posttoday

กฟน.รื้อเสาไฟฟ้าถนนราชวิถีหลังนำสายลงดิน

01 กันยายน 2559

6 หน่วยงานร่วมมือเตรียมขยายโครงการนำสายไฟลงดินอีก 5 ถนน รองผบช.น.ชมร่นเวลาดำเนินการจาก300วันเหลือแค่40วัน

6 หน่วยงานร่วมมือเตรียมขยายโครงการนำสายไฟลงดินอีก 5 ถนน รองผบช.น.ชมร่นเวลาดำเนินการจาก300วันเหลือแค่40วัน

เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ที่ห้องประชุมอาคารแหล่งชุมนุมนายทหารโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ถนนราชวิถี นายสมชาย โรจน์รุ่งวศินกุล ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยว่า ตามที่กฟน.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าและสายสื่อสารโทรคมนาคมแบบสายอากาศเป็นระบบสายใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขณะนี้ประสบผลสำเร็จตามแผน โดยในวันนี้ได้ดำเนินการถึงขั้นตอนสุดท้าย คือการรื้อถอนเสาไฟฟ้าบริเวณถนนราชวิถี

นายสมชาย กล่าวว่า ขั้นตอนการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้แก่ การออกแบบ วางแผนงาน เข้าพื้นที่ สร้างบ่อพัก และท่อร้อยสายไฟกลาง พร้อมติดตั้งสายไฟฟ้าใต้ดินแรงกลาง ก่อสร้างท่อสายไฟฟ้าแรงต่ำบนทางเท้าพร้อมกับการก่อสร้างท่อร้ายสายสื่อสาร เปลี่ยนระบบการจ่ายไฟฟ้าจากสายไฟฟ้าอากาศเป็นระบบสายไฟฟ้าใต้ดินเชื่อมต่อให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้า ติดตั้งโคมไฟถนนใหม่ จนถึงการรื้อถอนเสาสายไฟฟ้าอากาศ ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย โดยขณะนี้สามารถเดินสายไฟลงดินตั้งแต่แยกตึกชัยมาจนถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิแล้วเสร็จประมาณ 50% คาดว่าอีก 2 สัปดาห์ การดำเนินการทั้งหมดจะเสร็จสิ้น และสามารถเคลียร์ทางเท้าให้กลับสู่สภาพปกติ

"กฟน.ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เป็นอย่างดี จากทั้งกทม.ที่ดูแลผลกระทบต่อประชาชน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ช่วยจัดการจราจรให้คล่องตัว นอกจากนี้ กสทช. สนับสนุนการจัดการและกำหนดนโยบายให้ผู้ประกอบการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน โดยมีทีโอทีเป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้างเพื่อรองรับการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน" ผู้ว่าการกฟน.กล่าว

ทั้งนี้ การกำหนดกรอบการดำเนินการให้เสร็จภายใน 5 ปี ตามที่รัฐบาลกำหนดไว้นั้น กฟน.จะเร่งดำเนินการให้เสร็จในพื้นที่ที่ไม่ติดปัญหา โดยจะยกเว้นพื้นที่ที่ซ้อนทับกับโครงการของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยหลังจากนี้ โครงการที่จะดำเนินการต่อจากถนนราชวิถี ในปี 2559 ได้แก่ ถนนราชปรารภ ถนนศรีอยุธยา ถนนโยธี ถนนเพชรบุรี และ ถนนพระราม 1 ซึ่งกฟน.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด ขณะเดียวกัน ก็จะเริ่มโครงการนำสายไฟฟ้าลงดินบริเวณถนนนราธิวาสราชนครินทร์เช่นเดียวกัน

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. กล่าวว่า การนำสายโทรคมนาคมลงดิน จะทำให้การขยายเครือข่ายของผู้ประกอบการโทรคมนาคมทำได้สะดวกขึ้น รวมถึงสามารถจัดระเบียบสายที่เคยพาดอย่างไม่มีระเบียบก่อนหน้านี้ให้เป็นระเบียบยิ่งขึ้น

พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า โครงการของกฟน.จากตอนแรกที่จะดำเนินงาน 300 วัน แต่สามารถใช้เวลาจริงเพียง 40 วันเท่านั้น โดยเป็นผลมาจากความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่ทำงานร่วมกัน ทำให้สามารถทำงานได้มากกว่า 14 ชั่วโมงต่อวัน

กฟน.รื้อเสาไฟฟ้าถนนราชวิถีหลังนำสายลงดิน