posttoday

อาวุธวิเศษที่เป็นตำนาน ง้าวมังกรเขียวของกวนอู

24 เมษายน 2559

กวนอูมีอาวุธประจำกายเป็นง้าวมังกรเขียว ง้าวนี้สังหารข้าศึกมานับไม่ถ้วน ตัวด้ามเป็นรูปมังกรเขียวคำราม

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์

กวนอูมีอาวุธประจำกายเป็นง้าวมังกรเขียว ง้าวนี้สังหารข้าศึกมานับไม่ถ้วน ตัวด้ามเป็นรูปมังกรเขียวคำรามออกมาเป็นแผ่นง้าววงพระจันทร์ น้ำหนัก 82 ชั่ง (ถ้าใช้มาตราสมัยนี้ก็ราว 41 กิโลกรัม) ยาวกว่า 3 เมตรครึ่ง วางตามนอนเกือบเท่าหน้ากว้างห้องแถวเล็กๆ วางตามตั้งก็ติดฝ้าเพดานทะลุไปชั้น 2

ง้าวมังกรเขียวไม่เคยห่างกายกวนอู จนเมื่อครั้งกวนอูเสียท่าถูกฝ่ายง่อก๊กจับ และประหารชีวิต ง้าวมังกรเขียวถูกแม่ทัพพัวเจี้ยงชิงเอาไป ภายหลังเมื่อกวนหินฆ่าแม่ทัพพัวเจี้ยงได้ กวนหินจึงชิงกลับมา กวนอูและง้าวมังกรเขียวถือเป็นสัญลักษณ์ของกันและกัน

ตำนานว่าไว้ว่า ง้าวมังกรเขียวเกิดจากช่างตีเหล็กยอดฝีมือ ตีง้าวนี้เฉพาะคืนพระจันทร์เต็มดวง คืนที่ใกล้ตีเสร็จ เกิดเมฆดำลอยคลุ้ง มีฝนสีเลือดตกลงมาโดนเหล็กที่กำลังตี 1,780 หยด นี่คือเลือดของมังกรเขียว ว่ากันว่าง้าวมังกรเขียวต้องดื่มเลือดคน 1,780 ชีวิต จึงหมดภารกิจ

ช่างตีเหล็กมีทักษะในการนับเม็ดฝนสีเลือดได้รวดเร็วจนน่าทึ่งจริงๆ

และแน่นอน ตำนานแบบนี้ไม่มีทางมีเรื่องเดียว ที่จริงยังมีตำนานกำเนิดง้าวมังกรเขียวอีกหลากหลายไว้ให้เล่า

ต้นกำเนิดง้าวมังกรเขียวเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และความเป็นไปได้ของง้าวมังกรเขียวที่จะมีอยู่จริงก็น้อยเหลือเกิน

ง้าวมังกรเขียวหนัก 41 กิโลกรัม ถ้าคิดตามความเป็นจริงน่าจะเป็นตัวถ่วงมากกว่าอาวุธเสริมความได้เปรียบ แต่ก็มีข้อโต้แย้งอยู่บ้าง เพราะหน่วยชั่งในยุคปลายราชวงศ์ฮั่นกำหนดไว้แค่ชั่งละ 222.73 กรัม

ซึ่งถ้าใช้หน่วยตามนี้ ง้าวมังกรเขียวก็จะหนักแค่ 18 กิโลกรัมเท่านั้น แค่หยิบเด็ก ป.1 ขนาดมาตรฐานแกว่งไปแกว่งมา

นอกเรื่องสักนิดว่า การกำหนด 1 ชั่งเท่ากับ 500 กรัม เพิ่งตั้งขึ้นสมัย ค.ศ. 1929 เมื่อจีนเข้าสู่ยุคใหม่ ก่อนหน้านั้น 1 ชั่งมีเกณฑ์ความหนักต่างๆ กันไป แล้วแต่ราชวงศ์

เมื่อใช้มาตรฐานราชวงศ์ฮั่นตอนปลาย (ยุคสามก๊ก) ทำให้ง้าวมังกรเขียวลดน้ำหนักลงจนพอจะเป็นไปได้ แต่จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ง้าวมังกรเขียวก็ยังยากจะมีอยู่จริง

บันทึกประวัติศาสตร์สามก๊ก (ไม่ใช่นิยาย) ตอนกวนอูฆ่างันเหลียง บอกว่า “โจโฉให้เตียวเลี้ยวและกวนอูเปิดศึก กวนอูเห็นธงงันเหลียง จึงควบม้าเข้า ‘แทง’ งันเหลียงตกม้าตายท่ามกลางทหารนับหมื่น แล้วตัดคอกลับมา”

ง้าวมังกรเขียวเป็นอาวุธสำหรับฟันไม่ใช่อาวุธสำหรับแทง เพราะฉะนั้นอย่างน้อยที่สุดตอนฆ่างันเหลียงแม่ทัพกวนอูก็ไม่น่าจะใช้อาวุธประเภทง้าว

นอกจากนั้น จากบันทึกหรือบทชื่นชมวีรกรรมของท่านกวนอูยุคหลังจากนั้นอีกเนิ่นนาน ก็ยังไม่มีวี่แววของง้าวในมือกวนอู

ที่สำคัญที่สุด ในช่วงสมัยราชวงศ์ฮั่นตอนปลาย (สามก๊ก) ยังไม่เคยมีหลักฐานทางโบราณคดีใดๆ (รวมถึงบันทึก ภาพวาด รูปสลัก) ว่ามีอาวุธประเภทง้าวถือกำเนิดขึ้น

สำหรับอาวุธบนหลังม้าส่วนใหญ่ที่ใช้ในยุคนั้นเหมาะแก่การจ้วงแทงมากกว่าการเหวี่ยงฟัน หรือถ้าจะมีอาวุธบนหลังม้าสำหรับฟันก็เป็นอาวุธที่สั้นเท่าดาบทั่วไป เพราะในสมัยนั้น โกลนและอานม้ายังไม่ถูกพัฒนาอย่างสมบูรณ์

การพัฒนาโกลนและอานม้าซึ่งช่วยให้นักรบนั่งบนหลังม้าได้อย่างมั่นคง อาวุธสำหรับเหวี่ยงฟันเริ่มมีพัฒนาการใหญ่โตขึ้น เมื่อยุคของอานและโกลนม้ามาถึงสักพัก

หรือถ้าจะมีโกลนม้าในสมัยนั้น อย่างมากก็น่าจะเป็นช่วงเริ่มต้น ซึ่งทำจากห่วงเชือกเท่านั้น เป็น DIY Gadget และใช้เฉพาะสถานการณ์ แต่ไม่ได้เป็นชุด KIT ติดตัวม้าแบบในยุคหลังสามก๊กอีกร้อยกว่าปี

อาวุธคู่กายของนักรบบนหลังม้าก่อนกำเนิดโกลนและอานม้าจึงมักจะเป็นอาวุธประเภททวน ซึ่งเป็นอาวุธที่จ้วงแทงด้วยแรงกระโจนจากมุมสูงได้ ส่วนถ้าเป็นชนเผ่านอกด่านอาจเป็นคันธนู ซึ่งเป็นอาวุธระยะไกลไร้แรงสะท้อน

หากอาวุธหนักเท่าเด็ก ป.1 เหวี่ยงไปมา ถ้าไม่ตกม้าซะก่อน ก็คงต้องใช้พละกำลังของขาหนีบสุดวิเศษกับซี่โครงม้าทรงพลัง

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์เริ่มมีบันทึกเกี่ยวกับภาพง้าวก็ในยุคราชวงศ์ถัง และเพิ่งมีชื่อเรียกภาษาจีนชัดเจนว่า “ดาบวงพระจันทร์” (ขอเรียกสั้นๆ ว่าง้าว) ในสมัยซ่งเหนือ ซึ่งห่างจากยุคสามก๊กราว 850 ปี (สมัยซ่งเหรินจง ฮ่องเต้ในยุคเปาบุ้นจิ้น)

ง้าวเป็นอาวุธที่มีพัฒนาการมาจากดาบสังหารม้า

ดาบสังหารม้าเป็นอาวุธประเภทดาบใหญ่ น้ำหนักมากกว่าดาบปกติ มีไว้ต่อสู้กับทหารม้า ตัวดาบมีแผ่นดาบเป็นแผ่นยาวใหญ่กว่าดาบปกติ ด้ามจับยาวเพื่อให้ใช้สองมือกุมได้หนักแน่น มั่นคง

ส่วนง้าวก็คือดาบสังหารม้าที่ต่อด้ามจับให้ยาวขึ้น และมีระยะจับสองมือได้มากขึ้น แผ่นดาบใหญ่ขึ้นช่วยเพิ่มโมเมนตัมให้กับการฟาดฟัน

ในตำราว่าด้วยอาวุธสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือเขียนไว้ว่า อาวุธประเภทนี้มีน้ำหนักมาก จึงมีไว้เพื่อวัตถุประสงค์ในการฝึกฝนกำลังแขน แต่ไม่ได้ใช้ในสนามรบจริง

และด้วยความสง่างาม จึงมักถูกใช้ประดับนักแสดงงิ้วอีกด้วย

ถ้าง้าวจะใกล้สนามรบเข้ามาหน่อย ก็เป็นในสมัยราชวงศ์ชิง ซึ่งใช้ในการสอบวัดระดับผู้เข้ารับราชการฝ่ายบู๊ ไว้ดูท่วงท่าและกำลังแขน

เพราะฉะนั้นง้าวมังกรเขียวจึงเป็นเพียงอุปกรณ์เพาะกาย มากกว่าอาวุธทรงประสิทธิภาพในสนามรบ ใช้ขึ้นเวทีแสดง มากกว่าใช้ในสมรภูมิ

เมื่อไม่ใช่อาวุธที่ใช้ในสนามรบได้จริง จึงไม่มีบันทึกในประวัติศาสตร์จีนที่บอกว่าแม่ทัพคนไหนใช้ง้าวเป็นอาวุธออกศึก จะมีก็แต่ในนิทานหรือนิยายเท่านั้น

และเมื่อล่อกวนตงหยิบยื่นง้าวมังกรเขียวให้กับกวนอูอย่างเป็นทางการ กวนอูก็แทบจะผูกขาดง้าวมังกรเขียวแต่ผู้เดียวในประวัติศาสตร์

ยังสูสีอยู่ว่า กวนอูมีอิทธิพลต่อง้าวมังกรเขียว หรือง้าวมังกรเขียวมีอิทธิพลต่อกวนอู ไม่แน่ว่าที่เห็นศิลปินสมัยนี้จินตนาการกวนอูออกมาเป็นภาพวาดหรือรูปปั้นทีไรก็ต้องใส่ชุดสีเขียว อาจจะเป็นอิทธิพลของคำว่า “เขียว” ในง้าวก็ได้

ที่แน่ใจได้คือ เห็นง้าวมังกรเขียวก็นึกถึงกวนอู เห็นกวนอูก็นึกถึงง้าวมังกรเขียว

ที่ยังไม่แน่ใจคือ เป็นความจำเป็นหรือไม่ ที่เราต้องประกาศกร้าวออกไปแล้วบอกว่าง้าวมังกรเขียวที่เห็นกันทั่วไปมัน เปลือก! ปลอม!

เรื่องสัญลักษณ์ในตำนานที่มีอิทธิพลแทนตัวตนของบุคคลในประวัติศาสตร์มีอยู่ทั่วไป ที่จริงแล้วหนึ่งในหน้าที่ของมันมักมีไว้เพื่อให้ความทรงจำเกี่ยวกับคนคนนั้นฝังแน่นในจิตใจของผู้คนยิ่งขึ้น

โปเซดอนไม่มีสามง่าม คิวปิดไม่มีธนู หรือแม้แต่เห้งเจียที่ไร้กระบองและเมฆวิเศษ ไม่มีทางกลายเป็นตัวบุคคลที่มีอิทธิพลยาวนานและกว้างขวางขนาดนี้

ทั้งๆ ที่อาวุธประกอบฉากทั้งหลายก็เป็นเพียงสิ่งสมมติขึ้นทั้งนั้น

แต่แม้สิ่งสมมติไม่ใช่ความจริงในตัวมันเอง แต่สิ่งสมมติจำนวนไม่น้อยสามารถสร้างและส่งผ่านความจริงบางชุดได้

ง้าวมังกรเขียว และวีรกรรมจำนวนมากของกวนอูเป็นสิ่งสมมติแต่สิ่งที่ผู้คนต้องการเล่าขานสืบให้สืบต่อกันไปคือคุณธรรมและความซื่อสัตย์ กตัญญู ที่ยืมร่างและอาวุธวิเศษของกวนอูเป็นเปลือกห่อหุ้ม

ข้างในอาวุธวิเศษที่แท้จริงคือคุณธรรมและความซื่อสัตย์ กตัญญู

ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับนับถือผู้คนที่ค่อยๆ คิดอาวุธส่วนที่จะทำให้เข้าไปฝังในใจผู้คนได้ง่ายดายยิ่งขึ้น ซึ่งก็คือง้าวมังกรเขียวและรูปลักษณ์ของกวนอูที่เราเห็นอยู่ในทุกวันนี้