posttoday

บิ๊กป้อมแจงไม่ต้องลงนามเอ็มโอยูปรองดอง แต่ต้องมาคุยกัน

23 มกราคม 2560

พล.อ.ประวิตรชี้ทุกฝ่ายไม่ต้องลงนามเอ็มโอยูปรองดองก็ได้ ขอแค่มาคุย-ตกลงเป็นสัญญาประชาคม ชี้ "ยิ่งลักษณ์-อภิสิทธิ-สุเทพ" หนุนปรองดอง

พล.อ.ประวิตรชี้ทุกฝ่ายไม่ต้องลงนามเอ็มโอยูปรองดองก็ได้ ขอแค่มาคุย-ตกลงเป็นสัญญาประชาคม ชี้ "ยิ่งลักษณ์-อภิสิทธิ-สุเทพ" หนุนปรองดอง

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงรายชื่อ คณะกรรมการสามัคคีปรองดองในส่วนของ กระทรวงกลาโหมว่า ใกล้เสร็จแล้ว ตอนนี้ปรับแก้ให้กระชับขึ้นและเพิ่มนักวิชาการรวมทั้งกฤษฎีกานักกฎหมายเข้ามาด้วยคาดว่าอีก 1-2วันนี้จะเสร็จ และเริ่มต้นทำงาน 1 ก.พ.นี้ทันโดยวันพุธนี้จะมีการประชุมกันก่อน

พล.อ.ประวิตร กล่าวถึงข่าวการทาบทาม นพ.ประเวศ วะสี, นายอานันท์ ปันยารชุน และ นายคณิต ณ นคร มาร่วมเป็นกรรมการปรองดอง ว่า กระทรวงกลาโหมไม่ได้เป็นคนทาบทามแต่อาจเป็นในส่วนของปยป.แต่หากเชิญมาก็คงมาทำหน้าที่รับฟังคงไม่ได้ยึดตามแนวคิดของท่านเหล่านั้นที่เชิญมา

"ผมมั่นใจว่า ปรองดองจะสำเร็จ เพราะเป็นการมาพูดคุยทีละพรรค ทีละกลุ่ม ไม่ได้ให้มาถกเถียงกันแค่เสนอแนวคิดความต้องการที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและมีกติการ่วมกันอย่างไรเท่านั้น ไม่ใช่ให้มากอดคอ จูบปาก ขอแค่มาพูดคุยว่าต้องการอะไร"พล.อ.ประวิตรกล่าว

พล.อ.ประวิตรกล่าวอีกว่า จะลงนามในเอ็มโอยูหรือไม่ก็ได้ เพราะถ้าไม่ทำตามที่ได้มาพูดคุยไว้ ประชาชนก็จะเป็นคนตัดสินเองว่าเป็นอย่างไร ก็คล้ายๆเป็นสัญญาประชาคม อีกทั้งในการพูดคุยเราจะมีการบันทึกเป็นเอกสารภาพถ่ายและบันทึกเทปไว้ด้วย

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ตอนนี้แกนนำพรรคต่างๆก็ออกมาขานรับกระบวนการสร้างสามัคคีปรองดอง ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ทั้ง อดีตนายกฯ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ ส่วนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นั้นก็ไม่ได้คัดค้านบอกจะร่วมปรองดอง แต่เพียงแต่ไม่ลงนามในเอ็มโอยูเท่านั้น ซึ่งจะลงหรือไม่ลงก็ได้

พล.อ.ประวิตร ยืนยันว่าคณะกรรมการอำนวยการฯของกระทรวงกลาโหม ที่มีพลเอกชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานร่วมด้วย  ผบ.เหล่าทัพ และ คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น จะมานั่งฟังตัวแทนพรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองต่างๆพูดนั้น จะรับฟังอย่างเดียว  โดยไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ แค่ขอเพียงว่า อย่าพูดนอกกรอบ หรือนอกประเด็นใน 10 หัวข้อที่กำหนดไว้ เพราะทหารถือเป็นคนกลางไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งอย่างที่ว่ากัน เพราะทหารในที่สุดก็ต้องมาเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของนักการเมืองที่จะมาเป็นรัฐบาลในอนาคตหลังการเลือกตั้ง

"เราเชิญมาพูดคุย มาบอกว่าตัองการอะไร ฟังความเห็นของแต่ละพรรค เพื่อกลั่นกรองมาเป็นความเห็นร่วม ไม่ใช่ให้มากอดคอ จูบปากกันซะเมื่อไหร่ เพื่อให้มีกติการ่วมกันในการอยู่อย่างสงบสุข อย่าห่วงว่าเราจะทำอะไร นอกลู่นอกทางเพราะเราได้คิดแล้วว่า เป็นไปได้ คนมีกติกาอยู่ร่วมกันอย่างสันติผมเชื่อว่าทุกอย่างเดินไปได้ผมจึงต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อมวลชนในการสร้าง สร้างการรับรู้ให้ประชาชนว่านายกรัฐมนตรีและผมกระทรวงกลาโหมต้องการให้เกิดความปรองดองกันจริงๆภายในประเทศ"พล.อ.ประวิตรกล่าว

พล.อ.ประวิตรกล่าวอีกว่า เหล่าทัพมีความตั้งใจจริงที่ต้องการจะให้เกิดความสงบและเดินไปข้างหน้า ให้เกิดความมั่นคงในประเทศ เพราะนายกฯมอบให้กระทรวงกลาโหมดำเนินการเรื่องความปรองดอง หลังจากที่ผมคิดแล้วนำไปปรึกษานายกฯ ท่านเห็นว่า เป็นไปได้สูง จึงมอบหมายให้ดำเนินการ ซึ่งนอกจากรับฟังความเห็นจากนักการเมือง กลุ่มการเมือง แล้ว ก็จะเชิญ นักธุรกิจ และนักวิชาการมาให้ข้อคิดเห็น ด้วย เพราะกองทัพตัองการให้เกิดความมั่นคงจริงๆ

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า สื่อมีบทบาทสำคัญหากสื่อช่วยกันสนับสนุนกระบวนการสามัคคีปรองดองก็เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จช่วยกันสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนได้มีส่วนร่วม