posttoday

ไทยมีลุ้น ศึกพระวิหาร

12 เมษายน 2556

การเมืองในช่วงวันหยุดสงกรานต์คงจะไม่มีประเด็นร้อนเท่ากับคดีปราสาทพระวิหาร

โดย...ทีมข่าวการเมือง

การเมืองในช่วงวันหยุดสงกรานต์คงจะไม่มีประเด็นร้อนเท่ากับคดีปราสาทพระวิหาร ซึ่งทั้งไทยและกัมพูชามีนัดเข้าให้ถ้อยคำกับศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 15 - 19 เม.ย.

ทั้งนี้ ตามกำหนดกระทรวงต่างประเทศไทยได้ระบุว่า วันที่ 15 เม.ย. เป็นคิวชี้แจงของกัมพูชา วันที่ 16 เม.ย. ศาลจะหยุดรับฟังคำชี้แจงเพื่อให้ฝ่ายไทยเตรียมพร้อมก่อนชี้แจงในวันที่ 17 เม.ย. จากนั้นวันที่ 18 เม.ย. กัมพูชาชี้แจงสรุป และวันที่ 19 เม.ย. ไทยชี้แจงสรุปรอบสุดท้าย

สำหรับข้อต่อสู้ของฝ่ายไทยได้เตรียมไว้ทั้งหมด 3 ประเด็นหลัก เพื่อหักล้างคำร้องของกัมพูชา ดังนี้

1.ไทยยืนยันว่า คำขอของกัมพูชาไม่ใช่คำขอตีความ แต่เป็นคำฟ้องคดีใหม่ ศาลโลกไม่มีอำนาจตีความ

2.ไทยและกัมพูชาไม่เคยมีข้อขัดแย้งเรื่อง “พื้นที่ใกล้เคียง” (Vicinity) บริเวณรอบปราสาทพระวิหาร

3.ไทยเห็นว่า พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน 4.6 ตร.กม. ไม่มีความเชื่อมโยงกับคดีปราสาทพระวิหาร เพราะเป็นเรื่องที่เกิดใหม่ภายหลังจากการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกฝ่ายเดียวของกัมพูชา

ขณะเดียวกัน ล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศได้นำประเด็นหลักฐานมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน คือ ภายหลังการล้อมรั้วรอบปราสาทพระวิหารตามคำพิพากษาศาลโลก ปี 2505 พระบาทสมเด็จพระนโรดมสีหนุ กษัตริย์กัมพูชาในขณะนั้น ได้เคยเสด็จฯ ขึ้นไปบนเขาพระวิหาร โดยไม่ได้เคยโต้แย้งหรืออุทธรณ์การปฏิบัติของฝ่ายไทย

คาดการณ์กันว่า ศาลโลกน่าจะมีคำพิพากษาออกมาภายใน 6 เดือน หลังจากรับฟังคำชี้แจงและข้อต่อสู้ของทั้งสองประเทศ

ทิศทางของคำพิพากษาสามารถออกได้ 2 รูปแบบ คือ 1.ศาลไม่พิพากษาคดี โดยมองว่าตัวเองไม่มีอำนาจตีความ เพราะเป็นประเด็นเดิมที่ศาลโลกได้พิพากษาไปแล้วตั้งแต่ปี 2505 ที่ให้ตัวปราสาทเป็นของกัมพูชา ถ้าออกมาในรูปแบบนี้ เท่ากับว่าไทยเป็นฝ่ายชนะคดี และ 2.ศาลให้กัมพูชาเป็นฝ่ายชนะ หมายความว่า ไทยจะต้องถอนกำลังออกจากพื้นที่พิพาท ไม่เพียงเท่านี้ต้องดูด้วยว่าศาลจะวินิจฉัยขยายความไปถึงเรื่องเส้นเขตแดนของทั้งประเทศที่มีความทับซ้อนกันอยู่หรือไม่

ถ้ามองโอกาสของไทยในเวลานี้ ถือว่าจะแพ้หรือชนะมีโอกาสเท่าๆ กัน เพราะยังไม่มีใครประเมินได้ว่า ศาลโลกจะใช้หลักนิติศาสตร์มาพิพากษาคดีแบบ 100% หรือจะผนวกกับหลักรัฐศาสตร์เข้าไปด้วยผ่านการมองว่า ถ้าพิพากษาให้คุณให้โทษฝ่ายหนึ่งย่อมมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบระหว่างไทยกับกัมพูชาเกิดขึ้น

“ปณิธาน วัฒนายากร” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองโอกาสของไทยว่า โอกาสชนะคดียังมีอยู่พอสมควร เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่ศาลโลกจะเข้ามาทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยปัญหาให้กับทั้งสองประเทศ เหมือนกับเคยมีคำสั่งให้ไทยและกัมพูชาถอนทหารออกจากพื้นที่พิพาทมาแล้ว

“คิดว่าการพิจารณาของศาลโลกในครั้งนี้ จะคำนึงถึงบริบทความขัดแย้งของไทยและกัมพูชาด้วย ถ้ายึดหลักนี้ก็มีความเป็นไปได้ที่ศาลอาจจะไม่วินิจฉัย เพราะเห็นว่าเป็นประเด็นที่เคยให้ความเห็นไปแล้วเมื่อปี 2505 เท่ากับว่าไม่เข้าไปยุ่งกับปัญหาเส้นเขตแดนตามที่กัมพูชามีความพยายามอยากให้ตีความ โดยศาลอาจคำนึงว่าปัญหาดังกล่าวทั้งสองประเทศสามารถใช้กลไกคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (เจบีซี) แก้ปัญหาได้”

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ วิเคราะห์อีกว่า อย่างไรก็ตาม การที่ศาลโลกเป็นศาลการเมืองย่อมหมายความว่าอาจมีกระบวนการล็อบบี้เกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงที่สุดเช่นกัน เนื่องจากสถานะของไทยในต่างประเทศถ้าเทียบกับกัมพูชา ต้องถือว่าไทยใหญ่กว่ากัมพูชา จึงอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ศาลจะนำมาเป็นประเด็นในการพิจารณาได้ จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยต้องส่งสัญญาณให้ดี

สอดคล้องกับ “คำนูณ สิทธิสมาน” สว.สรรหา ประเมินว่า ที่สุดแล้วศาลโลกจะไม่ตีความในเรื่องแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน อันเป็นประเด็นหลักที่กัมพูชาอยากให้ศาลโลกวินิจฉัย เพราะคำร้องที่กัมพูชาขอความเห็นจากศาลโลกไม่ถือว่าเป็นคดีใหม่ แต่เป็นเพียงการขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาในปี 2505 เท่านั้น ซึ่งคำพิพากษาเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ศาลโลกไม่ได้ให้ความเห็นในเรื่องอัตราส่วนของแผนที่ที่กัมพูชาอ้าง มีเพียงการพิพากษาให้ตัวปราสาทเป็นของกัมพูชาและไทยต้องคืนวัตถุโบราณที่เกี่ยวข้องคืนเท่านั้น

“เราไม่มีทางคาดการณ์ได้เลยว่า ศาลโลกจะมีความเห็นไปในแนวทางไหน แต่ประเด็นสำคัญตอนนี้ คือ รัฐบาลไทยควรสงวนท่าทีเอาไว้บ้าง ไม่ใช่ไปประกาศต่อสาธารณะหลายครั้งว่า ไทยจะยอมรับกับคำพิพากษาของศาลโลกในทุกประเด็นเหมือนกับที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เพราะอาจเกิดปัญหาในประเทศตามมาได้ ในกรณีที่ศาลโลกวินิจฉัยกระทบต่อพื้นที่พิพาทขึ้นมาจริงๆ”

เมื่อมองจากรูปการและบริบทแล้ว มองได้ว่าไทยมีโอกาสชนะอยู่ไม่น้อย แต่ก็ไม่สามารถประมาทความเขี้ยวในเวทีการเมืองระหว่างประเทศของกัมพูชา