posttoday

กม.3ชั่วโคตร ติดดาบปปช.สกัดโกง

15 กันยายน 2559

นับเป็นกฎหมายอีกหนึ่งฉบับที่รัฐบาล “บิ๊กตู่” เตรียมเข็นออกมาปราบโกงนั่นคือ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. ... หรือกฎหมาย 3 ชั่วโคตร

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

นับเป็นกฎหมายอีกหนึ่งฉบับที่รัฐบาล “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เตรียมเข็นออกมาปราบโกงนั่นคือ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. ... หรือกฎหมาย 3 ชั่วโคตร

สาระสำคัญคือ ต้องการติดดาบอาญาสิทธิ์ให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการตรวจสอบ เอาผิด ลงโทษ และฟ้องยึดทรัพย์เรียกค่าเสียหายกับนักการเมืองและข้าราชการระดับสูง ที่ใช้อำนาจในตำแหน่งและหน้าที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับตัวเองและเครือญาติ

รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ กรรมาธิการด้านการป้องกันและปราบปรามทุจริต สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) หนึ่งในผู้ผลักดันกฎหมายฉบับนี้ กล่าวว่า เดิมเป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ช่วงปี 2550 โดยมี ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ผลักดันและนำเสนอกฎหมายฉบับนี้เข้าสภา ในตอนนั้นเรียกกฎหมายฉบับนี้ว่า กฎหมาย 7 ชั่วโคตร แต่แล้วกฎหมายฉบับนี้ตกไป

จนในที่สุดเมื่อถึงยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ถือเป็นรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นมากที่สุด จึงปัดฝุ่นกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาใหม่ โดยให้ทาง สปท.ไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไข ซึ่งทาง สปท.เห็นว่าควรเหลือเพียง 3 ชั่วโคตรพอ คือ 1.พ่อแม่ 2.ตัวเอง และ 3.ลูก เท่านั้น อย่างไรก็ตามกฎหมายฉบับนี้อาจยังไม่ครอบคลุมการทุจริตที่บุคคลทั้งนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงเข้าไปเกี่ยวข้อง อาทิ พรรคพวกเพื่อนฝูง เครือญาติพี่น้องที่เกี่ยวข้อง หรือนอมินี สำหรับประเด็นฐานความผิดจะมีทั้งความผิดทางอาญาและแพ่ง นั่นคือติดคุกและถูกยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกิดจากการทุจริต โดยรัฐสามารถยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายได้

เบื้องต้นร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาปรับแก้ไขถ้อยคำ คาดว่าจะส่งร่างให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือน ต.ค.นี้ เพื่อส่งต่อให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาในขั้นต่อไป สำหรับสาระได้กำหนดการกระทำขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมตามมาตรา 5 ดังนี้

1.กำหนดนโยบายหรือเสนอกฎหมายหรือกฎ ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อกิจการที่ตน คู่สมรส บุตร หรือบิดามารดา มีส่วนได้เสียอยู่ 2.นำความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ตนมีต่อบุคคลอื่นมาประกอบการใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลนั้น 3.การกระทำการใด ดำรงตำแหน่งใด หรือปฏิบัติการใดในฐานะส่วนตัว ที่ก่อให้เกิดความเคลือบแคลงว่าจะขัดกับประโยชน์ส่วนรวมที่อยู่ในความรับผิดชอบตามหน้าที่ หรือเป็นการเสื่อมเสียแก่ตำแหน่งหน้าที่ 4.การใช้เวลาราชการหรือหน่วยงาน เงิน ทรัพย์สิน บุคลากร บริการ สิ่งอำนวยความสะดวกของทางราชการหรือหน่วยงานไป เพื่อประโยชน์ส่วนตัวของตนหรือผู้อื่นเว้นแต่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือกฎ

5.การกระทำที่เกี่ยวกับการขัดแย้งระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 6.การใช้ข้อมูลภายในของรัฐที่ยังเป็นความลับอยู่ที่ตนได้รับหรือทราบจากการปฏิบัติราชการหรือในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต 7.การริเริ่ม เสนอ จัดทำหรืออนุมัติโครงการของรัฐโดยทุจริต เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อตนเองหรือบุคคลใดไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และ 8.การใช้อำนาจหน้าที่ซึ่งตนมีอยู่ไปมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจโดยอิสระในการใช้อำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งดำรงตำแหน่งอื่นโดยทุจริตไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมและการกระทำตาม (8) ที่จะถือว่าเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ต้องไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

1.อนุมัติ อนุญาต รับจดทะเบียน หรือให้สิทธิประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นเงินได้

2.ให้สัมปทาน ทำสัญญา หรือทำนิติกรรม อันเป็นการให้ประโยชน์แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด

3.บรรจุ แต่งตั้งเลื่อนขั้นเงินเดือน โอนย้าย หรือให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในบังคับบัญชา หรือกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่รัฐตาม (8) พ้นจากตำแหน่ง หรือพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่

4.ไม่แจ้งความหรือร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

5.ไม่ฟ้องไม่ดำเนินคดีหรือถอนฟ้องไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา

6.ไม่บังคับทางปกครองหรือไม่บังคับคดี

7.กระทำการหรือไม่กระทำการอื่นตามที่ ป.ป.ช.ประกาศกำหนดให้นำความในวรรค (1) (2) (3) (4) มาใช้บังคับการกระทำของคู่สมรสและบุตรของเจ้าหน้าที่รัฐ

มาตรา 6 ในกรณีที่บุคคลใดได้รับประโยชน์จากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ คู่สมรส บุตร หรือญาติ ตามมาตรา

5 ให้ถือว่าบุคคลนั้นมีส่วนร่วมในการกระทำผิดและรับโทษเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่รัฐ เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่ามิได้มีส่วนรู้เห็น หรือยินยอมมาตรา 7 ให้ถือว่าความผิดมาตรา 5 และ

6 เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา และให้ถือเป็นเหตุให้ถูกถอดถอนจากตำแหน่งได้

มาตรา 8 บรรดาของขวัญ ของที่ระลึก เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ที่มีผู้มอบให้แม้ว่าผู้มอบจะระบุให้เป็นการส่วนตัวก็ตาม ให้ตกเป็นของรัฐทั้งสิ้น และให้จัดทำบัญชีไว้เป็นหลักฐานและเก็บรักษา ในกรณีที่ไต่สวนข้อเท็จจริงพบนำสิ่งของดังกล่าวไปเป็นของตน สูญหาย หรือเสียหาย ให้พนักงานอัยการเรียกให้ใช้ราคาหรือค่าเสียหายด้วย

มาตรา 12 เจ้าหน้าที่รัฐที่พ้นจากตำแหน่งหน้าที่อายุยังไม่เกิน 2 ปี จะทำงานในภาคเอกชนที่เกี่ยวกับกิจการงานทางวิชาชีพโดยตรงกับการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งหรืออยู่ในความดูแลของตนในระหว่างวาระการดำรงตำแหน่งหน้าที่มิได้

มาตรา 16 เจ้าหน้าที่รัฐ กระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-10 ปี ปรับตั้งแต่ 4 หมื่น-4 แสนบาท และหากเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-15 ปี ปรับตั้งแต่ 8 หมื่น-6 แสนบาท