posttoday

โยนหินถามทางรื้อเลือกตั้ง วันแมนวันโหวตวัดใจปชป.

20 สิงหาคม 2553

เริ่มเห็นเค้าลางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากคณะกรรมการพิจารณาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชุด “สมบัติ ธำรงธัญวงศ์” เป็นประธาน ทำงานมาร่วม 2 เดือน

เริ่มเห็นเค้าลางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากคณะกรรมการพิจารณาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชุด “สมบัติ ธำรงธัญวงศ์” เป็นประธาน ทำงานมาร่วม 2 เดือน

โดย...ทีมข่าวการเมือง

เริ่มเห็นเค้าลางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากคณะกรรมการพิจารณาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชุด “สมบัติ ธำรงธัญวงศ์” เป็นประธาน ทำงานมาร่วม 2 เดือน

โยนหินถามทางรื้อเลือกตั้ง วันแมนวันโหวตวัดใจปชป.

ที่สุด สรุปความเห็นถึงข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเฉพาะหน้า โดยเฉพาะระบบเลือกตั้งที่เป็นวาระร้อนของฝ่ายการเมือง

ประเด็นที่มา สส. คณะกรรมการฯ เห็นว่าให้เปลี่ยนกลับมาใช้ตามรัฐธรรมนูญ 2540 แต่งอกรายละเอียดเล็กน้อย

กล่าวคือ ระบบเลือกตั้งกลับมาใช้เขตเดียวคนเดียว แทนแบบ “แบ่งเขตเรียงเบอร์” ที่ใช้ในปัจจุบัน

ส่วน สส.จากบัญชีรายชื่อ ให้ใช้ “ปาร์ตี้ลิสต์” จำนวน สส. 125 คน หรือบัญชีรายชื่อเขตเดียวทั้งประเทศ จากเดิมใช้ระบบสัดส่วน 80 คน ซอยย่อย 8 ภูมิภาค ภาคละ 10 คน

จำนวน สส. เพิ่มเป็น 500 คน แยกเป็น สส.เขต 375 คน สส.ปาร์ตี้ลิสต์ 125 คน

จากปัจจุบันจำนวน สส.ตามรัฐธรรมนูญมีทั้งหมด 480 คน แยกเป็น สส.เขต 400 คน สส.สัดส่วน 80 คน

แม้กรรมการฯ ยังไม่สรุปเป็นทางการ เพราะขั้นตอนจากนี้อยู่ในช่วงโยนหินถามทางรับฟังความเห็น

ว่า แนวโน้มคงไม่เปลี่ยน เพราะผ่านการตกผลึกทางความคิดทั้งวิชาการ และการประเมินจากบริบทการเมืองรอบด้าน

ข้อเสนอรื้อระบบเลือกตั้ง เกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมืองโดยตรง และเป็นเงื่อนไขที่พรรคร่วมพร้อมแตกหักกับพรรคประชาธิปัตย์

ความเป็นความตายของพรรคร่วมอย่าง “บิ๊กเติ้ง” บรรหาร ศิลปอาชา เนวิน ชิดชอบ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ผู้ถืออำนาจตัวจริงในพรรคร่วม ขึ้นอยู่กับว่า การแก้รัฐธรรมนูญจะสำเร็จกลับมาใช้แบบเขตเดียวคนเดียวได้หรือไม่

แม้ว่าที่ผ่านมา อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สุเทพ เทือกสุบรรณ จะซื้อเวลาเขี่ยบอลในเกมแก้รัฐธรรมนูญมาได้ร่วมปี

แต่จากนี้เป็นช่วง “นับถอยหลัง” ที่บิ๊กพรรคร่วมจะไม่ยอมให้พรรคประชาธิปัตย์รื่นไหลได้อีกต่อไป เพราะเวลารัฐบาลเหลือน้อยนิดเพียงปีเศษ

สูตรใหม่ที่กรรมการฯ เสนอมา ทุกพรรคชอบกันหมด นอกจากพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องวัดใจว่าจะจริงใจกับพรรคร่วมแลกกับ “เสี่ยงตาย” แก้ระบบเลือกตั้งเป็นเขตเดียว ไปเล่นในกระดานที่อาจเสียเปรียบ หรือจะเล่นกลซื้อเวลาต่อไป

พรรคร่วม 6 พรรค ประกอบด้วย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย พรรคกิจสังคม พรรครวมชาติพัฒนา กลุ่มเพื่อแผ่นดิน พรรคมาตุภูมิ เรียกร้องให้เปลี่ยนมาเป็นเขตเดียวคนเดียว เพราะเชื่อว่าจะสู้กับพรรคเพื่อไทยในภาคอีสานและภาคเหนือ ฐานเสียงหลักของเสื้อแดงได้อย่างถึงพริกถึงขิง

ถ้ายังใช้เขตใหญ่พรรคเล็ก ต้องเสียเปรียบพรรคใหญ่ เพราะเขตใหญ่เหมาะกับการใช้กระแส แต่เขตเล็ก พรรคเอสเอ็มอีสามารถใช้กลไกท้องถิ่น ผู้กำกับ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัคร เครือข่ายหัวคะแนน ได้มีประสิทธิภาพ วัดผลสัมฤทธิ์ได้มากกว่าเขตใหญ่

รวมถึง การใช้กระสุนที่ยิงเข้าเป้ามากกว่าตกกระจายวัดความแม่นยำไม่ได้

ไม่แปลกที่แกนนำพรรคร่วมต่างเฮละโลกับข้อเสนอให้แก้แบบเขตเดียวคนเดียว

สำหรับพรรคเพื่อไทย ผ่านการเลือกตั้งมาทั้งสองระบบ เขตเดียวคนเดียว ในรัฐธรรมนูญ 2540 สมัยเป็นพรรคไทยรักไทย และเขตใหญ่เรียงเบอร์ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ในสมัยเป็นพรรคพลังประชาชน ซึ่งทั้งสองระบบ ไทยรักไทย กับพลังประชาชน ก็ชนะขาดกระจุย ขนาดรัฐประหารของ คมช. ก็หยุดความแรงของทักษิณไม่อยู่ พรรคเพื่อไทยจึงไม่หวั่นว่า เลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นเขตใหญ่หรือเขตเล็ก หรือจะใช้ปาร์ตี้ลิสต์ หรือสัดส่วน

แต่ระหว่างสองระบบแล้ว พรรคเพื่อไทยไม่ชอบระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ 2550 โดยเฉพาะที่มาของ สส.สัดส่วน 80 คน แบ่งเป็นภาคต่างๆ 8 ภาค โดยมีบัญชี ผู้สมัคร สส. ภาคละ 10 คน
พรรคเพื่อไทยเชื่อว่าระบบสัดส่วน เป็นแผนของ คมช.ผ่านผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ที่ใช้ระบบนี้เพื่อตัดจำนวน สส.พรรค จนที่สุดพรรคพลังประชาชนได้ สส.ในระบบสัดส่วนแค่ 46 คน จากเดิมสมัยไทยรักไทยใช้ระบบปาร์ตี้ลิสต์ได้ สส.มากถึง 60 คน

กระนั้น ตามข้อเสนอของคณะกรรมการฯ ที่ให้ลดจำนวน สส.เขตลง 25 คน เหลือ 375 คน จาก 400 คน อาจทำให้พรรคเพื่อไทยเสียเปรียบบ้าง เพราะภาคอีสานก็ต้องถูกหั่นซอยเก้าอี้ สส.ลง
แต่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเลือกตั้งแบบไหน พรรคเพื่อไทยพร้อมเพราะเชื่อในกระแสเสื้อแดงที่กลับมาแข็งแกร่ง หลังเหตุการณ์พฤษภาอำมหิต

ทุกวันนี้จึงเฝ้านอนนับทุกวินาที ให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง ไม่ให้อำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซง นำไปสู่การรัฐประหาร หรือรัฐบาลแห่งชาติ

ที่ต้องจับตามากที่สุดคือ ท่าทีพรรคประชาธิปัตย์ที่คัดค้านการเปลี่ยนมาใช้เขตเดียวคนเดียว กลัวว่าจะได้ สส.น้อยกว่าเดิม จนเกิดรอยร้าวขึ้นในพรรคระหว่างปีก สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่เอาใจพรรคร่วมให้แก้เปลี่ยนเขตเดียว กับ ปีก “อภิสิทธิ์ชวน หลีกภัย” ที่ยืนขาเดียวกับเขตใหญ่

แต่สูตรนี้ใช่ว่า พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ได้ประโยชน์ เพราะการกลับมาใช้ “ปาร์ตี้ลิสต์” 125 คน พรรคประชาธิปัตย์น่าจะได้ สส.เป็นเนื้อเป็นหนังมากกว่าเดิม

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักกฎหมายที่ศึกษาระบบเลือกตั้ง เคยวิเคราะห์คะแนนแบบสัดส่วนในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า

“พรรคพลังประชาชน แม้จะได้ สส. 233 คน ประชาธิปัตย์ได้ 164 คน ต่างกัน 69 คน แต่คะแนนพลังประชาชน ได้ 12.3 ล้านคะแนน หรือ 41% ชนะประชาธิปัตย์ที่ได้ 12.1 ล้านคะแนน หรือ 40% ห่างกันเพียง 1.9 แสนคะแนน ดังนั้นถ้าได้ระบบสัดส่วนจริงๆ พลังประชาชนจะได้ สส. 41% ของ 400 จะเท่ากับ 191 คน ประชาธิปัตย์ 40% ของ 400 จะเท่ากับ 194 คน แปลว่า สองพรรคนี้ต่างกันแค่ 3 คน ไม่ใช่ 69 คน”

การเลือกตั้งข้างหน้า ถ้ากระแสยังเป็นสองขั้วระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ จึงน่าจะได้ สส.ปาร์ตี้ลิสต์สูสีกัน

อีกด้านที่จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เปรียบในฐานะ “แกนนำขั้วไม่เอาทักษิณ” คือ หากพรรคเล็กเจาะที่นั่งพรรคเพื่อไทยได้ จากระบบเลือกตั้งเขตเดียวคนเดียว ในเชิงยุทธศาสตร์แล้ว ก็อาจทำให้พรรคเพื่อไทยสูญเสียที่นั่งในภาคอีสาน เพราะถูกคู่แข่งหลายพรรครุมสกรัม ซึ่งอาจทำให้เสียงของพรรคเพื่อไทยไม่ชนะเด็ดขาด จนจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้

ที่สุดต้องวัดใจพรรคประชาธิปัตย์ว่า จะยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะอภิสิทธิ์เคยลั่นวาจาไว้ว่าจะแก้แน่ หลังคณะกรรมการฯ ชุดสมบัติ สรุปความเห็นอย่างเป็นทางการ คาดว่าในปลายปีนี้

แต่หากพรรคประชาธิปัตย์ยื้อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เขี่ยบอลไปมาเพื่อรอยุบสภา ก็จะเสียทั้งมิตรแท้และมิตรเทียม

ถึงเวลาที่ต้องมีคำตอบ...