posttoday

งานใหญ่ท้าพิสูจน์ปลัดคลังมือใหม่

22 กันยายน 2553

1ต.ค. 2553 เป็นวัน “ดีเดย์” ของนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม อธิบดีกรมสรรพสามิต จะก้าวขึ้นเป็นปลัดกระทรวงการคลังใหม่ถอดด้าม กุมบังเหียนกระทรวงเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของประเทศ

1ต.ค. 2553 เป็นวัน “ดีเดย์” ของนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม อธิบดีกรมสรรพสามิต จะก้าวขึ้นเป็นปลัดกระทรวงการคลังใหม่ถอดด้าม กุมบังเหียนกระทรวงเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของประเทศ

โดย...ทีมข่าวการเงิน

1ต.ค. 2553 เป็นวัน “ดีเดย์” ของนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม อธิบดีกรมสรรพสามิต จะก้าวขึ้นเป็นปลัดกระทรวงการคลังใหม่ถอดด้าม กุมบังเหียนกระทรวงเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของประเทศ

งานใหญ่ท้าพิสูจน์ปลัดคลังมือใหม่

ในวัย 53 ปี นายอารีพงศ์ก้าวขึ้นในตำแหน่งสูงสุดของชีวิตข้าราชการได้อย่างรวดเร็ว และก็ถูกจับตามองอย่างมากว่า ปลัดหนุ่มคนนี้ซึ่งไม่เคยผ่านงานสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และเพิ่งผ่านงานกรมภาษีมาเพียงแห่งเดียวในช่วงเวลาเพียง 1 ปี จะโชว์ฝีไม้ลายมือและศิลปะการบริหารงานในตำแหน่งใหญ่ด้านเศรษฐกิจนี้ได้ดีมากน้อยขนาดไหน

1 ปี ในตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพสามิต แม้จะเป็นช่วงเวลาที่สั้นมากในการแสดงฝีมือการทำงาน แต่ว่าที่ปลัดคลังคนใหม่ก็สร้างผลงานเข้าตา นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ไม่น้อย ถึงกล้าที่จะผลักดันขึ้นเก้าอี้สูงสุด

ด้วยความที่เป็นคนหนุ่มไฟแรง กล้าตัดสินใจ ชาติตระกูลดี มีรสนิยม เรียนจบเมืองนอกตั้งแต่ปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก ทำให้นายอารีพงศ์เป็นข้าราชการหนุ่มที่มีวิสัยทัศน์ฉีกกรอบการบริหารราชการแบบเดิม
เป็นจุดเด่นสำคัญทำให้นายอารีพงศ์พลิกโฉมกรมสรรพสามิต ที่ได้ชื่อว่าอยู่ในแดนสนธยาให้เป็นกรมที่ทันสมัย มีการเปลี่ยนรูปแบบที่ทำงานเป็น “โมเดิร์นออฟฟิศ” จัดที่ทำงานสำนักงานทันสมัย ให้ผู้รับบริการไม่รู้สึกเหมือนเดิมอีกต่อไป

ยังนำระบบไอทีเข้ามาทำงานในกรมทุกๆ ขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการรับแบบภาษีจากผู้ประกอบการ การออกใบอนุญาตผ่านระบบไอทียุคใหม่ ทิ้งกระบวนการทำงานด้วยคนที่มีกองเอกสารต่างๆ เป็นภูเขา ให้บริการล่าช้าต้องใช้เวลาข้ามวันข้ามคืน ซึ่งเป็นรูปแบบของกรมทิ้งไปจนไม่เหลือภาพเดิมๆ

ที่สำคัญ นายอารีพงศ์ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่เป็นอันดับหนึ่ง ได้มีการอบรมเจ้าหน้าที่ของกรมถึง 3 พันคน ใน 1 ปี ที่ผ่านมา ทั้งด้านการเก็บภาษี เพื่อให้มีศักยภาพและเข้าใจยุทธศาตร์ของกรมที่จะเดินไปข้างหน้าในทิศทางเดียวกันผลงานดังกล่าวทำให้กรมสรรพสามิตได้รับเสียงชื่นชมจากผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก เพราะได้รับความสะดวกสบายในการยื่นแบบการเสียภาษี ทำให้ธุรกิจเดินหน้าได้ราบรื่น วางแผนการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ผลงานในระดับกรมที่เป็น “ใบเบิกทาง” ก็ไม่สามารถเป็นเครื่องการันตีความสำเร็จในตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลังได้ว่า จะออกมาสวยงามหรือไม่

ความท้าทายในตำแหน่งปลัดคลังคนใหม่ หนีไม่พ้นการนำพาเศรษฐกิจให้รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจในต่างประเทศ และปัญหาการเมืองภายในประเทศที่ดูเหมือนจะปะทุได้อยู่ทุกเมื่อ

แน่นอนว่านายอารีพงศ์ไม่มีเวลาฮันนีมูนในตำแหน่งนี้เพื่อเรียนรู้งานใหม่ได้เป็นปี เพราะ รมว.คลัง ขีดเส้นตายไว้แล้วว่า ภายใน 3 เดือนหลังจากที่รับตำแหน่งใหม่ ปลัดคลังจะต้องตกผลึกทำแผนยุทธศาสตร์เดินหน้าในระยะยาว เพื่อนำมาปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม

แค่เริ่มต้นก็ไม่ง่ายเสียแล้ว เพราะว่าในการโยกย้ายตำแหน่งกระทรวงการคลังที่ผ่านมา นอกจากตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลังแล้ว ในตำแหน่งระดับอธิบดีมีการเปลี่ยนทุกกรม ยกเว้น สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เท่านั้น ที่ยังเป็นผู้บริหารคนเดิม

ทำให้หัวหน้าของแต่ละหน่วยงานต้องรีบเรียนรู้งานใหม่ เพื่อเสนอยุทธศาสตร์แต่ละกรมกองมาผสมผสานก่อนเป็นยุทธศาสตร์ของกระทรวงเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งหากเร่งรีบจนเจ้ากรมกองยังไม่ได้เรียนรู้งานอย่างเต็มที่ จะส่งผลให้ยุทธศาสตร์ในภาพรวมของกระทรวงอาจจะไร้ทิศทาง และไร้พลังในการดูแลเศรษฐกิจ

สำหรับโจทย์ใหญ่ยุทธศาสตร์กระทรวงการคลัง ที่ผู้ประกอบการคาดหวังมากที่สุดอย่างหนีไม่พ้นคือการปรับโครงการสร้างภาษีใหม่

ไล่ไปตั้งแต่โครงสร้างภาษีของกรมสรรพากร เรื่องการลดภาษีนิติบุคคล เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน จากที่เก็บอยู่ 30% ให้เหลือ 27% หรือ 25% ตามที่ผู้ประกอบการร้องขอจะมีความชัดเจนในเมื่อไหร่

และถ้าลดภาษีนิติบุคคลแล้วภาษีบุคคลจะต้องลดด้วยหรือไม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บอยู่ 7% จะเพิ่มกลับไปเป็น 10% เมื่อไร เพื่อสร้างความยั่งยืนฐานะการเงินการคลังในระยะยาว

ในส่วนของภาษีกรมสรรพสามิต กรมที่ปลัดคลังคนใหม่ยังต้องสะสางอยู่ไม่ใช่น้อย คือเรื่องการปรับฐานราคาสินค้าที่จะมาเป็นภาษีสรรพสามิต ควรเปลี่ยนจากราคาหน้าโรงงานมาเป็นราคาขายปลีก เพื่อไม่ให้การเก็บภาษีมีปัญหารั่วไหลเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่ เรียกว่าไม่ใช่งานเล็กๆ

เพราะเรื่องของการลดเพิ่มภาษีจะมีคนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ซึ่งโดยส่วนใหญ่คนที่ได้ประโยชน์ก็จะเป็นผู้ประกอบการหรือคนรวยมีรายได้ดี และคนที่เสียประโยชน์ก็หนีไม่พ้นคนหาเช้ากินค่ำ
หรือที่พูดกันเรื่อยมาว่า หากลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและไปเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งประชาชนรวยจนต้องจ่ายเท่ากัน อย่างนี้เป็นการปรับโครงสร้างภาษีที่เหมาะสมหรือไม่ แค่โจทย์นี้ว่าที่ปลัดคลังคนใหม่เห็นทีต้องอธิบายกันยาวแล้ว

นอกจากนี้ ว่าที่ปลัดคลังคนใหม่ยังมีงานช้างที่ต้องสานต่อจากปลัดคลังคนเก่า นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ที่ไปลงนามเอ็มโอยูกับผู้อำนวยการสำนักงบประมาณไว้ว่าจะทำงบสมดุลภายใน 5 ปี
หมายความว่านับจากปี 2554 ที่ขาดดุลอยู่ 4.2 แสนล้านบาท จะต้องสมดุลให้ได้ภายในปีงบประมาณ 2558

ที่หนักไปกว่านั้นเรื่องนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะผลักดันเป็นกฎหมายเพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ให้เป็นสัญญาปากเปล่า หาเสียงทางการเมืองไปวันๆ

ภายใต้แผนงบสมดุล 5 ปี ต้องมีบูรณาการรายรับ รายจ่าย รวมถึงหนี้สินของประเทศครั้งใหญ่ ภายใต้ของคณะกรรมการที่จะถูกตั้งขึ้นมาขับเคลื่อนเรื่องนี้ โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นหัวเรือใหญ่
ดังนั้น การทำงบสมดุลภายใน 5 ปี ก็จะเป็นฝันร้ายของว่าที่ปลัดกระทรวงการคลังคนใหม่ก็ได้

ขณะที่นโยบายจากฝ่ายการเมือง คือการแก้ปัญหาหนี้สินนอกระบบ ให้โอนเข้ามาในระบบ ซึ่งในส่วนนี้ยังต้องมีการสานต่อไปให้ครบทั้ง 1 ล้านรายที่มาลงทะเบียนไว้

นอกจากนี้ ยังให้มีการตั้งสำนักงานจัดการทางการเงินภาคประชาชน ภายใต้การดูแลของสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อขับเคลื่อนทางนโยบายให้ครบวงจรทั้งระบบ รวมทั้งการฉ้อโกง การทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม และการสนับสนุนรายย่อยเข้าถึงสินเชื่อ หรือไมโครไฟแนนซ์

และที่อยู่ระหว่างการดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรม คือตั้งบริษัท ไปรษณีย์ไทย เป็นช่องทางในการปล่อยสินเชื่อให้รากหญ้า

การตั้งสำนักงานเพื่อขึ้นมาดูหนี้สินภาคประชาชน ทางฝ่ายการเมือง ต้องการให้การดำเนินการในเชิงนโยบายมีความต่อเนื่อง ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่นโยบายการแก้ไขหนี้ภาคประชาชนต้องเป็นภาระกิจที่กระทรวงการคลังต้องดำเนินการต่อไป เพื่อให้แก้ปัญหาสำเร็จไม่ขาดช่วง

ต้องถือว่า เรื่องการแก้ไขหนี้ภาคประชาชนไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย และยากไม่แพ้การแก้ไขเศรษฐกิจ เพราะการตั้งสำนักงานเป็นการเหมือนการันตีว่าจะมีการแบกรับหนี้สินภาคประชาชนเป็นงานหลักของกระทรวงอีกงานหนึ่ง

ดังนั้นหากตั้งต้นไม่ดี นอกจากจะแก้ปัญหาไม่ได้อย่างที่ตั้งหวังไว้ ยังอาจจะเป็นเพิ่มภาระของกระทรวง เป็นหนามต่ำผลงานของกระทรวงการคลังที่ไม่ประสบความสำเร็จอีกงานหนึ่ง

แค่ดูงานหลัก การวางยุทธ์ศาสตรการคลังระยะยาวให้ได้ภายใน 3 เดือน การทำงบประมาณสมดุลภายใน 5 ปี และการแก้ไขหนี้ภาคประชาชน ก็ทำให้ว่าที่ปลัดคลังคนใหม่ไม่มีเวลาหายใจแล้ว เพราะแต่ละงานมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องทำกันอีกมากมายหมาศาล

ปลัดกระทรวงการคลังมือใหม่จึงไม่มีโอกาสพลาดแม้แต่น้อย เพราะการเมืองที่ไม่นิ่ง การเปลี่ยนขั้วรัฐบาลยังเกิดขึ้นได้เสมอในเวลาอันใกล้ เพื่อนร่วมงานในกระทรวงที่เป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่อีกหลายคนที่ “พร้อมเสียบ” ขึ้นเป็นปลัดคลังโชว์ฝีไม้ลายมือ

สิ่งต่างๆ ล้วนเป็นแรงกดดันว่าที่ปลัดคนใหม่ที่ชื่อ “อารีพงศ์” ทั้งนั้น แต่ในวิกฤตก็ถือเป็นโอกาสเสมอ ไม่มีสถานการณ์ก็ “ไม่มีฮีโร่” และบทพิสูจน์นี้จะเป็นทองชุบตัวว่าที่ปลัดคลังคนใหม่เป็นของจริง ไม่ใช่หนุ่ม “ละอ่อน” ที่หลายคนปรามาสไว้