้องติดประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้

ทั้งนี้ ข้อหาการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.นั้น คำสั่งพวกนี้มีที่มาถูกต้องที่ไหน เราไปอย่างสงบสันติ เป็นเรื่องปกติของพลเมืองที่จะใช้สิทธิตัวเองตามรัฐธรรมนูญ​ คสช.​บอกตัวเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์จะเป็นได้อย่างไร เพราะไม่ได้รับการยินยอมจากประชาชน คำสั่ง คสช.มาจากคนกลุ่มเดียว ไม่ชอบธรรมตั้งแต่แรกและไม่ยิ่งใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ