posttoday

เริ่มเองจากภายในดีกว่า

27 มกราคม 2555

ในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินทั่วเอเชีย หรือที่เรียกกันทั่วไปในประเทศไทยว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง”

ในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินทั่วเอเชีย หรือที่เรียกกันทั่วไปในประเทศไทยว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง”

โดย...วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

ในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินทั่วเอเชีย หรือที่เรียกกันทั่วไปในประเทศไทยว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ในปี พ.ศ. 2540 นั้น เป็นผลให้วิสาหกิจทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ในประเทศไทยต้องเลิกกิจการไปจำนวนมาก และหลายแห่งต้องปลดคนงานออกเพื่อความอยู่รอด

สาเหตุหลักเกิดจากวิสาหกิจเหล่านั้นได้แต่พึ่งพาธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่มักจะหลงระเริงกับการลงทุนและกำไรจากการส่งออก โดยไม่สนใจกับการพัฒนาคุณภาพ (Quality) และผลิตภาพ (Productivity) ภายในองค์กร

เรื่อง “วิกฤตต้มยำกุ้ง” นี้ ศ.พอล ครุกแมน (Paul Krugman) แห่งมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2551 ได้กล่าวว่า ความเจริญรุ่งเรืองของเอเชียในอดีตเกิดจากนโยบายดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ หรือการเคลื่อนย้ายทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment หรือ FDI) เข้ามาแทบทั้งสิ้น มิได้เกิดจากพัฒนาการประสิทธิภาพหรือผลิตภาพโดยรวม (Total Factor Productivity Growth) ในทุกภาคส่วนของประเทศต่างๆ ของเอเชีย

ศ.ครุกแมน ตอกย้ำว่า “คุณภาพและผลิตภาพ” เท่านั้นที่จะทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ในช่วงปี พ.ศ. 25452546 ได้มีการทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “ปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในการบริหารจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (Total Quality Management : TQM) ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทย” จำนวน 550 รายทั่วประเทศ

ผลการศึกษาวิจัยยืนยันข้อสังเกตของ ศ.ครุกแมน ที่ว่ากว่าร้อยละ 50 ของกลุ่มตัวอย่างไม่ได้เตรียมการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 จนกระทั่งเกิดวิกฤตการณ์ซึ่งถือเป็นปัจจัยภายนอก ที่กดดันให้สถานประกอบการเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของคุณภาพและผลิตภาพ

เพราะเมื่อมีการบริหารจัดการคุณภาพและผลิตภาพอย่างดีแล้ว จะส่งผลให้ต้นทุนการประกอบธุรกิจลดลงอย่างต่อเนื่อง

รายที่ปรับตัวทันก็อยู่รอด ส่วนรายที่ปรับตัวช้าก็ต้องเลิกราไป

นอกจากนี้ ผลการศึกษาวิจัยดังกล่าวยังชี้ให้เห็นถึงแรงขับเคลื่อนจากภายในองค์กร (จากพนักงานและลูกจ้าง) ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพ เพราะต้องการให้สถานประกอบการอยู่รอด เนื่องจากเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของพวกเขา

การต้องต่อสู้ดิ้นรนทุกวิถีทางจากแรงกดดันภายใน จึงมีความสำคัญมากกว่าแรงกดดันจากภายนอก เพราะเกิดจากการคิดได้เอง (ไม่ใช่ถูกบังคับ)

ในเรื่องของ “อุตสาหกรรมสีเขียว” (Green Industry) ก็เช่นกัน แม้ว่าองค์กรจำนวนมากจะยังไม่เห็นถึงความจำเป็นและความสำคัญของการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมนั้น เหตุการณ์ซ้ำรอยที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2540 ก็อาจเกิดขึ้นได้เมื่อสภาพแวดล้อมของโลกมีคุณภาพลดลงจนถึงจุดที่ภาคอุตสาหกรรม (ซึ่งมักเป็นจำเลยของสังคม) ต้องถูกบังคับโดยกฎหมายให้ปรับตัว

ความสำเร็จในการปรับตัวจึงขึ้นกับแรงผลักดัน (แรงกดดัน) จากพนักงานทุกคนในองค์กรด้วย เช่นเดียวกับแรงกดดันจากภายนอกอันเกิดจากเงื่อนไขของสังคม ประชาชน และสิ่งแวดล้อม

ทุกวันนี้ จึงอยู่ที่ผู้บริหารและพนักงาน ซึ่งอาจจะต้องตัดสินใจร่วมกันเพื่อเลือกว่า จะเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเราเอง หรือจะถูกบีบบังคับให้ทำ ครับผม!