posttoday

ปูหัวทิ่มน้ำ...อาจไปเร็วกว่าที่คิด

26 ตุลาคม 2554

ชั่วโมงนี้คงไม่มีใครแม้แต่รัฐบาลปฏิเสธแล้วว่า กทม.น้ำจะไม่ท่วม หลังจากมีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าน้ำจำนวนมหาศาลได้ไหลถล่มพื้นที่บางจุดแล้ว

ชั่วโมงนี้คงไม่มีใครแม้แต่รัฐบาลปฏิเสธแล้วว่า กทม.น้ำจะไม่ท่วม หลังจากมีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าน้ำจำนวนมหาศาลได้ไหลถล่มพื้นที่บางจุดแล้ว

โดย...ทีมข่าวการเมือง

ชั่วโมงนี้คงไม่มีใครแม้แต่รัฐบาลปฏิเสธแล้วว่า กทม.น้ำจะไม่ท่วม หลังจากมีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าน้ำจำนวนมหาศาลได้ไหลถล่มพื้นที่บางจุดแล้ว ไม่ว่าเขตบางพลัด วิภาวดีรังสิต ไม่เว้นแต่ท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เอง ที่สั่งย้ายของชั้นหนึ่งกันจ้าละหวั่น

ขณะเดียวกัน เดือน ต.ค. ที่กำลังหมดไปถือว่าเป็นช่วงมหาวิกฤตที่สุดของรัฐบาล เนื่องจาก “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ไม่ได้คาดคิดมาก่อนพลันที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งประมาณ 34 เดือน ว่าจะมาเจอกับโจทย์น้ำท่วมประเทศไทยอย่างที่เกิดขึ้นในเวลานี้

เวลาฮันนีมูนหมดอย่างรวดเร็วพร้อมกับสายน้ำที่หลากมา ประหนึ่งเป็นการพิสูจน์ว่ารัฐนาวาที่นำโดยผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองราว 40 วัน ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งจะไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่

สิ่งที่เกิดขึ้นเวลานี้ คือ “ของจริง” ที่ยิ่งลักษณ์ต้องเผชิญ

วาทกรรม “น้ำไม่ท่วม กทม.” ได้ถูกผลิตซ้ำโดยรัฐบาลหลายต่อหลายครั้ง ด้านหนึ่งรัฐบาลอาจเจตนาดีไม่ต้องการให้ประชาชนตระหนก แต่ในทางกลับกันได้เป็นการปกปิดความจริงบางประการจนเกิดความเสียหายอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ผลที่ตามมา กทม. เส้นเลือดใหญ่ของประเทศ กำลังเข้าสู่ภาวะคับขันถึงขีดสุด

กทม. ณ เวลานี้เป็นศูนย์กลางในการกระจายความช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยในภูมิภาค ไม่ต่างอะไรกับการเป็นหัวใจสำคัญของการนำประเทศไทยผ่านวิกฤตครั้งนี้

โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่จะผลักดันน้ำใน กทม.ลงทะเลอย่างไร แต่ยังมีวิกฤตแวดล้อมที่เกิดตามมาเป็นลูกโซ่จำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดมาจากความผิดพลาดของยิ่งลักษณ์เอง

ตัวอย่างในกรณีนี้สะท้อนได้จากภาวะขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคและน้ำดื่ม เกิดปรากฏการณ์ประชาชนกักตุนสินค้าและน้ำดื่มจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ยิ่งกว่าการกักตุนสินค้าในช่วงเหตุการณ์จลาจล กทม. เมื่อปี 2553

ปูหัวทิ่มน้ำ...อาจไปเร็วกว่าที่คิด

ทำไมรัฐบาลถึงได้ปล่อยให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นทั้งที่ในช่วงปลายรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ได้มีสัญญาณบ่งชี้แล้วจากการเกิดอุทกภัยหลายจุด โดยเฉพาะภาคเหนือ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องมาถึงในฤดูมรสุมช่วงปลายปี

ยิ่งไปกว่านั้นพรรคเพื่อไทยสมัยเป็นฝ่ายค้านได้เคยโจมตีการแก้ไขน้ำท่วมของรัฐบาลอภิสิทธิ์ว่า “ไม่มีประสิทธิภาพ” จึงน่าจะเป็นบทเรียนสำคัญที่ไม่ควรให้ซ้ำรอย

แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นรัฐบาลจริงกลับไม่มีการวางมาตรการรับมือเอาไว้เพื่อไม่ให้เกิดความโกลาหล

สุดท้ายผลที่ตามมาก็เป็นอย่างที่เห็น กว่าที่ยิ่งลักษณ์จะสั่งให้กระทรวงพาณิชย์หามาตรการป้องกันสินค้าขาดแคลนอย่างเป็นรูปธรรม จนมาสู่การสั่งนำเข้าสินค้าบางรายการจากต่างประเทศ หรือการตั้งสถานที่พิเศษเพื่อเป็นศูนย์กระจายสินค้าก็สายไปเสียแล้ว เหมือนลักษณะ “กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้”

ไม่มีหลักประกันใดๆ ทั้งสิ้นที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถผ่านวิกฤตนี้ได้ไปพร้อมกับรัฐบาลอย่างที่ได้ประกาศไว้ ทั้งหมดได้ถูกสะท้อนออกไปสู่สายตาชาวโลกผ่านมุมมองของสื่อต่างประเทศหลายสำนัก อันเป็นการตอกย้ำว่ารัฐบาลไทยภายใต้การนำของยิ่งลักษณ์ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการบริหารจัดการน้ำ ส่งผลให้การฟื้นฟูความเชื่อมั่นยากขึ้นเป็นเท่าตัว โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน สิ่งที่ยิ่งลักษณ์เลือกทำมากที่สุดในระยะนี้กลับเป็น “การบริหารภาพลักษณ์” เพื่อแสดงให้เห็นว่าตัวเองมีภาวะผู้นำ

นายกฯ ยิ่งลักษณ์ใช้แนวทางมอบหมายให้บรรดารองนายกฯ และรัฐมนตรีเข้ามาบริหารสถานการณ์ หรือการตั้งคณะกรรมการเกี่ยวกับน้ำหลายคณะ โดยหวังว่าจะช่วยลดแรงเสียดทานให้กับตัวเอง ในฐานะที่ได้มอบหมายให้คณะบุคคลเหล่านั้นทำงานแล้ว

พร้อมกับทำงานผ่านสื่อมวลชนในการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ตัวเอง เช่น การลงพื้นที่น้ำท่วมทั้งบนฟ้าและบนดิน

ทว่าการลงพื้นที่ดังกล่าว การมอบหมายให้รองนายกฯ หรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่ข้อเสนอของคณะกรรมการผันน้ำเกี่ยวกับการเปิดเส้นทางระบายน้ำใหม่เพิ่มเติมเพื่อลดความเสี่ยงและความสูญเสียให้กับ กทม. กลับไม่ได้ช่วยเสริมสร้างให้ยิ่งลักษณ์กล้าพอที่จะตัดสินใจแก้ไขสถานการณ์ใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น

ภาวะแบบนี้นำมาสู่การลอยตัวจากปัญหาทั้งหมด และแจงปัญหาต่อสาธารณชนซ้ำไปซ้ำมา “น้ำเหนือประมาณหมื่นล้านลูกบาศก์เมตรเข้ามายากต่อการแก้ไข” มีจุดประสงค์ต้องการให้ประชาชนเข้าใจว่าน้ำท่วมที่เกิดขึ้นมีปัจจัยจากธรรมชาติ ไม่ใช่การบริหารจัดการของมนุษย์

ครั้นพอมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อื้ออึงมากขึ้น นายกฯ ก็ประกาศถืออาญาสิทธิมาตรา 31 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวบอำนาจทั้งหมดมาไว้ที่นายกฯ แต่เพียงผู้เดียว แต่ถึงเวลานี้ยังไม่มีอะไรดีขึ้นมาเพราะการเลือกเด็ดขาดในช่วงที่สถานการณ์บานปลายได้สายไปเสียแล้ว

นอกจากนี้ ระยะเวลาน้ำท่วมจะกินเวลานาน 4-6 สัปดาห์ ตามที่ยิ่งลักษณ์ระบุ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ทุกอย่างก็จะโหมพุ่งใส่ “ยิ่งลักษณ์” อย่างเต็มที่ ทั้งเรื่องของการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้คนที่ประสบอุทกภัย อาทิ อาหารการกิน ที่เวลานี้มีการกักตุนจนสินค้าขาดตลาด รวมทั้งที่อยู่อาศัย การว่างงาน อีกสารพัดที่จะตามมา

ระยะเวลาจากนี้ไป ยิ่งลักษณ์จึงตกอยู่ในลักษณะหัวทิ่ม เจียนจมน้ำอยู่รอมร่อ หากไม่สามารถโชว์วิชัน แก้ไขปัญหาให้รวดเร็วและสัมฤทธิผลกว่านี้ นายกฯ หญิงคนแรกของประเทศอาจต้องไปเร็วกว่าที่คิด