posttoday

นักวิชาการย้ำซากพญานาคแท้จริงคือ "กระดูกฟันกรามช้าง"

23 กุมภาพันธ์ 2558

นักวิชาการระบุ ชิ้นส่วนกระดูกที่ถูกลือว่าเป็นซากพญานาค แท้จริงคือ กระดูกฟันกรามช้างเอเชีย และไม่ใช่ฟอสซิลเก่าแก่

นักวิชาการระบุ ชิ้นส่วนกระดูกที่ถูกลือว่าเป็นซากพญานาค แท้จริงคือ กระดูกฟันกรามช้างเอเชีย และไม่ใช่ฟอสซิลเก่าแก่

กลายเป็นข่าวฮือฮา เมื่อชาวบ้านนับร้อยแห่กันมาที่วัดท่าไม้เหนือ หมู่ 5 บ้านท้ายน้ำ ต.บ้านหม้อ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ แห่กันมาดูชิ้นส่วนกระดูกของสัตว์ชนิดหนึ่ง ลักษณะคล้ายฟันกราม กว้าง 6 นิ้ว ยาว 10 นิ้วน้ำหนักประมาณ 2 กิโลกรัม โดยเชื่อกันว่าเป็นซากของพญานาค พร้อมใช้มือสัมผัสเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

นายกมล จาดเรือง กรรมการวัดท่าไม้เหนือ เผยว่า ซากที่พบเห็น ลูกศิษย์ได้นำมามอบให้กับพระครูวิสุทธิปัญญาสาร เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ เจ้าอาวาสวัดท่าไม้เหนือ พร้อมอธิบายที่มาที่ไปว่า ซื้อซากสัตว์ชนิดนี้กับพ่อค้ารับซื้อของเก่า ซึ่งเป็นคนอิสลามในกรุงเทพฯ แต่ไปรับซื้อของเก่าจากพ่อค้าชาวลาวฝั่งเวียงจันทน์ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับหนองคาย จำนวนทั้งสิ้น 3 หัว ในราคาเกือบ 200,000 บาท หงอนพญานาคนี้ชาวบ้านไปพบอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่งติดกับแม่น้ำโขง ในพื้นที่แขวงสุวรรณเขตของลาว พบซากอยู่ในถ้ำเดียวกัน จึงนำออกมาขายให้กับพ่อค้ารับซื้อของเก่าชาวลาว

ขณะที่ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กต่อกรณีดังกล่าวว่า "มันคือซากกระดูกฟันกรามช้างนะครับ ถ้าเก่าแก่เป็นหินเป็นซากฟอสซิลแล้ว ให้รีบเอาไปให้กรมทรัพยากรธรณีเลยครับ จะได้ช่วยกันวิจัยพันธุ์ช้างโบราณในประเทศไทยครับ"

ผู้สื่อข่าวโพสต์ทูเดย์ได้สอบถามไปยัง ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ระบุว่า กระดูกดังกล่าวเป็นกระดูกฟันกรามช้างเอเชีย (Elephas maximus) สภาพยังใหม่ คาดว่าจะมีอายุเพียงหลักสิบปีเท่านั้น ไม่ใช่ซากฟอสซิลเก่าแก่โบราณแต่อย่างใด เพราะหากเป็นซากฟอสซิลจะต้องมีอายุยาวนานและถูกรักษาตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ชิ้นส่วนของช้างถือว่าเป็นที่นิยมในหมู่นักสะสมของเก่า ด้วยความเชื่อว่าจะเป็นสิริมงคลต่อผู้ที่ได้ครอบครอง