posttoday

อธิการบดีแนะรัฐทำสัญญายุติกม.นิรโทษกรรม

08 พฤศจิกายน 2556

อธิการบดีมหาวิทยาลัยเสนอรัฐบาลออกมติครม.สัญญากับประชาชนไม่หยิบนิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณาอีก พร้อมให้ฝ่ายนิติส.ส.ดันร่างกฏหมาย ขอโทษสังคม แสดงความรับผิดชอบ

อธิการบดีมหาวิทยาลัยเสนอรัฐบาลออกมติครม.สัญญากับประชาชนไม่หยิบนิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณาอีก พร้อมให้ฝ่ายนิติส.ส.ดันร่างกฏหมาย ขอโทษสังคม แสดงความรับผิดชอบ

เมื่อวันที่ 8 พ.ย.สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) พญาไท ได้นัดประชุมด่วนอธิการบดี มหาวิทยาลัยทั่วประเทศเพื่อชี้แจง ทำความเข้าใจ และปรึกษาหาทางออกให้ประเทศ โดยมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศธ. นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรมช.เกษตรและสหกรณ์ และนายสามารถ แก้วมีชัย ประธานกรรมาธิการวิสามัญร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าร่วม 

อย่างไรก็ตามผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่กว่า 90%ในวันนี้เป็นตัวแทนที่อธิการบดีจากมหาวิทยาลัยต่างๆมอบหมายให้มาประชุมแทน ส่วนอธิการบดีที่เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และในฐานะรองประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) นายกีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และในฐานะรองประธาน ทปอ. ศ.สุจินต์ จินายน อธิการมหาวิทยาลัยนเรศวร นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยที่ไม่สงตัวแทนมาร่วม อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทั้งนี้นายพงศ์เทพ นายจาตุรนต์ นายวราเทพ และนายสามารถ ได้ยืนยันต่อที่ประชุมว่า พรรคเพื่อไทย และวิปรัฐบาลจะไม่มีการนำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมขึ้นมาเสนออีก และหากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้ยับยั้งร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว เมื่อพ้น 180 วันก็จะปล่อยให้ร่างกฎหมายตกไป และจะไม่มีการออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แน่นอน ฉะนั้นฝากผู้บริหารมหาวิทยาลัยช่วยคิดหาทางว่า จะทำอย่างไรให้ประชาชนเชื่อใจในรัฐบาล จากนั้นได้เปิดให้บรรดาอธิการบดีได้แสดงความเห็น 

ศ.สุจินต์ จินายน อธิการมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า เสนอให้ทำเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเลย เพื่อตกลงร่วมกันว่ารัฐบาลจะไม่หยิบยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือกฎหมายประเภทนี้ขึ้นมาอีก หากภายหลังมีการหยิบยก ก็จะต้องยุบสภา

นางรัชนีกร พุคยาภรณ์ พุกกะมาน อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า เสนอให้นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลลงนามในสัตยาบรรณที่ชัดเจนร่วมกัน ว่าจะไม่หยิบยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมขึ้นมาอีก เพื่อให้ประชาชนได้มั่นใจ ทั้งนี้ เพราะเชื่อว่าการให้สัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษรให้ประชาชนได้เห็น จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ซึ่งต่างจากการแถลงด้วยวาจาที่สามารถตีความได้หลากหลาย

นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า อธิการบดีไม่สามารถไปสั่งการคณาจารย์ บุคลากรของคนในมหาวิทยาลัย ให้ออกมาเรียกร้องหรือหยุดต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมครั้งนี้ได้ เพราะถ้าอธิการบดีไปสั่ง อาจโดนคำถามกลับมาว่าอธิการบดีมีความเข้าใจแล้วหรือยัง อธิการบดีมีหน้าที่อย่างเดียวคือ เป็นตัวอย่างเป็นครูเพื่อดำรงไว้ซึ่งหลักธรรมาภิบาลที่ถูกต้อง ดังนั้นเรื่องนี้ต้องแก้ที่ต้นเหตุ รัฐบาลไม่ควรมาอธิบายอีกว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีหลักการเช่นไร เพราะขณะนี้ชัดเจนแล้วว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศไม่เอา

ทั้งนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ (ส.ส.) ทั้ง 310 คน ที่โหวตให้พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวผ่านวาระ2และ3 ควรแสดงความรับผิดชอบ โดยให้ออกมาขอโทษ ซึ่งคนที่ออกมาขอโทษถือว่าเป็นคนมีเกียรติ เพราะการขอโทษทำยากกว่าการดื้อแพ่งและอธิบายเหตุผลของตัวเอง และถ้าเป็นไปได้ให้ใช้โอกาสนี้สร้างบรรทัดฐานทางการเมืองใหม่ ต่อไปคนทำผิดต้องรับผิด ไม่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมมาล้างผิดในกรณีการทุจริตคอรัปชั่น ยกเว้นกรณีทางการเมือง แต่ต้องให้นิรโทษกรรมตามเหตุตามผลและยึดตามประชามติ และให้นำวิกฤตสร้างการเมืองแบบมีส่วนร่วม

“ต่อไปการเมืองแบบมีส่วนร่วม ส.ส.และส.ว.ต้องทำตัวเป็นแค่ผู้แทนเท่านั้น ถ้าออกกฎหมายเรื่องใดมาและมีเสียงเห็นต่าง โดยเฉพาะกฎหมายที่มีคนกังวล สภาก็ต้องทำตามความเห็นต่างนั้น ถ้าทำไม่ได้ก็ให้ลาออกไป ให้คนที่ทำได้เข้ามาแทน”นพ.เฉลิมชัย กล่าว

ด้าน นาย สมเดช นิลพันธุ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม กล่าวว่า ตั้งแต่มีเหตุการณ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เกิดขึ้น ไม่เคยได้ยินคำว่าขอโทษจากรัฐบาล หรือจากส.ส.ในรัฐสภา ซึ่งถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างแรก รัฐบาลต้องเลิกใช้คำว่า ประชาชนไม่เข้าใจ หรือคนไทยยังไม่พร้อม และออกมาขอโทษประชาชน แต่ถ้ารัฐบาลพูดคำว่าขอโทษไม่เป็น จะให้อาจารย์มหาวิทยาลัยสอน เราก็ยินดี

อธิการบดีแนะรัฐทำสัญญายุติกม.นิรโทษกรรม

 

อธิการบดีแนะรัฐทำสัญญายุติกม.นิรโทษกรรม

 

อธิการบดีแนะรัฐทำสัญญายุติกม.นิรโทษกรรม