posttoday

ความเป็นจริง พรบ.มิลค์โค้ด หนุน-ค้านคุมโฆษณาอาหารเด็กถึง3ปี

15 ธันวาคม 2559

จากความพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. ...หรือที่เรียกว่า “กฎหมายมิลค์โค้ด”

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

จากความพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. ...หรือที่เรียกว่า “กฎหมายมิลค์โค้ด” โดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสมาพันธ์เครือข่ายนมแม่แห่งประเทศไทย เพื่อควบคุมการโฆษณาและการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับเด็กอายุ 0-3 ขวบ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือการป้องกันการโฆษณาและการส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับเด็กอายุ 0-3 ปี ด้วยการแจกคูปองส่วนลด ขายพ่วง การแจกตัวอย่างสินค้าที่เข้าถึงแม่เด็ก โดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจะเป็นผู้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชนแทนบริษัทนมผง พร้อมกับทำหน้าที่ส่งเสริมการเลี้ยงดูลูกด้วยนมแม่

ส่วนกรณีจำเป็นที่ต้องใช้อาหารทารกและเด็กเล็กแทนนมแม่จะต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุขจะร่วมเฝ้าระวังการส่งเสริมการตลาดและไม่เป็นส่วนหนึ่งในการรับสิ่งของ อุปกรณ์ที่มีตราหรือสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์นมผง 

ล่าสุดแพทยสภานำโดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ร่วมกับประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยนายกสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ออกมาแถลงข่าวในหัวข้อ “เครือข่ายหมอเด็กออกโรง ชี้ พ.ร.บ.นมสุดโต่ง ทำร้ายเด็กไทย แนะทางแก้ไขเหมาะสม”

ศ.นพ.สมศักดิ์ แถลงว่า เครือข่ายกุมารแพทย์เห็นด้วยกับหลักการของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งควบคุมการโฆษณาและการตลาดผลิตภัณฑ์ทดแทนนมแม่สำหรับทารก และส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้มากขึ้น แต่ไม่เห็นด้วยกับบางประเด็น คือ การควบคุมจนถึงช่วงอายุ 3 ขวบ เพราะเขียนครอบคลุมกว้างจนเกินไป อาจสร้างปัญหาในทางปฏิบัติได้

ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายอาหารและโภชนาการ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) สำนักงานใหญ่ แถลงว่า เห็นด้วยหากมีการควบคุมห้ามการโฆษณาหรือทำการตลาดผลิตภัณฑ์ทดแทนนมแม่สำหรับทารก เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน แต่ไม่เห็นด้วยหากควบคุมในส่วนของอาหารสำหรับเด็กเล็กถึง 3 ขวบ เนื่องจากจะกระทบต่อการโฆษณาและการตลาดอาหารทุกชนิด เช่น นมสด นมกล่อง นมเปรี้ยว นมโรงเรียน อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการต่างๆ ซึ่งเป็นอาหารเสริมตามวัยที่เด็กอายุ 1 ขวบขึ้นไป กินได้

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวออกมาควบคุมอาหารสำหรับเด็กเล็กที่ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยอาหารด้วย ทั้งที่เป็นอาหารที่มีประโยชน์สำหรับเด็กอายุ 1 ขวบขึ้นไป แต่กลับไม่ครอบคลุมและไม่ควบคุมการส่งเสริมการตลาดของอาหารที่ไม่มีประโยชน์และเป็นโทษต่อเด็ก เช่น ขนม เครื่องที่มีน้ำตาลสูงดังนั้น จึงต้องมีการแก้นิยามร่าง พ.ร.บ.นี้ให้ชัดเจน

ข้อทักท้วงของเครือข่ายหมอเด็ก ระบุว่า ข้อห้ามต่างๆ ตามร่าง พ.ร.บ.นี้ อาจส่งผลกระทบด้านโภชนาการกับเด็ก เพราะนมและอาหารที่มีสารอาหารเหมาะสมเพียงพอสำหรับทารกและเด็กเล็ก ซึ่งขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร และเป็นอาหารเด็ก กลับถูกควบคุมด้วยกฎหมายนี้

อย่างไรก็ดี นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย ชี้แจงว่า ร่างกฎหมายนี้มีเป้าหมายเพื่อควบคุมการส่งเสริมการตลาดของนมสำหรับทารกและเด็กเล็ก คือ ห้ามโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดทุกรูปแบบ แต่ไม่ได้ห้ามการซื้อขาย เด็กที่จำเป็นต้องใช้นมผงก็ยังหาซื้อได้ตามปกติ แพทย์สามารถให้คำแนะนำกับผู้เลี้ยงดูเกี่ยวกับนมผงได้ ซึ่งขอบเขตการควบคุมผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กอายุ 0-3 ขวบ สอดคล้องกับหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ทั้งองค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟ เพราะที่ผ่านมาการโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดมีส่วนสำคัญที่ทำให้แม่และครอบครัวมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับโภชนาการของเด็ก

รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้บริษัทนมใช้วิธีที่จะนำไปสู่ผลประโยชน์ทับซ้อนทำให้แม่และครอบครัวมีความมั่นใจว่า เมื่อได้รับข้อมูลจากแพทย์และบุคลากรทางสุขภาพจะเป็นข้อมูลที่เป็นกลางและเป็นจริง ไม่มีอิทธิพลของการส่งเสริมการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งแพทย์ยังสามารถให้ข้อมูลเรื่องอาหารทางการแพทย์ได้ตามปกติ