posttoday

4 ปีน้ำมันดิบรั่วที่ระยอง ปลายังหาย สัตว์ทะเลหนี ประมงตกงาน

28 กรกฎาคม 2560

"4 ปีที่น้ำมันดิบรั่วไหลที่ จ.ระยอง การแก้ไขยังคงไม่ชัดเจน และยังไม่มีการสำรวจคราบน้ำมันตกค้างอย่างครอบคลุม หนทางแก้ไขคือต้องมีการสำรวจใหม่เพื่อฟื้นฟูอ่าวระยองให้ยั่งยืน "

โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ

เป็นเวลาครบ 4 ปี นับจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เมื่อน้ำมันดิบ 5 หมื่นลิตร รั่วไหลจากเรือบรรทุกที่กำลังถ่ายน้ำมันดิบจำนวนดังกล่าวมายังโรงกลั่นน้ำมันของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC เมื่อเดือน ก.ค. 2556 ส่งผลให้ขณะนั้นชายฝั่งเกาะเสม็ด รวมถึงพื้นที่ชายฝั่งอื่นๆ ของ จ.ระยอง ถูกปกคลุมไปด้วยคราบน้ำมัน

หาดทรายที่สวยงาม น้ำทะเลสีฟ้าสวยกลายเป็นสีดำ ทรัพยากรทางทะเลหดหายจากรายงานของชาวประมงในพื้นที่ แม้ว่าหลังเกิดเหตุ PTTGC ได้ขอโทษ และพร้อมจะชดเชยให้กับผู้ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ 

เวลาที่ผ่านพ้นไป 4 ปีเต็ม ทุกวันนี้สถานการณ์จากผลกระทบน้ำมันดิบรั่วไหลต่อคนในพื้นที่เป็นอย่างไร และเราได้เรียนรู้รับมือกับเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงนี้ในอนาคตรูปแบบไหน เสียงจากวงเสวนา “4 ปี น้ำมันรั่วระยอง บทเรียนจากอดีตสู่ปัจจุบันในการจัดการภัยพิบัติภาคอุตสาหกรรม” จัดโดย ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม จึงสะท้อนออกมาเพื่อหาคำตอบ

ไพบูลย์ เล็กรัตน์ ชาวประมงเรือเล็กจาก อ.เมือง จ.ระยอง บอกเล่าถึงวิถีชีวิตของชาวประมงหลังเกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รัฐบาลมุ่งเน้นฟื้นฟูด้านการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่ทว่าความจริงสภาพปัญหาด้านทรัพยากรทางทะเลยังคงอยู่และไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งสัตว์น้ำที่เป็นแหล่งทำกินของชาวประมงที่น้อยลง หายาก ตายเร็ว และกลายพันธุ์ ชาวประมงถามผู้เฒ่าผู้แก่ในพื้นที่ ต่างก็ได้คำตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เคยเจอเรื่องแบบนี้ ท้องทะเลไม่เคยมีปัญหาเช่นนี้มาก่อน ผลที่ว่าน่าจะเป็นผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหล

“แม้ตลอด 4 ปี PTTGC และรัฐบาลจะสร้างแหล่งอาศัยเพื่อสัตว์น้ำ แต่สถานการณ์มันไม่ได้ดีขึ้น ปลาทุกวันนี้มันน้อยลง หากว่าดีจริงเราคงมีปลาให้จับให้หาเลี้ยงตัวเองอย่างมโหฬาร” ไพบูลย์ สะท้อนภาพปัญหา

หนทางแก้ไขสำหรับชาวประมงเรือเล็กในพื้นที่ ไพบูลย์ยืนยันว่าไม่ได้ต้องการฟ้องร้องเพื่อหาคนผิดมารับผิดชอบ แต่ต้องการให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหันมาช่วยกันฟื้นฟูทะเลระยองอย่างจริงจังและให้เห็นผลเป็นรูปธรรม เพราะทะเลคือชีวิตของชาวประมง หากทะเลไม่ได้ดีขึ้นหรือไม่ได้รับการฟื้นฟู ก็ทำให้อนาคตของลูกหลานลำบาก เพราะไร้หลักประกันในการดำรงชีพ

ไม่ต่างจาก นวรัตน์ ธูปบูชา ชาวประมงอีกคน เล่าถึงความผิดปกติของท้องทะเลระยอง ว่า ในทุกวันนี้ยังคงมีคราบน้ำมันถูกซัดมาที่ชายหาดเป็นประจำ ชาวบ้านชาวประมงในพื้นที่ก็ต้องช่วยกันเก็บขึ้นมา แต่เหนืออื่นใดชาวประมงเรือเล็กต้องออกทะเลไปไกลขึ้นเพื่อจับปลามาขาย บ้างไปถึง จ.ตราด หรือบ้างไปถึง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพราะในพื้นที่ไม่อาจเหลือสิ่งใดให้เราได้ทำกิน

“หรือชาวประมงบางคนต้องหยุดทำประมง ออกไปรับจ้างเรือใหญ่ ออกไปเป็น รปภ. ปั่นสามล้อ หรือบางส่วนยังคงจับปลาในพื้นที่ แต่ปลาก็ผิดปกติ ตาบอด มีเนื้องอก เคยหรือกะปิที่เคยมีชื่อเสียงของระยองก็แทบจะไม่มีแล้ว สิ่งเหล่านี้คือผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลมา 4 ปี” นวรัตน์ เล่า

ขณะที่การตรวจสอบสารเคมีและสารพิษปนเปื้อนจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหล หน่วยงานหลักที่เข้าตรวจสอบอย่างกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งสุเมธา วิเชียรเพชร ผู้อำนวยการสำนักจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ ยืนยันในวงเสวนาว่าผลการตรวจสอบสารพิษที่ก่ออันตรายต่อคนอยู่ในค่าที่ลดลงจนเกือบจะเป็นภาวะปกตินับตั้งแต่ 3 เดือนให้หลังเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหล ซึ่งผลตรวจสอบจากฝ่ายวิชาการของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ลงพื้นที่ทำรายงานออกมายืนยันเรื่องนี้ แต่การควบคุมมลพิษก็ยังติดตามสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่อง

“สารปรอท โลหะเหล็ก หรือสารพิษต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของคนในพื้นที่แทบไม่มี แต่ก็เป็นอีกเรื่องที่ต่างคนต่างมุมมอง เพราะเราไม่ได้มีหน้าที่ตรวจสอบ หรืออาจไม่ได้ตรวจสอบและวิจัยผลกระทบด้านประมง จึงไม่อาจฟันธงได้ว่าสารเคมีต่างๆ มีผลอย่างไรต่อประมงในท้องทะเล จ.ระยอง เพียงแต่งานวิจัยของเรามุ่งเน้นไปที่เรื่องผลกระทบด้านสุขภาพมากกว่าทรัพยากรทางทะเล” สุเมธา ย้ำ

อาภา หวังเกียรติ ผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ยกตัวอย่างการฟื้นฟูทะเลหลังเหตุการณ์น้ำมันรั่ว เทียบเคียงจากต่างประเทศสู่เมืองไทย ว่า การฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาน้ำมันดิบรั่วไหลของ PTTGC คือการใช้สารสลายน้ำมันที่มีชื่อว่า Slickgone NS ซึ่งเป็นสารที่กรมควบคุมมลพิษอนุญาตให้ใช้ อย่างไรก็ตาม สารสลายน้ำมันดังกล่าวหากใช้ในสัดส่วนที่มากเกินไปจะมีพิษต่อสัตว์น้ำในทะเล ซึ่งต่างชาติมีรายงานชัดเจนเกี่ยวกับสารสลายชนิดนี้ว่า หากใช้ปริมาณ 75% จะทำให้ปะการังตายได้ในทันที ขณะเดียวกันองค์ประกอบของสารเคมีในน้ำมันดิบก็มีสารพิษอยู่แล้ว ยิ่งบวกเพิ่มกับสารพิษของสารสลายน้ำมันก็ยิ่งสร้างปัญหาเข้าไปอีก

อาภายกตัวอย่างเหตุการณ์รั่วไหลของน้ำมันดิบครั้งสำคัญของโลกที่ถูกเรียกว่า การรั่วไหลน้ำมันดิบของบีพี หรือการรั่วไหลน้ำมันดิบในอ่าวเม็กซิโก ที่สหรัฐ เมื่อปี 2553 เหตุการณ์ครั้งนั้นมีการนำสารสลายน้ำมันมาใช้เช่นกัน แต่เมื่อสารดังกล่าวผสมกับน้ำมันดิบยังก่อให้เกิดสารพิษในปริมาณสูงถึง 52 เท่า และส่งผลกระทบโดยตรงกับทรัพยากรทางทะเล

“ก่อนหน้านี้โลกไม่รู้ว่าสารสลายน้ำมันดิบมันมีพิษ กระทั่งมีการตรวจสอบและทดลองจึงพบว่ามีพิษสูงอย่างมาก” อาภา กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองย้อนกลับมายังเหตุการณ์ที่ จ.ระยอง อาภากล่าวถึงผลการตรวจสอบเรื่องทรัพยากรทางทะเลกับชาวประมงในพื้นที่ ทำให้เห็นภาพว่าสัดส่วนการลดลงของสัตว์น้ำที่สำคัญเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเคย ที่ปี 2559ลดลงถึง 95% หรือปู ลดลงไป 50% รวมถึงปลาอินทรี ของขึ้นชื่อของ จ.ระยอง ก็หายไปกว่า 60% เช่นกัน นอกจากนี้ ชาวประมงในพื้นที่ยังสะท้อนว่านับตั้งแต่เหตุกาณ์น้ำมันดิบรั่วไหล มีเต่าทะเลตายในเขต อ.แกลง ไปกว่า 280 ตัว แต่ละตัวมีขนาดราว 4 กิโลกรัม และที่น่าสนใจคือไม่มีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ในพื้นที่เกาะเสม็ดอีกเลย

“4 ปีที่น้ำมันดิบรั่วไหลที่ จ.ระยอง การแก้ไขยังคงไม่ชัดเจน และยังไม่มีการสำรวจคราบน้ำมันตกค้างอย่างครอบคลุม หนทางแก้ไขคือต้องมีการสำรวจใหม่เพื่อฟื้นฟูอ่าวระยองให้ยั่งยืน ภาครัฐต้องดึงคนในพื้นที่ ดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และแน่นอนที่สุดว่าผู้ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางทะเลครั้งนี้จะต้องเข้ามามีส่วนในการรับผิดชอบด้วย” อาภา ทิ้งท้ายในวงเสวนา

บรรยายภาพ - เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมหลังนำมันดิบกว่า 5 หมื่นลิตร รั่วกลางทะเลอ่าวไทย จ.ระยอง เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2556 ส่งผลกระทบต่อสัตว์นำและชาวประมงจนถึงปัจจุบัน