posttoday

เฟดเดิมพันดอกเบี้ยต่ำฤทธิ์แรงจุดชนวนสงครามค้าโลก

21 มกราคม 2556

ถ้าเปรียบแดนลุงแซมประเทศสหรัฐเป็นคนป่วยที่กำลังรักษาอาการโรคพิษเศรษฐกิจเรื้อรัง

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ถ้าเปรียบแดนลุงแซมประเทศสหรัฐเป็นคนป่วยที่กำลังรักษาอาการโรคพิษเศรษฐกิจเรื้อรัง สารพัดมาตรการแก้ปัญหาและแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหลาย ย่อมเปรียบได้กับยารักษาหรือช่วยบรรเทาอาการ โดยมีคุณหมอใหญ่ คือ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นผู้ดูแลสั่งจ่ายยา

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการจ่ายยาของเฟดแต่ละครั้งล้วนออกฤทธิ์แรงที่ส่งผลสะท้านไปทั่วโลก เห็นได้จากนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ระลอกแล้วระลอกเล่าที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม นอกจากยาแรงอย่างคิวอีแล้ว อีกหนึ่งตัวยาสำคัญที่เฟดนำมาใช้ควบคู่ไปด้วยอย่างนโยบายกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำเกือบศูนย์ เพื่อช่วยกดค่าเงินเหรียญสหรัฐให้อ่อนค่าลงไปด้วย ก็นับเป็นอีกหนึ่งยาฤทธิ์แรงที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้เช่นกัน

เพราะแม้จะมีผลดีต่อการส่งออก และมีผลพลอยได้ช่วยลดการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐ แต่ผลข้างเคียงจากการใช้ยาดังกล่าวก็แรงเอาเรื่องไม่แพ้กัน ตั้งแต่การสร้างความไม่พอใจให้กับประเทศคู่ค้าจนเปลี่ยนมิตรเป็นศัตรู บั่นทอนความน่าเชื่อถือของเงินเหรียญสหรัฐ ไปจนถึงการสร้างบรรยากาศความกลัวสั่นคลอนเสถียรภาพและก่อสงครามการค้าในที่สุด

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จากหลายสำนักทั่วโลกต่างลงความเห็นไปในทางเดียวกันว่า แม้จะรู้ทั้งรู้ แต่เฟดในขณะนี้ก็ยอมเสี่ยงดวงวางเดิมพันครั้งใหญ่กับนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อหวังผลช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของบรรดาผู้ประกอบการสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อการจ้างงานที่จะทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อ และทำให้เศรษฐกิจของประเทศภาพรวมดีขึ้นในที่สุด

นอกจากนี้ ผลลัพธ์อีกประการหนึ่งซึ่งเป็นผลพลอยได้และเป็นประโยชน์มหาศาลต่อรัฐบาลสหรัฐก็คือ การช่วยให้ตัวเลขการขาดดุลงบประมาณภาครัฐลดลง

และข้อมูลตัวเลขดุลงบประมาณสหรัฐ คือประจักษ์พยานที่สะท้อนให้เห็นได้เด่นชัดที่สุด

นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เฟดสามารถทำกำไรมหาศาลนำเงินเข้าคลังได้อย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากเฟดระบุว่า เฉพาะปี 2555 ที่ผ่านมา เฟดสามารถทำกำไรได้ถึง 9.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.73 ล้านล้านบาท) และส่งเงินเข้าคลัง 8.89 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.67 ล้านล้านบาท) มากกว่าปริมาณที่เคยส่งให้คลังเมื่อปี 2551 ก่อนเกิดวิกฤตการเงินซึ่งอยู่ที่ 3.17 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 9.51 แสนล้านบาท)

กำไรของเฟดข้างต้นเป็นอานิสงส์จากแผนการทุ่มซื้อพันธบัตร (คิวอี) ของตนเอง ซึ่งทำให้มูลค่าพันธบัตรในตลาดสูงขึ้น และกดอัตราผลตอบแทนให้ต่ำลง จนช่วยลดภาระในการจ่ายดอกเบี้ยของภาครัฐได้เป็นอย่างดี และทำให้รัฐมีเงินเข้าคลังมาใช้จ่าย โดยขนาดสินทรัพย์ของเฟดในช่วงสิ้นปี 2555 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 2.65 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จากเดิมที่ประมาณ 7.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2550

แถมเงินสำหรับการซื้อพันธบัตร ก็มาจากการที่เฟดพิมพ์เงินออกมาโดยไม่มีทุนสำรองใดๆ ค้ำประกัน ก่อนนำไปใส่ไว้ในบัญชีของเฟดตามสถาบันการเงินต่างๆ ที่มีการขายสินทรัพย์ ซึ่งเฟดจะจ่ายดอกเบี้ยให้แค่ตามจำนวนเงินที่ผู้ซื้อทิ้งไว้ในบัญชีนั้นๆ โดยไม่จ่ายดอกเบี้ยให้หากมีการถอนไปใช้ แถมเฟดยังเก็บดอกเบี้ยจากสินทรัพย์ที่ซื้อไว้เองอีก ส่งผลให้ยอดรวมสินทรัพย์ที่เฟดลงทุนไว้ทำกำไรได้เพิ่มสูงขึ้น

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ เฟดพิมพ์เงินซื้อของของตน ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าให้ของสิ่งนั้น จนนักลงทุนในตลาดอื่นสนใจเข้ามาซื้อ และในที่สุดสหรัฐก็จะมี “เงิน” ที่มีมูลค่าเข้ามาใช้จ่าย

งานนี้เฟดจึงมีแต่ได้กับได้

อย่างไรก็ตาม ฤทธิ์ยาข้างต้นไม่ได้มีผลกระทบด้านบวกเพียงอย่างเดียว เนื่องจากยังมีผลข้างเคียงรุนแรงที่ทำใจมองข้ามได้ยากเช่นกัน

ผลข้างเคียงที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ การเป็นตัวก่อชนวนสงครามค่าเงิน เนื่องจากการที่เฟดกดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำกว่าธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ ส่งผลให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐอ่อนกว่าค่าเงินสกุลอื่น โดยเฉพาะพันธมิตรคู่ค้าหลักของตนเอง ทำให้ประเทศเหล่านั้นอยู่ในอาการที่ค่อนข้างจะหัวเสีย และไม่พอใจอย่างมากแน่นอน

เพราะในสถานการณ์ที่ค่าเงินเหรียญสหรัฐอ่อนกว่าค่าเงินของประเทศตนเอง สินค้าของสหรัฐย่อมได้เปรียบในตลาดส่งออกเนื่องจากราคาถูก แต่สินค้าของประเทศนั้นๆ ที่นำเข้าสหรัฐจะมีราคาแพงทันที หรือตกอยู่ในสถานการณ์เสียเปรียบทางการแข่งขันอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงหลังจากเกิดวิกฤตการเงิน และเริ่มประกาศใช้นโยบายคิวอีกับคงอัตราดอกเบี้ยต่ำ ค่าเงินเหรียญสหรัฐเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้าหลักแล้ว จะเห็นได้ว่าปรับตัวลดมาแล้วมากกว่า 10%

ผลลัพธ์ที่ได้ส่วนหนึ่งช่วยให้บรรดาอุตสาหกรรมในสหรัฐเริ่มฟื้นตัว เพราะราคาสินค้า “เมดอินอเมริกา” ได้เปรียบคู่แข่งจากต่างชาติในเรื่องราคาทั้งตลาดภายในและภายนอกสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ข้างต้นจะทำให้สหรัฐยินดี เพราะการที่ภาคอุตสาหกรรมของประเทศขายของได้ มีผลกำไรดี ย่อมหมายถึงการจ้างงานที่มากขึ้น แต่บรรดาประเทศคู่ค้าย่อมไม่ยินดีไปด้วยแน่นอน เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลร้ายต่อรายได้ของประเทศตนเอง

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ เมื่อสหรัฐทำได้ ประเทศคู่ค้าก็ทำได้เช่นกัน จนกลายเป็นว่าหลายประเทศเริ่มดำเนินนโยบายตามรอยสหรัฐ โดยหันมาใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำกันทั่วหน้า

เห็นได้จากญี่ปุ่นภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ที่เพิ่งจะประกาศให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ลดค่าเงินเยนลง เช่นเดียวกับจีนซึ่งเริ่มพิจารณามาตรการในแนวทางเดียวกันบ้างแล้ว ขณะที่เยอรมนีที่แม้จะไม่สามารถควบคุมค่าเงินยูโรได้โดยตรง แต่ก็เป็นหัวเรือใหญ่ที่ให้การสนับสนุนโครงการของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่มีเป้าหมายช่วยเหลือบรรดาประเทศในกลุ่มที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งโครงการเหล่านั้นมีส่วนสำคัญในการลดค่าเงินยูโรที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของเยอรมนีด้วยเช่นกัน

ปัญหาที่นักวิเคราะห์มองเห็นเนื่องจากเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจซบเซาเมื่อ 80 ปีที่แล้วก็คือ เมื่อหลายประเทศแข่งกันลดค่าสกุลเงินของตนเองจนต่ำกันทั้งหมด ไม่มีใครหน้าไหนสามารถทำประโยชน์หรือได้กำไรสักราย แถมที่เลวร้ายกว่านั้น ผลจากการกดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำเพื่อลดค่าเงิน ยังทำให้การค้าโลกอยู่ในสภาวะขาดเสถียรภาพ เต็มไปด้วยความหวาดระแวง และกลายเป็นสงครามทางการค้าในที่สุด

ยิ่งไปกว่านั้น การที่เฟดยังคงเดินหน้าใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ ยังเสี่ยงต่อสถานะความน่าเชื่อถือของสกุลเงินเหรียญสหรัฐ จนอาจพูดได้ว่าเฟดกำลังวัดดวงวางเดิมพันความเสี่ยงสูงกับสกุลเงินของประเทศตนเอง

เพราะต้องไม่ลืมว่าสถานะของสกุลเงินเหรียญสหรัฐ นอกจากจะเป็นเงินประจำชาติแล้ว ยังเป็นหนึ่งในไม่กี่สกุลเงินของโลกที่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งช่วยให้สหรัฐดูดเงินจากที่ต่างๆ ของโลกมาเป็นทุนทางการค้า และจัดการกับการขาดดุลงบประมาณโดยไม่ต้องคอยจัดการงบดุลในบัญชีของตนเอง

กระนั้น การที่สหรัฐพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้เอง โดยไม่พึ่งทุนสำรองเงินตราของประเทศเป็นตัวค้ำ และอาศัยเพียงสถานะความเป็นมหาอำนาจแทน จนทำให้สหรัฐเป็นประเทศเดียวในโลกที่ยังสามารถออกพันธบัตรหรือพิมพ์เงินออกมาใช้จุนเจือการใช้จ่ายที่เกินตัว ก็ไม่ต่างอะไรกับการลดทอนมูลค่าและความน่าเชื่อถือสกุลเงินเหรียญสหรัฐให้ลดน้อยลง

ในที่สุดประเด็นข้างต้นก็กลายเป็นเงื่อนรัดคอสหรัฐเอง เพราะนอกจากจะต้องรักษาค่าเงินเหรียญสหรัฐให้อ่อนลงเพื่อผลประโยชน์ของประเทศแล้ว สหรัฐยังต้องรับกับแรงกดดันของนานาชาติ เพื่อรักษาสถานะบทบาทของการเป็นสกุลเงินหลักในเงินทุนสำรองระหว่างประเทศต่อไป

ทั้งนี้ สิ่งที่นักวิเคราะห์หลายสำนักเห็นตรงกันก็คือ ท้ายที่สุดแล้วเฟดจะต้องปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยขึ้นตามแรงกดดันของตลาดการเงินและธนาคารกลางทั่วโลกแน่นอน

แต่กว่าจะถึงเวลานั้น เดิมพันดอกเบี้ยต่ำและค่าเงินเหรียญสหรัฐอ่อนของเฟด คงก่อปัญหาสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจการค้าโลกไม่น้อย