posttoday

แพ้ภัยตัวเอง

13 มกราคม 2555

มันต้องมีความบกพร่อง มีความป่วยไข้ อยู่ในวิธีคิด วิธีปฏิบัติเหล่านี้

มันต้องมีความบกพร่อง มีความป่วยไข้ อยู่ในวิธีคิด วิธีปฏิบัติเหล่านี้

โดย..สุรจิต ชิรเวทย์ สว.สมุทรสงคราม และประธานคณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรน้ำ ในคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา

ดูเหมือนสภาพัฒน์จะเกิดปัญญาบางๆ ขึ้นมา หลังจากวางแผนพัฒนาประเทศมา 7 แผน 7 ฉบับ เศรษฐกิจโต แต่หาเสถียรภาพไม่เจอ สังคมแตกแยกแทบจะล่มสลาย จึงเริ่มคิดวาทกรรมใหม่แห่งการพัฒนาโดยเอาคนเป็นศูนย์กลาง ตั้งแต่แผนพัฒนาฉบับที่ 8 ก็ยังคงผิดฝาผิดตัวอยู่นั่นเอง

คือเกิดปัญญาบางๆ ขึ้นมา เกิดวิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัยขึ้นมาว่า มันจะผิดท่าผิดทางเสียกระมัง ยิ่งพัฒนาแทนที่จะอยู่เย็นเป็นสุข กลายเป็นอยู่ร้อนนอนทุกข์ แต่ยังไม่เกิด “ปัญญายิ่ง” ที่จะแทงทะลุปลอดโปร่งออกไปเห็นว่า มนุษย์กำลังจะแพ้ภัยตัวเอง ยิ่งกว่าภัยใดๆ ในธรรมชาติ เพราะธรรมชาติคือแหล่งกำเนิด คือ มารดา คือ มาตุภูมิ อันเป็นที่มาของปัจจัย 4 ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของชีวิต

ดังนั้น แทนที่จะมีปัญญาแทงทะลุไปอีกขั้นหนึ่ง ขั้นที่สูงส่งกว่า ยั่งยืนกว่า ก็คือที่จริงแล้วแผนพัฒนาต้องเอาฐานทรัพยากรสิ่งแวดล้อมเป็นศูนย์กลาง คือ ทั้งมนุษย์ พืช สัตว์ อย่างเป็นองค์รวม คือ การถนอมบำรุงรักษา การดูแลใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนสอดคล้องรอบคอบ เท่าที่ฐานทรัพยากรจะรองรับได้ต่างหาก การพัฒนาต้องสอดคล้องกับกายภาพ ตัวตน หรือภูมินิเวศของทรัพยากร สอดคล้องกับวัฒนธรรมในการทำมาหากิน ทักษะฝีไม้ลายมือ จริตนิสัย หรือภูมิวัฒนธรรมของผู้คนแห่งดินแดนนี้ คือ ความพอเพียง พอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน เข้าใจ เข้าถึง แล้วจึงจะพัฒนากันได้

แพ้ภัยตัวเอง

 

ประเทศประหลาดนี้ มีพ่อที่ทั้งทรงคุณธรรม ทั้งฉลาดลึกซึ้งยากจะหา ไม่รู้ว่าทำบุญอะไรมา มีพ่อประเสริฐสูงส่งเหมือนเทวดามาโปรด แต่ไม่รู้จักบุญ ไม่รู้จักรักษาบุญ

คือความจริงก็รู้ตัวเหมือนกันว่ามีพ่อสุดประเสริฐ แต่มีเอาไว้รักไว้บูชาเฉยๆ พ่อเป็นสุขแย้มสรวลสักนิดก็ดีใจน้ำตาไหล แต่หยุดความรักบูชาไว้แค่นั้น เอาไว้กราบไหว้

พ่อบอกให้พอเพียงประมาณตน พ่อบอกให้กินข้าวกล้อง ไม่เอาไม่อร่อย จะกินข้าวปั้นอาหารญี่ปุ่น พ่อบอกพอเพียงใช้ได้กับทุกเรื่อง ไม่เอาพอเพียงใช้กับธุรกิจไม่ได้หรอก ธุรกิจต้องโลภมาก อยู่ยากเลี้ยงยาก พอใจอะไรยาก พอเพียงต้องไปใช้กับภาคเกษตรโน้น เป็นแต่เรื่องของคนอื่นทั้งนั้น ที่ต้องปรับปรุงตัวเอง ตัวฉันไม่ต้อง

ประเทศนี้เก่งเกษตร เก่งประมง เก่งอาหาร ทั้งการปรุง การถนอมอาหาร เก่งการบริการ การท่องเที่ยว “ธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ” เก่งงานประดิษฐ์ ละเอียดประณีตสูงระดับส่องกล้องดู งานเจียระไนอัญมณี งานจักสาน งานเบญจรงค์ ไม่เอาไม่เท่ อยากจะเป็นประเทศอุตสาหกรรม อยากเฉยๆ แต่ไม่เคยปฏิบัติ ไม่ชอบวิจัยพัฒนา ไม่มีนิสัย บ้าเทคโนโลยี ไม่มีนิสัยแบบกลไกเชิงระบบระเบียบ หรือการทำงานเป็นทีมใหญ่เหมือนคนเยอรมัน คนญี่ปุ่น

ตัวตนจริตนิสัยแท้ๆ เป็นคนอิสระ ทำงานเป็นทีมใหญ่ไม่ได้ต้องเป็นเก่งเล็กแล้วกระจาย เพราะ “ทำได้ตามใจ คือไทยแท้” เป็นศิลปินเดี่ยว จะให้เป็นเก่งใหญ่ไปเป็นคณะใหญ่ฝูงใหญ่ มันไม่ใช่ จะต้องทะเลาะกัน แล้วก็ยังฝืนไปในแนวทางนั้น เอามาเถอะอุตสาหกรรมสกปรก เทคโนโลยีต่ำ มลภาวะสูง เอามาใส่ฉันทีเถอะ อย่าเอาไปที่อื่นเลย

แล้วก็มานั่งทะเลาะกันเรื่องหาน้ำหาไฟ สร้างงานให้พม่าทำสามล้านคน มลภาวะไทยรับเอาไว้แล้วเราจะเดินหน้าต่อไปในทิศทางใด เดินอย่างไร

ว่ากันเฉพาะเรื่องน้ำเท่าที่นึกออก 9 กระทรวง 22 กรม จะใช้โครงสร้างทางวิศวกรรมให้หนักมือหนักข้อยิ่งขึ้นไปอีก ทำคันป้องสองฝั่งแม่น้ำให้สูงขึ้นอีกปีละหนึ่งเมตรสองเมตร เพื่อเพิ่มความจุน้ำ เพิ่มที่อาศัยให้น้ำ ในขณะเดียวกันก็สร้างประตูน้ำปิดคลองซอยลำน้ำสาขาลดที่อาศัยของน้ำ แล้วก็มาหาพื้นที่สำหรับรับเวรกรรมน้ำท่วมแทนชุมชนเมืองที่ขยายตัวเรื่อยไปอย่างไร้ทิศทาง ผังเมืองยังประกาศใช้ไม่ได้อีก 59 จังหวัด หาทางผลักน้ำเข้าทุ่ง ท้องทุ่งที่มิใช่วัฒนธรรม ท้องทุ่งแห่งที่ราบลุ่มภาคกลางในอดีตแล้ว โรงงาน หมู่บ้านจัดสรร ไปปนเปอยู่ในท้องทุ่ง โครงข่ายคมนาคมที่ฉีกท้องทุ่งออกเป็นชิ้นส่วนชิ้นเล็กชิ้นน้อยไปหมดแล้ว ผลักน้ำเข้าไปก็กลายเป็นน้ำแช่ขังเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน น้ำเน่าเป็นอำเภอๆ มิใช่น้ำหลากผ่านที่มีคุณแบบอดีต กลายเป็นน้ำท่วมแบบวิบัติ

แล้วก็พยายามผลักน้ำออกทะเลให้เร็วที่สุด พอถึงใกล้ปากอ่าวผลักไม่ออกอีก ผลักลงไปเจอ “น้ำเกิด” (1215 ค่ำ 15 ค่ำ) ไปไม่เป็นอีก สู้น้ำเกิดไม่ไหวไปสร้างประตูน้ำกั้นน้ำเค็มอีก น้ำท่วมชายทะเลอีก

กรมหนึ่งวุ่นวายหาที่อาศัยให้น้ำหลาก อีกกรมหนึ่งสร้างทางกีดขวางทางน้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และในขณะที่พยายามเพิ่มความจุน้ำลำน้ำใหญ่ในแนวดิ่ง ก็ไปปิดกั้นที่อาศัยของน้ำแนวนอนคือคลองและลำน้ำสาขาต่างๆ เป็นพันๆ สาย

นี่คือความสับสนอลหม่านของพวกบูชาเทคโนโลยี ผู้ใช้วิศวกรรมนำทาง ใช้กลไกที่มนุษย์สร้างโดยไม่รู้จักกลไกธรรมชาติ

นี่คือสิ่งที่โบราณเขาเรียกภาวะเช่นนี้ว่า “ยุ่งเป็นลิงแก้แห”

นิโคโล มาคิอาเวลลี นักปรัชญา นักเขียน และนักรัฐศาสตร์ชาวอิตาลี บิดาแห่งรัฐศาสตร์ยุคใหม่ มีชีวิตอยู่ในยุคเรอเนสซองซ์ กล่าวว่า “แรกป่วยนั้น อาการเห็นได้ยาก แต่รักษาง่าย ครั้นป่วยหนักแล้ว อาการเห็นได้ง่าย แต่รักษายาก”

น้ำโขง น้ำชี น้ำมูล น้ำสาละวิน น้ำสะแกกรัง น้ำแม่วงก์ น้ำแม่กลอง ท่าจีน เจ้าพระยา บางปะกง ป่าสัก เพชรบุรี ปิง วัง ยม น่าน ทะเลสาบสงขลา ตั้งแต่ป่าต้นน้ำ ที่ราบลุ่ม จนถึงทะเลและชายฝั่ง เต็มไปด้วยปัญหาและข้อขัดแย้ง

ในขณะที่ภาครัฐยังคิดแบบทะเยอทะยานถึงยุทธศาสตร์การพัฒนา และกิจกรรมโครงการขนาดใหญ่ เหมือนกับว่า หากกลับมาสำรวจตนเอง หากจะรู้จักพอเพียง อยู่ง่ายเลี้ยงง่าย ไม่ทะเยอทะยาน แล้วจะเป็นผิดบาป จะเป็นการหยุดยั้งการพัฒนา จะสูญเสียโอกาสการลงทุนพัฒนาแบบทำลายต่อไปอีก ทั้งที่ความหมายที่แท้จริงของการพัฒนา คือ การทำให้ดีขึ้น มิใช่การเดินหน้าทำให้เลวลง ล้างผลาญ หรือความไม่ยั่งยืน

เป้าหมายของการสัมมนาโดยอนุกรรมาธิการทรัพยากรน้ำ ในคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ในครั้งนี้ ก็คือความพยายามเล็กๆ หลังจากได้ทำงานมาหนึ่งปีครึ่ง เพื่อนำข้อเสนอแนะจากการติดตาม ศึกษา ตรวจสอบ การทำงานของฝ่ายบริหารมาสะท้อนให้เห็น

ความจริงที่เราได้พบแน่ๆ ก็คือ ผู้คน ประชาชนคนเล็กคนน้อย ในภาคการเกษตร ภาคการประมง ที่กระจายอยู่ทั่วแผ่นดิน ผู้มีชุดความรู้ มีภูมิปัญญาเพียงพอที่จะประกอบอาชีพทำมาหากิน โดยปรารถนาเพียงจะได้ทำไร่ทำนา ทำการประมง ไปตามประสา ตั้งแต่ป่าต้นน้ำผ่านที่ราบจนถึงทะเลไปตามปกติ มิได้ปรารถนาสวรรค์วิมานสูงส่งอะไรเลย

แต่เพียงเท่านี้ก็ยังมิสามารถสมปรารถนาได้ อันแสดงว่าภาระความรับผิดชอบของฝ่ายบริหารนั้นล้มเหลว และเราในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติก็ต้องศึกษา ตรวจสอบ และติดตาม โดยการทำงานหนักยิ่งขึ้น และต้องปรับปรุงกระบวนการทำงานของเรา โดยการสร้างภาคีเครือข่ายให้เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงปัญหาและข้อเท็จจริงร่วมกับภาคประชาชนให้มากยิ่งขึ้น ทะเยอทะยานยิ่งขึ้นในการแสวงหาความรู้ จัดการความรู้เพื่อรับใช้ประชาชน

และเพราะเราทราบดีว่า ระบบนิเวศมีความประณีตซับซ้อนใหญ่หลวง การพัฒนาที่ดำเนินการตามแผนมากว่า 40 ปี ได้เข้าไปแตะต้อง ดัดแปลง ทำให้กลไกของธรรมชาติเสียสมดุลไป ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา

การแก้ไขปัญหาโดยส่งกุญแจปากตายอันเดียว ใส่มือนักการเมืองผู้กุมอำนาจบริหารเข้าไปในจักรกลอันประณีตสลับซับซ้อนของธรรมชาติ มันเกินขีดความสามารถ และจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างประมาณไม่ได้

เราจึงหวังจะได้เห็นการเปิดกว้าง การทบทวนตรวจสอบอันจะนำไปสู่วิธีคิดอย่างใหม่ วิธีการทำงานและกิจกรรมโครงการอย่างใหม่ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะใช้วิธีคิดเดิมๆ หากต้องกลับกระบวนการคิด แบบที่คนจีนเขาสอนไว้คือ “คิดใหญ่ ให้ทำเล็ก” คืนกระบวนการมีส่วนร่วม กระบวนการดูแลจัดการไปสู่ชุมชนท้องถิ่นให้ร่วมรู้ร่วมคิดตั้งแต่ต้น

ในอดีตเรา “คิดเล็ก ทำใหญ่” คือคิดน้อยศึกษาน้อยแต่ชอบทำโครงการใหญ่ๆ โดยที่รัฐไม่มีกลไก ไม่มีกำลังเจ้าหน้าที่ประตูน้ำ ฝายต่างๆ สร้างแล้วก็ไม่มีการบริหารจัดการ กลายสภาพเป็นอนุสาวรีย์ไปก็มาก ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติโดยคณะกรรมาธิการ หน่วยงานรัฐ ชุมชนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำธรรมชาติ เหล่านี้คือเครื่องมือซึ่งกันและกัน ถ้าเราไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยจากกรณีเขื่อนปากมูล โรงไฟฟ้าบ่อนอกบ้านกรูดหนองแซง โครงการแหลมผักเบี้ย บ่อขยะสระบุรี เขื่อนบ้านกุ่ม คำพิพากษาศาลปกครองกลางกรณีโครงการอุตสาหกรรม 76 โครงการที่ระยอง และอื่นๆ อีกมากมาย ถ้าไม่ปรับปรุงวิธีคิด กระบวนการทำงาน ประเทศนี้ก็จะแพ้ภัยตัวเอง เดินไปไม่ได้