posttoday

ย้อนรอยแนวศาลฎีกาฯ

23 สิงหาคม 2560

ในรอบทศวรรษที่ผ่านมานี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นที่รู้จักของสังคมมากขึ้นหลังจากมีคดีความหลายคดีที่นักการเมืองต้องอยู่ในสภาพเป็นจำเลย

ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ในรอบทศวรรษที่ผ่านมานี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นที่รู้จักของสังคมมากขึ้น หลังจากมีคดีความหลายคดีที่นักการเมืองต้องอยู่ในสภาพเป็นจำเลย

ศาลฎีกาฯ เป็นองค์กรที่เกิดขึ้นมาจากผลพวงของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ภายใต้หลักการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้มีประสิทธิภาพและเกิดความรวดเร็ว จากเดิมที่อรรถคดีส่วนมากแล้วต้องนำเข้าสู่ระบบการพิจารณาของศาลยุติธรรมปกติ ทำให้แต่ละคดีต้องใช้เวลาวินิจฉัยค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม แม้ศาลฎีกาฯ จะเป็นศาลที่เกิดขึ้นมาใหม่ แต่ในช่วง 10 ปีมานี้ได้มีคดีความเข้าสู่การพิจารณาของศาลพอสมควร โดยเฉพาะภายหลังเกิดการรัฐประหารปี 2549 ที่มีการตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เพื่อตรวจสอบการทุจริตที่เกิดขึ้นในรัฐบาลของ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเรียกได้ว่านับจากนั้นมาคนในครอบครัวชินวัตรต้องทยอยเดินขึ้นศาลเป็นว่าเล่น โดยกลุ่มคดีที่เกี่ยวข้องกับคนในครอบครัวชินวัตร มีหลายคดีที่น่าสนใจและมีผลการตัดสินออกมาแล้วดังนี้

ยึดทรัพย์ "ทักษิณ"

คดีการซื้อขายที่ดินถนนรัชดาภิเษก ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2551 การที่ทักษิณลงนามยินยอมให้คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ภรรยา ในฐานะคู่สมรส เข้าร่วมประมูลซื้อที่ดินจากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันเป็นคู่สัญญา หรือมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ และเป็นเจ้าพนักงาน และสนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 โดยให้ลงโทษจำคุก 2 ปี

คดียึดทรัพย์ทักษิณ 4.6 หมื่นล้านบาท เป็นคดีประวัติศาสตร์ในทางการเมือง เพราะเป็นคดีที่ คตส.ใช้เวลาไต่สวนและต้องต่อสู้ในทางการเมืองเป็นเวลานาน แต่ที่สุดแล้วก็สามารถทำสรุปคดีและส่งให้อัยการสูงสุดฟ้องต่อศาลฎีกาฯ ได้เป็นผลสำเร็จ

ทั้งนี้ สาระสำคัญของคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2553 คือ ทักษิณใช้อำนาจหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น ทำให้มูลค่าหุ้นสูงขึ้น จึงเป็นที่มาของการพิพากษายึดทรัพย์เป็นมูลค่า 4.6 หมื่นล้านบาท

"นายกฯ มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา เป็นหัวหน้ารัฐบาลมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารทุกกระทรวง ทบวง กรม และรัฐวิสาหกิจ เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาใช้อำนาจในตำแหน่งนายกฯ เอื้อประโยชน์ธุรกิจครอบครัวตามคำร้องจริง ศาลจึงมีมติด้วยเสียงข้างมาก มีคำสั่งให้เงินซื้อขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป จำนวน 39,774,168,325.70 บาท และเงินปันผลที่ได้จากการขายหุ้นทั้งหมด จำนวน 6,898,722,129 บาท รวมเป็นเงินทั้งหมดจำนวน 46,373,687,454.70 บาท" ส่วนหนึ่งจากคำพิพากษาประวัติศาสตร์

ยกฟ้อง "สมชาย"

นอกเหนือไปจากคดีที่ทักษิณเป็นจำเลยโดยตรงแล้ว ยังมีอีกหลายคดีที่คนในครอบครัวต้องขึ้นศาลด้วย เช่น กรณีของ "สมชาย วงศ์สวัสดิ์" เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้สั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 ซึ่งศาลฎีกาฯ ได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 2 ส.ค. วินิจฉัยว่าอดีตนายกฯ สมชายไม่มีความผิด

"แม้เหตุการณ์จะมีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่ศาลเห็นว่าในสถานการณ์เช่นนั้นเป็นการยากสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะรู้ว่าแก๊สน้ำตาจะเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยเมื่อเหตุการณ์ชุมนุมยังไม่สงบ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติเพื่อรักษาความสงบไม่ให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของทางราชการ ข้อเท็จจริงจากทางนำสืบจึงยังฟังไม่ได้ว่ามีเจตนาพิเศษเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำร้ายผู้ชุมนุมให้ได้รับอันตรายแก่กายและเสียชีวิต" คำพิพากษาให้สมชายเป็นผู้บริสุทธิ์

คดีรถดับเพลิงติดคุก 10 ปี 

ขณะเดียวกัน ใช่ว่าศาลฎีกาฯ จะพิจารณาวินิจฉัยเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับคนของครอบครัวชินวัตรอย่างเดียว เพราะยังมีอีกสำคัญที่ศาลฎีกาฯ ได้พิพากษาให้จำคุก ซึ่งเป็นคำพิพากษาที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการทุจริตข้ามชาติอย่างแท้จริง คือ คดีการซื้อขายรถดับเพลิง

คดีนี้ศาลฎีกาฯ พิพากษาให้จำคุก ประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย เป็นเวลา 12 ปี และให้จำคุก พล.ต.ต. อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. เป็นเวลา 10 ปี ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542

นอกจากนี้ หากดูแนวทางการพิจารณาวินิจฉัยของศาลฎีกาฯ ในหลายคดีที่ผ่านมาก็ปรากฏว่ามีการยกฟ้องและให้จำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ รวมไปถึงการพิพากษาให้มีความผิดแต่ให้รอการลงโทษเอาไว้ก่อน

ตัดสินให้ผิดแต่รอลงอาญา

อย่างในคดีจัดซื้อกล้ายางพารา ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ และเป็นคดีที่ คตส.ลงมือไต่สวนอย่างเข้มข้น แต่ศาลฎีกาฯ ได้พิพากษาเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2552 ยกฟ้องและให้จำเลยทุกคนพ้นข้อกล่าวหา

"เมื่อ คชก. (คณะกรรมการนโยบายและช่วยเหลือเกษตรกร) เห็นว่ามีความจำเป็นต้องช่วยเหลือเกษตรกรภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และหากอยู่ในระเบียบราชการ ก็สามารถทำได้ พื้นที่ปลูกยางมี 1 ล้านไร่ ราคายางกำลังปรับตัวสูง หากช่วยเกษตรกรปลูกยางจะทำให้มีรายได้เข้าประเทศมากขึ้น ดังนั้นมีเหตุสมควรที่จะทำไปโดยยกเว้นมติ ครม. ที่ห้ามเอาเงินกองทุนรวมไปทำโครงการ การทำกล้ายางจึงอยู่ในวัตถุประสงค์ของรัฐ"

เช่นเดียวกับคดีโครงการออกสลากเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว (หวยบนดิน) ซึ่งศาลฎีกาฯ พิพากษาให้ "วราเทพ รัตนากร" อดีต รมช.คลัง "สมใจนึก เองตระกูล" อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล และ "ชัยวัฒน์ พสกภักดี" อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มีความผิดและให้จำคุก แต่ให้รอลงอาญา

"พิพากษาว่า วราเทพ สมใจนึก ชัยวัฒน์ กระทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ แต่จำเลยทั้งสามไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน ประกอบกับพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นสมควรให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามไว้คนละ 2 ปี"

ทั้งหมดนี้ เมื่อดูทิศทางการพิจารณาของศาลฎีกาฯ ในหลายคดีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามีคำพิพากษาที่ออกมาแล้วทุกหน้า ทั้งให้จำคุก ยึดทรัพย์ ยกฟ้อง หรือแม้แต่รอลงอาญา

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากที่จะวิเคราะห์ว่าผลคำพิพากษาที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาฟังด้วยตัวเองในวันที่ 25 ส.ค. จะเป็นอย่างไร เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับ ผู้พิพากษาทั้ง 9 คน