ดัน"เกาะช้าง"สู่เมืองโลว์คาร์บอน
อปท.เตรียมวางนโยบายให้อุทยานเกาะช้าง เป็นแหล่งท่องเที่ยวโลว์คาร์บอน
อปท.เตรียมวางนโยบายให้อุทยานเกาะช้าง เป็นแหล่งท่องเที่ยวโลว์คาร์บอน
พล.ต.หญิงจรัสพิมพ์ ธีรลักษณ์ ผู้จัดการพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน (อปท.) กล่าวว่า พื้นที่ชุ่มน้ำในอุทยานแห่งชาติเกาะช้าง จ.ตราด ถือได้ว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำในระดับนานาชาติ เพราะมีระบบนิเวศที่หลากหลาย ได้แก่ ป่าเขา ป่าบก และพื้นที่ป่าชายเลน และเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวหนึ่งที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกสู่บรรยากาศเป็นจำนวนมาก จึงต้องมีการจัดโครงการเพื่อบริหารจัดการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ลดลง หรือเรียกว่าเป็น Low Carbon destination ซึ่งปีที่แล้วเกาะหมาก ได้เป็นพื้นที่น้ำร่องในการจัดโครงการดังกล่าว
ทั้งนี้อปท.จะมีหน้าที่คอยประสานงาน ส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์ความรู้แก่ประชาชนบนเกาะช้าง พร้อมนำเสนอให้แก่คณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังได้รณรงค์การใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นเรื่องของการประหยัดพลังงาน มีการทำแผงโซล่าเซลล์ให้กับวัดเกาะหมาก และการใช้พลังงานทางเลือกโดยมีการพัฒนาสถานชาร์จแบตเตอรี่จักรยานไฟฟ้าและไฟฟ้าบนสะพานยามค่ำคืน พร้อมทั้งนำขยะที่เหลือใช้มาทำเป็นก๊าซชีวิภาพอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม นายชุมพล สุขเกษม ผู้แทนคณะทำงานวิชาการพื้นที่ชุ่มน้ำ ระบุว่า ปัจจุบันยังพบปัญหาข้อขัดแย้งในเรื่องของการลุกล้ำที่ดินของนายทุนเข้ามาในเขตพื้นที่อุทยานฯ เช่น การสร้างรีสอร์ท การสร้างบ้านสีสันแปลกตา ที่ขัดกับข้อจำกัดในการใช้สีให้สอดคล้องกับธรรมชาติ
"จากปัญหาที่พบนั้นขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการโดยสร้างความร่วมมือกับชุมชนและองค์กรเอกชน รวมทั้งผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการแก้ไขข้อขัดแย้งเพื่อวางแผนพัฒนา อีกทั้งวางแนวทางวางแผนกิจกรรมนันทนาการ ซึ่งต้องมีความสอดคล้องกับพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 แนวทางนโยบายการจัดการอุทยานแห่งชาติ รวมถึงความต้องการหรือข้อเสนอของประชาชน"นายชุมพลกล่าว
สำหรับด้านสถานการณ์การระบายน้ำในกทม. นายกังวาฬ ดีสุวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากการศึกษาจัดทำแผนแม่บทระบบป้องกันน้ำท่วมและระบบระบายน้ำด้านตะวันออกของกทม. ในพื้นที่ 650 ตารางกิโลเมตรนั้น ผลการศึกษาได้เสนอแนะในจัดหาบึง สระ เพื่อรองรับน้ำจำนวน 26 แห่ง เพื่อช่วยระบบระบายน้ำที่มีขีดจำกัดโดยมีปริมาณน้ำส่วนเกินที่ต้องกักเก็บประมาณ 13 ล้าลูกบาศก์เมตร
นายกังวาฬกล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนการจัดหาเพิ่มเติม กทม.ได้มีการติดต่อเจ้าของบึงในหมู่บ้านจัดสรรเอกชน เพื่อขอใช้พื้นที่แก้มลิง เพื่อป้องกันน้ำท่วมในฤดูฝน โดยในเบื้องต้นได้รับความร่วมมือจากเจ้าของบึงเอกชนให้เข้าไปดำเนินการ ได้แก่ บึงหมู่บ้านสัมมากร เขตสะพานสูง หมู่บ้านเมืองทองการ์เด้น หมู่บ้านเมืองทอง 2/1 หมู่บ้านเมืองทอง 2/2 เขตประเวศ นอกจากนี้ยังได้เสนอขอแก้ไขข้อกำหนดจัดสรรที่ดินกทม. เพื่อจัดให้มีพื้นที่หน่วงน้ำในที่ดินจัดสรร เพื่อเก็บปริมาณน้ำส่วนที่เพิ่มขึ้นจากการสร้างหมู่บ้านจัดสรรที่กำลังก่อสร้างใหม่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกทม. กำลังพิจารณาแก้ไขข้อกำหนดดังกล่าว