posttoday

ตามล่า'หมายจับ'1.5แสนใบยังลอยนวล

13 สิงหาคม 2555

แน่นอนว่าไม่มีใครที่อยากจะมี “หมายจับ” ติดตัวไม่ว่าคดีใดก็ตาม และก็เช่นเดียวกัน คนที่มี “หมายจับ” ติดตัว

โดย...วัสยส งามขำ

แน่นอนว่าไม่มีใครที่อยากจะมี “หมายจับ” ติดตัวไม่ว่าคดีใดก็ตาม และก็เช่นเดียวกัน คนที่มี “หมายจับ” ติดตัว ก็คงไม่อยากจะถูกตำรวจตามลากตัวไปนอนในมุ้งสายบัว นั่นทำให้ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ในฐานะรอง ผบ.ตร. ต้องโดดลงมาตามลากคอผู้ต้องหาทั่วประเทศที่หลบหนีหมายจับ หลังพบว่ายังค้างอยู่เกือบ 1.5 แสนใบ

นอกจากตำรวจที่ขอให้ศาลอนุมัติหมายจับแล้ว ยังมีหน่วยงานอีกบางแห่งที่มีอำนาจสอบสวน ก็สามารถที่จะขอศาลออกหมายจับได้ ที่ผ่านมาหมายจับจึงกระจายอยู่อย่างไม่เป็นระบบ พล.ต.อ.พงศพัศ จึงตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อสะสางและรวบรวมไว้ติดตามไล่ล่า จากการไล่เรียงมา 2 เดือน ทำให้รู้ว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมานั้น มีหมายจับที่ยังตามจับผู้ต้องหาไม่ได้มากถึง 146,410 ใบ

พล.ต.อ.พงศพัศ กล่าวว่า หากผู้ต้องหาไม่ถูกจับกุม เท่ากับเปิดโอกาสให้คนร้ายหวนกลับไปก่ออาชญากรรมแบบเดิมอีก หรือไม่ก็พัฒนาการการก่ออาชญากรรมให้รุนแรงยิ่งขึ้น ที่สำคัญเรากำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จึงจำเป็นที่จะต้องรวบรวมสถิติต่างๆ ให้เป็นระบบ เพราะหมายจับเหล่านี้นอกจากมีคดีที่เกี่ยวกับคนไทยแล้ว ยังรวมถึงหมายจับคนต่างชาติด้วย

“ผมได้สั่งการให้รวบรวมหมายจับใหม่ทั้งหมด พร้อมทั้งระบุถึงรูปพรรณ ภาพถ่าย และพฤติกรรมของคนร้าย ซึ่งต้องอัพเดตทั้งหมด เพื่อให้ง่ายในการติดตามตัว ก่อนที่จะนำข้อมูลเหล่านี้กระจายให้กับตำรวจทั่วประเทศ โดยมีสำนักงานสารสนเทศและการสื่อสาร สตช. เป็นแม่งาน” พล.ต.อ.พงศพัศ กล่าว

ตามล่า'หมายจับ'1.5แสนใบยังลอยนวล

ข้อมูลหมายจับทั้งหมดจะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจราว 1,650 โรงพักทั่วประเทศ และตำรวจที่มีอำนาจสอบสวน เช่น ตำรวจสอบสวนกลาง ตำรวจปราบปรามยาเสพติด ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เป็นผู้ส่งเข้ามายังส่วนกลาง โดยผ่านระบบ Police Information System หรือ POLIS ซึ่งระบบนี้ถูกติดตั้งอยู่ทุกโรงพักทั่วประเทศ จากนั้นสำนักงานสารสนเทศฯ และกองทะเบียนประวัติอาชญากร จะเป็นผู้ตรวจสอบและรวบรวม ก่อนที่จะกระจายผ่านระบบ POLIS ออกไปยังตำรวจทั่วประเทศ

“กองทะเบียนประวัติอาชญากรจะมอนิเตอร์ข้อมูลทุกวัน และตรวจสอบหมายจับเก่า ใหม่ และหมายจับที่ถูกยกเลิก ไม่ว่าจะเป็นหมายจับจากศาล ตำรวจ หรือแม้กระทั่งดีเอสไอ ก็จะมารวมที่นี่หมด เพื่อให้การรวบรวมมีประสิทธิภาพ” เขากล่าวพร้อมกับบอกว่า ในระดับโรงพักนั้นจะต้องมีการตรวจสอบสำนวนการสอบสวนทุก 15 วัน เพื่อดูว่าตำรวจแต่ละแห่งนั้นได้กรอกข้อมูลหมายจับเข้ามาในระบบแล้วหรือไม่ เพื่อป้องกันการทุจริตหรือหมกเม็ดของพนักงานสอบสวน ในกรณีนี้จึงวางใจได้ว่าจะไม่มีการดึงข้อมูลไว้ ไม่ส่งหมายจับเข้ามาในส่วนกลางเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหา

นอกจากหมายจับที่ออกโดยศาลในประเทศไทยแล้ว ยังได้รวบรวมหมายจับของคนร้ายข้ามชาติไว้ด้วย โดยกองการต่างประเทศประสานงานกับตำรวจประเทศต่างๆ รวมทั้งหมายจับของตำรวจสากล หรือ InterPol ด้วย จึงเรียกได้ว่าเป็นการรวบรวมที่ครบจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“จะมีการติดตามความคืบหน้าการจับกุม ซึ่งแต่ละกองบัญชาการที่จะต้องคิดหาวิธีและแรงจูงใจที่จะให้ตำรวจออกจับกุมผู้ต้องหา เพื่อลดจำนวนหมายจับลง ขณะนี้กำลังเฝ้าดูอยู่แต่ไม่ถึงกับกดดัน เพราะตำรวจมีหน้าที่ต่างๆ ที่ต้องทำด้วย แต่ตั้งเป้าไว้ว่าจะลดจำนวนหมายจับให้ได้อย่างน้อย 40% แต่ยังไม่ได้กำหนดกรอบเวลา”

สำหรับผลการจับกุมในช่วงที่ผ่านมานั้น ผลงานของกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) กับกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 (บช.ภ.1) เป็นที่พอใจ อย่างไรก็ตาม หมายจับค้างเก่าตั้งแต่ 11 ต.ค. 2545-8 ส.ค. 2555 ที่มีค้างอยู่มากที่สุดนั้น คือ บช.ภ.1 จำนวน 22,441 ใบ รองลงมาเป็น บช.น. จำนวน 17,788 ใบ และ บช.ภ.4 จำนวน 17,069 ใบ ตามลำดับ ส่วนกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) มีหมายจับค้างน้อยที่สุด คือ 69 ใบ

“ผมได้ประสานให้ตำรวจกองปราบฯ เข้าไปช่วยไล่ล่าผู้ต้องหาตามหมายจับด้วย ไม่เช่นนั้นจำนวนหมายจับจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากคนร้ายหน้าใหม่และคนร้ายเก่าที่ยังไม่ถูกจับกุมดำเนินคดี” พล.ต.อ.พงศพัศ กล่าวพร้อมกับบอกต่อว่า ในส่วนของโรงพักนั้นได้สั่งการไปยังฝ่ายสืบสวนแล้ว ว่าจะต้องคอยมอนิเตอร์ระบบ POLIS ในทุกวัน เพื่อดูว่าในพื้นที่ของตัวเองนั้นมีหมายจับค้างอยู่บ้างหรือไม่ หรือคนร้ายในท้องที่อื่นย้ายเข้าไปอยู่ในพื้นที่ของตัวเองหรือไม่ ซึ่งทางกองทะเบียนประวัติฯ จะร่วมกับสำนักงานสารสนเทศฯ จะเป็นผู้แจ้งเตือนไป

พล.ต.อ.พงศพัศ กล่าวด้วยว่า ได้เน้นให้จับกุมคนร้ายที่ก่อเหตุที่เกี่ยวกับทรัพย์ เพราะถือเป็นอาชญากรรมพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นลัก วิ่ง ชิง ปล้น อาชญากรรมประเภทนี้จะถูกกวาดล้างเป็นลำดับต้นๆ