posttoday

"จาตุรนต์"กลับลำหนุนยุบสภาแบบมีเงื่อนไข

04 ธันวาคม 2556

"จาตุรนต์"กลับลำเห็นด้วยทปอ.ยุบสภาแบบมีเงื่อนไข ตั้งรัฐบาลรักษาการมีข้อแม้ต้องอยู่ในกรอบ

"จาตุรนต์"กลับลำเห็นด้วยทปอ.ยุบสภาแบบมีเงื่อนไข ตั้งรัฐบาลรักษาการมีข้อแม้ต้องอยู่ในกรอบ

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับตัวแทนที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) อาทิ น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในฐานะรองประธานทปอ. นายชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร น.พ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ถึงสถานการณ์ทางการเมือง ว่า รัฐบาลสนใจในข้อเสนอของทปอ.ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของนายกฯที่ต้องการรับฟังความเห็นทุกฝ่าย ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขวิกฤตการเมืองในขณะนี้

การหารือครั้งนี้มีอธิการบดีและรองอธิการบดีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยได้แจ้งให้ทุกคนทราบว่า รัฐบาลยินดีรับฟังข้อเสนอต่างๆ และขอให้ทปอ.อธิการบดี คิดข้อเสนอเพิ่มเติม รวมทั้งอยากให้ช่วยหาทางในการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับผู้ชุมนุม โดยสอบถามอธิการบดีถึงสาระของแถลงการณ์ทปอ.ที่เป็นสาระสำคัญ และได้ขอให้ช่วยคิดเพิ่มเติมในส่วนที่เป็นข้อเสนอสำคัญคือ

1.ให้มีรัฐบาลรักษาการที่เป็นที่ยอมรับมาบริหารประเทศ ระหว่างหรือหลังจากการยุบสภา โดยขอให้ช่วยคิดว่าจะได้รัฐบาลรักษาการตามรัฐธรรมนูญได้อย่างไร และจะมีองค์ประกอบอย่างไรจึงจะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

2.การตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางจากทุกภาคส่วนเพื่อปฏิรูปประเทศไทยในมิติต่างๆ คณะกรรมการนี้จะมีที่มาอย่างไร มีกระบวนการสรรหาและจะมีสถานะทางกฎหมายอย่างไร รวมทั้งข้อเสนอจะมีสถานะทางกฎหมายในระดับใด

3.การขอให้ทปอ.ช่วยหาทางให้เกิดการเจรจา เนื่องจากในข้อเสนอตามแถลงการณ์และที่อธิการได้อธิบาย ข้อเสนอเหล่านี้จะทำให้เกิดผลได้จะต้องเจรจาหารือกันระหว่างรัฐบาลและผู้ชุมนุม ทั้งก่อนที่จะยุบสภาและระหว่างการยุบสภา เพราะฉะนั้น ข้อเสนอต่างๆ จึงเป็นหลักการที่ต้อการรายละเอียดจากการหารือและเห็นพ้องต้องกันของคู่เจรจา

“ปัญหาสำคัญในขณะนี้คือการเจรจายังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากยังไม่เกิดการเห็นพ้องต้องกันว่า จะเจรจาของทั้งสองฝ่าย จึงรบกวนท่านอธิการต่างๆ ช่วยคิดต่อ ผมในฐานะรมว.ศธ.เห็นว่าเป็นข้อเสนอที่ดีและจะเป็นประโยชน์ในสาระสำคัญอาจจะต้องทำให้มีความชัดเจน ที่สำคัญคือข้อเสนอในความเห็นผมนั้น ขณะนี้รัฐบาลมีหลักว่าข้อเสนอใดๆ ที่จะทำจะต้องเป็นไปในกรอบรัฐธรรมนูญเท่านั้น ส่วนรายละเอียดต้องไปให้อธิการและทปอ.คิดว่าจะให้เกิดเป็นจริงได้อย่างไร ทั้งนี้ ผมจะรวบรวบความเห็นในวันนี้เสนอรัฐบาลต่อไป”นายจาตุรนต์ กล่าว

ด้าน น.พ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ทางรมว.ศธ.อยากรับฟังความคิดเห็นจากผู้บริหารมหาวิทยาลัย เพื่อที่จะให้แนวทางความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะที่จะทำให้เกิดความสงบขึ้น รมว.ศธ.ต้องการให้มหาวิทยาลัยมีอิสระทางความคิด วันนี้ท่านจึงไม่ได้สั่งการให้มหาวิทยาลัยมา เหมือนที่เรียกข้าราชการมามอบนโยบาย การหารือในวันนี้นำแถลงการณ์ของทปอ.ฉบับที่ 3 ที่ออกเมื่อวันที่28 พ.ย. และฉบับที่ 4 ที่ออกเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่ผ่านมา ให้รมว.ศธ.ได้ดูในรายละเอียดและเห็นร่วมกันในหลักการใหญ่ๆ คือ

1.เห็นร่วมกันว่า ไม่อยากให้เกิดความรุนแรง และเกิดการเสียเลือดเนื้อในประเทศไทย

2.เห็นด้วยในหลักการว่า น่าจะมีการยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนแบบมีเงื่อนไขก่อนจะยุบสภา ที่ทุกฝ่ายที่เห็นต่างควรจะมาพูดคุยกันว่าจะยุบสภาแล้วมีขั้นตอน มีระบบต่อไปอย่างไร

3. เมื่อยุบสภาแล้วรัฐบาลที่จะมารักษาการ ควรจะเป็นรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย อย่างน้อยก็ฝ่ายที่เห็นต่างในขณะนี้ แล้วมาพูดคุยกันก่อนที่จะยุบสภา แนวทางนั้นควรอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนเชื่อว่าทุกฝ่ายมีนักวิชาการที่มีความสามารถ ไปดูแง่มุมของกฎหมายรัฐธรรมนูญให้ช่องทางที่อยากให้เกิดขึ้นอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และในมุมที่เห็นต่างว่าจะทำได้หรือไม่นั้น การพูดคุยน่าจะได้ข้อสรุป

4.อยากให้แต่งตั้งคณะทำงานทำการสรุปเรื่องสำคัญๆ ในระหว่างยุบสภาเสร็จแล้ว ซึ่งมีเวลาก่อนเลือกตั้ง 60 วัน คณะกรรมการชุดนี้น่าจะมาจากสัดส่วนหรือองค์ประกอบที่ตกลงกันได้ก่อนที่จะมีการประกาศยุบสภา และคณะกรรมการชุดนี้ก็เริ่มทำงานนับตั้งแต่มีการยุบสภาและมีครม.รักษาการ เพื่อตกลงในหลักการสำคัญที่คาดว่าน่าจะมีปัญหาหลังจากเลือกตั้งเสร็จ 4-5 เรื่องมาตกลงกัน เช่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มาตรา 190 หรือ พ.ร.บ.2 ล้านล้านบาท โดยจะหารือในหลักการไม่กระทบเนื้อหา และกรรมการชุดนี้ไม่ได้ทำการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ในช่วงเวลา 60 วัน

5.มีการพูดคุยในหลักการว่า จะทำอย่างไรให้ฝ่ายที่เห็นต่างเริ่มเข้ามาสู่การเจรจา มีการเรียกร้องจาก ทปอ.ในหลักการที่จะยังไม่คุยกัน แสดงความจริงใจที่เป็นรูปธรรม ซึ่งต้องไปหารือว่ามีอะไรบ้าง เมื่อสองฝ่ายได้เสนอความจริงใจมาแล้ว ก็เริ่มพูดคุยกันตามกรอบการยุบสภาแบบมีเงื่อนไข และมีรัฐบาลรักษาการที่ได้รับการยอมรับและมีคณะทำงานช่วง 60 วันก่อนเลือกตั้ง และน่าจะมีสัญญาประชาคมก่อนเลือกตั้งว่า ทุกฝ่ายโดยเฉพาะนักการเมืองจะยอมรับผลการเลือกตั้ง เพราะตกลงกันก่อนแล้วว่าจะใช้หลักเกณฑ์เช่นนี้

“ที่ประชุมไม่ได้ให้ทปอ.เป็นคนกลาง แต่จะไปประชุมกันต่อ และจะเสนอแนวทางและความคิดเห็น เพราะ ทปอ.ไม่ควรผูกขาดเป็นผู้ประสานงาน ควรจะให้ภาคส่วนอื่นๆ ที่อยากเข้ามาประสาน เช่น เอกชน ประชาสังคม แต่วันนี้เราประชุมแค่ทปอ.ซึ่งเรายินดี แต่เราไม่คิดว่าจะมีเราเพียงหน่วยงานเดียว ต้องดึงส่วนอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย”น.พ.เฉลิมชัย กล่าว