posttoday

คลี่ปริศนา"เช็ค44ใบ"มหากาพย์ซุกหุ้น"ชินคอร์ป"

08 มิถุนายน 2554

คลี่ปมธุรกรรมเงินปันผลจากหุ้นชินคอร์ปของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลัง แก้วสรร อติโพธิ ย้ำว่ามีการให้การเท็จต่อศาลฯ คดีถือหุ้นแทนพ.ต.ท.ทักษิณ หลังพบประเด็น เงินกว่า 68 ล้าน แตกเป็นเช็ค 44 ใบ ส่วนใหญ่ไม่ถึง  2 ล้านบาท

คลี่ปมธุรกรรมเงินปันผลจากหุ้นชินคอร์ปของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลัง แก้วสรร อติโพธิ ย้ำว่ามีการให้การเท็จต่อศาลฯ คดีถือหุ้นแทนพ.ต.ท.ทักษิณ หลังพบประเด็น เงินกว่า 68 ล้าน แตกเป็นเช็ค 44 ใบ ส่วนใหญ่ไม่ถึง  2 ล้านบาท

โดย...ปราฎา เหมทิวากร

**********************

แม้สังคมจะรับรู้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 พรรคเพื่อไทย ถูกข้อกล่าวหา "ให้การเท็จ" ต่อศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ข้อเท็จจริงของคดีนี้ก็ยังไปไม่ถึงไหน

ยิ่งใกล้โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งยิ่งทำให้มีการกล่าวถึงมากขึ้นจนเป็นประเด็นทางการเมือง!!

เนื่องจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ เคยให้การต่อศาลฯเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2552  ยืนยันว่า  หุ้นชินคอร์ปจำนวน 2 ล้านหุ้น เป็นการซื้อมาจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พี่ชายเมื่อปี 2543 ก่อนที่พ.ต.ท.ทักษิณ จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

คลี่ปริศนา"เช็ค44ใบ"มหากาพย์ซุกหุ้น"ชินคอร์ป" ยิ่งลักษณ์

“ก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะเล่นการเมือง เคยบอกว่าจะขายหุ้นชินคอร์ปทั้งหมดให้กับ พานทองแท้ พยานจึงขอซื้อหุ้นจำนวน 2 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดเก็บไว้เป็นของตัวเอง แต่เนื่องจากยังไม่มีเงินมากนัก จึงขอทำเป็นหนังสือสัญญาจ่ายเงินเมื่อทวงถามแบบไม่มีดอกเบี้ย” ยิ่งลักษณ์ ระบุในคำให้การ

แต่สุดท้ายด้วยหลักฐานบุคคลและเอกสารของฝ่ายโจทย์ ศาลฏีกาฯจึงมีคำพิพากษาออกมาว่า หุ้นชินคอร์ปทั้งหมดที่พ.ต.ท.ทักษิณ ขายให้บุคคลใกล้ชิดในครอบครัว แท้จริงแล้วยังคงเป็นของพ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งผิดตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญปี 2540

“คำคัดค้านของยิ่งลักษณ์ และพวก ว่า หุ้นชินคอร์ปจำนวนดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของตน เพราะได้ซื้อมาจาก พ.ต.ท.ทักษิณนั้น ศาลฟังว่าเป็นความเท็จ เป็นการสมทบให้ใช้ชื่อถือแทนเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย” คำพิพากษาระบุ

ประเด็นก็คือ หลักฐานสำคัญที่  นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการและอดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)นำออกมาชี้ชัดก็คือเช็คปริศนาจำนวนมาก ที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ อ้างว่าเป็นเงินปันผลจากหุ้นชินคอร์ป ซึ่งได้ซื้อมาจากพ.ต.ท.ทักษิณนั้น ยังแฝงไว้ด้วยความคลุมเครือ และไม่ชัดเจนว่าเป็นการอำพรางธุรกรรมหรือไม่

เงื่อนปมที่มีการพบไล่เรียงจากการที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ อ้างต่อศาลฯว่า การซื้อหุ้นไม่ได้จ่ายเงินสด แต่เป็นตั๋วสัญญาจ่ายเงินเมื่อทวงถาม จำนวน 20 ล้านบาท

ต่อมาทั้งสองพี่น้องชินวัตร จึงมีการดำเนินธุรกรรมระหว่างกันตามที่ทำตั๋วสัญญาไว้

กล่าวคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้รับเงินปันผลตามหุ้นชินคอร์ปที่ถือไว้ 2 ล้านหุ้น ก็มีการโอนเงินนั้นกลับไปเป็นค่าหุ้นที่ซื้อจากพี่ชาย เมื่อปี 2543 โดยแตกเป็นเช็ค 2 ใบ ซึ่งใบแรก 9 ล้านบาท

และใบที่สอง นายแก้วสรร ตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีการเขียนตัวเลขในเช็คผิดเป็น 13.5 ล้านบาท จึงมีการแก้ไขเหลือ 11 ล้านบาท เพื่อให้พอดีกับจำนวนค่าหุ้น 20 ล้านบาท

ส่วนที่เกินมา 2.5 ล้านบาท ได้สั่งจ่ายเช็คไปที่ น.ส.พินทองทา อ้างว่าเป็นค่าฝากเงินซื้อนาฬิกาจากต่างประเทศ

ไฮไลท์จริงๆของกรณีนี้ก็คือ เงินปันผลจากหุ้นชินคอร์ปในงวดที่เหลือ คืองวดที่ 2-6 นั้น  มีการตีเช็คเข้ามาถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ จำนวน 44 ฉบับ โดยเข้าบัญชี น.ส.ยิ่งลักษณ์    2 ฉบับ วงเงิน  2.1 ล้านบาท

ที่เหลือวงเงิน 68 ล้านบาทนั้น มีการน.ส.ยิ่งลักษณ์ อ้างในคำให้การว่า ได้นำมาตกแต่งบ้าน ทำสวน สนามฟุตบอล สระว่ายน้ำ ซื้อทองแท่ง เครื่องเพชร เครื่องประดับ

แต่สิ่งที่เป็นปริศนาของเช็คทั้งหมดก็คือ เหตุใดจึงมีการแตกเช็คเงินปันผลจำนวนมากถึง 44 ฉบับ และแต่ละงวด ก็เป็นเงินต่ำกว่า 2 ล้านบาท  บางงวด 1.5 ล้านบาท บางงวด 1 ล้านบาท โดยเลขที่เช็คจะเรียงกันเป็นตับ และวันที่ออกเช็คก็ไล่เรียงกัน

คลี่ปริศนา"เช็ค44ใบ"มหากาพย์ซุกหุ้น"ชินคอร์ป" แก้วสรร

ตามปกติแล้วการโอนเงินปันผลของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์จะโอนเป็นก้อน ตามงวดบัญชี เช่น รายไตรมาส หรือรายปี ให้แก่ผู้ถือหุ้น หรือขึ้นกับว่าฝากหุ้นกับหน่วยงานใด หรือโบรคเกอร์ใด

มีการตั้งข้อสังเกต ในเรื่องนี้ว่า เหตุใดเช็คมีการถอนเป็นเงินสดเกือบทุกวัน ในกรอบที่ไม่ต้องทำรายงานตามกฎหมายฟอกเงิน

เพราะตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องรายงานที่มาที่ไป ประวัติของลูกค้า ที่ทำธุรกรรมที่เกินกว่า 2 ล้านบาท 

นอกจากนั้น ยังเป็นปริศนาด้วยว่า หากเป็นการชำระค่าแต่งบ้านหรือซื้อทองคำจริง ควรชำระเช็คตรงไปยังผู้รับเหมาหรือผู้ขายสินค้าโดยตรงมากกว่า

สุดท้ายศาลฎีกาฯ ตัดสินว่า ข้อกล่าวอ้างของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่มีหลักฐานใดที่เกี่ยวกับการใช้เงินสด 68 ล้านบาทมาแสดง ข้ออ้างว่าหุ้นเป็นของตัวเองจึงรับฟังไม่ได้พร้อมชี้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นหนึ่งในนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในการถือหุ้นชินคอร์ปช่วงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

นายแก้วสรร มองว่า ในเรื่องนี้ ยังไม่มีคำตอบจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นอัยการ  , คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ควรเดินหน้าต่อ

พร้อมยืนยันว่า การเมืองเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายมีความเสมอภาคกัน เสียงข้างมากย่อมนำพาประเทศ แต่สิ่งที่ไม่สามารถทำได้อย่างเด็ดขาดคือ การนำเอาอำนาจที่ได้จากคะแนนเสียงเลือกตั้ง หรือได้จากความเสมอภาคทางการเมือง มาทำลายความเสมอภาคทางกฎหมาย