posttoday

เลือก ปชป.เดินหน้า เลือก พท.วนอยู่กับที่

14 พฤษภาคม 2554

"ประชาชนจะต้องตัดสินใจว่าจะเลือกให้ประเทศเดินหน้าต่อ หรือจะเลือกเพื่ออยู่ในวังวนเก่าๆประเทศไทยไม่ใช่เรื่องที่จะคิดถึงแต่เรื่องนักการเมือง ไม่อยากให้ไปคิดถึงแต่ปัญหาครอบครัวของใครบางคน"

"ประชาชนจะต้องตัดสินใจว่าจะเลือกให้ประเทศเดินหน้าต่อ หรือจะเลือกเพื่ออยู่ในวังวนเก่าๆประเทศไทยไม่ใช่เรื่องที่จะคิดถึงแต่เรื่องนักการเมือง ไม่อยากให้ไปคิดถึงแต่ปัญหาครอบครัวของใครบางคน"

โดย...ทีมข่าวการเมือง
         
เปิดฉากฤดูเลือกตั้งแบบเป็นทางการ พรรคการเมืองพร้อมใจกันกระโดดเข้าสู่สนามด้วยยุทธศาสตร์ที่หลากหลายแตกต่างกันไป นักกีฬา ดารา คนดังหลายวงการ ถูกดึงเข้ามาเรียกกระแสในการเลือกตั้งที่ว่ากันว่าดุเดือดที่สุดอีกนัดหนึ่ง
        
"ประชาธิปัตย์" กับเป้าหมาย 200 เสียงขึ้นที่ประกาศความพร้อมตั้งแต่ไก่ยังโห่... ถูกจับจ้องเป็นพิเศษว่าจะฝ่ากระแสแดง กระแสทักษิณเข้ามาเป็นรัฐบาลสมัยสอง สานต่อนโยบายต่างๆ ที่ปูทางไว้ได้หรือไม่
         
กอร์ปศักดิ์ สภาวสุประธานคณะทำงานด้านยุทธศาสตร์พรรค ที่ประกาศลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกฯ มาทำงานด้านนโยบายเตรียมการเลือกตั้งอธิบายถึงยุทธศาสตร์เที่ยวนี้ภายใต้สโลแกน "เดินหน้าต่อไปด้วยนโยบายประชาชน"
         
"การเมืองเวลานี้ อย่าไปพูดใครได้คะแนนมากกว่าใคร แต่ควรพูดว่าประเทศไทยควรเดินหน้าอย่างไร"
         
กอร์ปศักดิ์ อธิบายเปรียบเทียบไปถึงชุดนโยบายล็อตล่าสุดที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกมาเรียกขวัญกำลังใจให้แฟนคลับภายใต้สโลแกน "ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ" เป็นการเอาชนะที่ผิด

เลือก ปชป.เดินหน้า เลือก พท.วนอยู่กับที่

"ถามว่าได้คะแนนไหม ก็ได้ แต่ทำไมผมไม่ทำเพราะผมเอาคะแนนที่ดีที่สุด แสดงให้เห็นแล้วว่าตัวเองไม่รักประเทศ รักแต่ตัวเองอยากให้ได้คะแนน"
         
สิ่งที่ประชาธิปัตย์หยิบขึ้นมาเป็นแนวทางหาเสียงเวลานี้คือการเปิดให้ประชาชนเลือก 2 ทาง ว่าจะเลือกพรรคเพื่อไทยที่ย้ำแต่เรื่องพาทักษิณกลับบ้าน หรือเลือกประชาธิปัตย์มาสานต่อนโยบายเดิม ซึ่งประกาศเป็นนโยบายหนึ่งวันหลังเป็นรัฐบาลจะทำได้ทันที5 ข้อ ได้แก่
         
1.ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 25% ภายใน 2 ปี 2.เพิ่มกองกำลังปราบยาเสพติด 2,500 นาย 3.เพิ่มทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย 2.5 แสนคน ต่อปี4.สนับสนุนดำเนินการโครงการโฉนดชุมชนแก่เกษตรกร 2.5 แสนคน และ 5.เพิ่มกำไรในโครงการประกันรายได้เกษตรกรอีก 25%
         
"ผมประกาศชัดเจนว่า หากประชาธิปัตย์ได้รับเลือกตั้งเข้ามาวันแรกจะทำอะไร แต่พรรคเพื่อไทยที่พูดว่า ทักษิณจะกลับมาจะทำอย่างไร ต้องยกโทษให้ทักษิณก่อน ส่วนจะทำวิธีไหนก็ไม่รู้ จะออกเป็นกฎหมายอย่างไร ผ่านสภา ผ่านวุฒิสภาหรือไม่ ใช้เวลาเท่าไหร่ไม่รู้ แต่ถ้าเลือกผม ผมทำงานตั้งแต่วันแรกที่ทุกโครงการชัดเจนมีรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินการงบประมาณ วางแผนอย่างเป็นขั้นตอนรอบคอบ"
         
กอร์ปศักดิ์ อธิบายว่า เป็นเรื่องที่ประชาชนจะต้องตัดสินใจว่าจะเลือกให้ประเทศเดินหน้าต่อ หรือจะเลือกเพื่ออยู่ในวังวนเก่าๆ ประเทศไทยไม่ใช่เรื่องที่จะคิดถึงแต่เรื่องนักการเมือง ไม่อยากให้ไปคิดถึงแต่ปัญหาครอบครัวของใครบางคน
         
"ที่ผ่านมาคนมีความทุกข์ออกมาประท้วงบนท้องถนนนักท่องเที่ยวไม่มาเราเคยเจอมาหมดแล้ว แต่เราลืมไปหมดแล้ว ว่าสิ่งที่เกิดในช่วงปัญหาขัดแย้งทำให้ประเทศเดือดร้อนขนาดไหน แต่เรื่องการยกโทษ พรรคเพื่อไทยจะต้องออกมาระบุให้ชัดว่า ขั้นตอนที่จะทำจะเป็นอย่างไร ต้องอธิบายให้ประชาชนทราบ ถ้าประชาชนรับได้ก็เลือกถ้าอยากให้เขากลับมาแต่อย่าเพิ่งไปบอกว่าอยากให้เขากลับมา แต่ต้องไปถามเขาก่อนว่าจะเอากลับมาด้วยวิธีไหน
        
เพราะแน่นอนว่าถ้าเขาจะกลับมาวันนี้ เขากลับมาได้อยู่แล้ว แต่ต้องติดคุก เพราะฉะนั้นต้องมีวิธีที่กลับมาไม่ติดคุก ซึ่งจะเอากลับมาวิธีไหนและถ้ายืนยันว่าวิธีเอากลับมา คน 60 กว่าล้านคนเห็นด้วยหมด ไม่มีใครทักท้วงหากประชาชนเชื่อ เอามาอภิปราย กลับมาด้วยวิธีนี้"
         
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์คิดเพียงแต่ว่าจะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำภายใน 2 ปี ยกระดับภาคการเกษตรซึ่งเริ่มทำมาจนเกษตรกรมีรายได้ และก็จะทำต่อไป ขณะนี้เตรียมงบประมาณไว้ 5.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเตรียมไว้เป็นขั้นเป็นตอนว่าจะ
         
ทำอย่างไร เข้ามาเป็นรัฐบาลก็ทำงานได้ทันที แต่สำหรับพรรคเพื่อไทย ไม่ต้องมาบอกว่าจะทำรถไฟความเร็วสูง ทำอะไร มีแต่จะบอกว่าจะเอาทักษิณกลับมาวิธีไหน
        
กอร์ปศักดิ์ ยอมรับว่า ยังไม่มั่นใจว่าจะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ หรือไม่ชนะ ทว่าสิ่งที่เป็นเป้าหมายคือต้องชี้ให้เห็นทางเลือกที่ชัด ส่วนประชาชนจะเลือกตรงไหน ก็เป็นสิทธิของเขาพรรคเคารพทุกกระเบียดนิ้ว ขออย่างเดียวให้เป็นทางเลือกชัด อย่าเอาสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญไปไว้หลังสุด
         
"เขาจะพูดเรื่องสินค้าการเกษตร พูดเรื่องปุ๋ยพูดทำไม เพราะของจริงก็คือวันแรก จะต้องหาทางให้ผู้นำคนเสือแดงไม่ติดคุก ให้ทักษิณไม่ติดคุกก่อน ดังนั้นต้องบอกก่อนเลยว่าจะทำวิธีไหนชาวบ้านเขาจะได้เลือกถูก"
        
ประธานคณะทำงานด้านยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ มองว่า นโยบายที่จะเข้าไปขายยังพื้นที่อีสานซึ่งเป็น "จุดอ่อน" ของพรรคคือผลงานที่ผ่านมาๆ ของรัฐบาล ทั้งนโยบายเรื่องประกันราคาสินค้าเกษตร ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่เกษตรกรจะได้เข้าโครงการประกันรายได้ อย่างราคาข้าวประกันราคาที่ 1.2 หมื่นบาท จะมี 8 ล้านครัวเรือน ที่มีเงินที่มีรายได้เพิ่ม
         
ไล่มาจนถึงเรื่องเบี้ย อสม. หรือเบี้ยคนชราที่ไม่ใช้เงินมากแต่เป็นนโยบายที่โดนใจ เพราะเดิมไม่เคยมีใครไปดูแล ยกตัวอย่างในครอบครัวมีปู่ ยา ตา ยาย ที่ลูกหลานต้องเลี้ยงดู การมีเบี้ยคนชราเดือนละ 500 บาท ก็สามารถแบ่งเบาภาระให้ครอบครัวตกเดือนละ 2,000 บาท เรื่องเรียนฟรีวันที่ 17 พ.ค.นี้ เด็กจะได้เครื่องแบบใหม่ทุกคน
         
กอร์ปศักดิ์ ยังมองเปรียบเทียบไปถึงนโยบายแจกไอแพดของพรรคเพื่อไทยว่า เป็นนโยบายที่ทำไม่ได้จริง เพราะการจะเอาไอแพดไปแจกคน12 ล้านคน ไม่ใช่นโยบายเพื่อการศึกษา แม้ไอแพดของเขาอาจจะเป็นของจีนที่ซื้อได้ถูกราว100 เหรียญสหรัฐ แต่คำนวณแล้วตก 4 หมื่นล้าน ทำให้การศึกษาเด็กดีขึ้นไหมก็ไม่ใช่
         
สำหรับนโยบายด้านเศรษฐกิจที่พรรคประชาธิปัตย์จะเดินหน้าต่อคือการปรับโครงสร้างภาษีที่ยังมีปัญหาบางจุด เช่น คนทำงานหนักต้องเสียภาษีเยอะ ขณะที่เศรษฐีบางคนไม่เคยเสียภาษีเพราะตราบใดที่ไม่แก้ คนกลุ่มหนึ่งก็เสียเปรียบโดยเฉพาะคนกลุ่มคนรายได้ต่ำ ซึ่งหากแก้ไขตรงนี้ได้ก็จะลดรายจ่าย คุณภาพชีวิตดีขึ้น
         
กอร์ปศักดิ์ มองว่า คนที่บริโภคมากที่สุดควรจะเสียสละให้กับสังคมมากที่สุด คนที่มีบ้านในพื้นที่ 3 ไร่ขึ้น ควรจะเสียภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดินมากกว่าคนที่อยู่บ้าน 200 ตร.ว. คนที่ใช้รถยนต์ซีซีสูงๆ ต้องเสียภาษีมากขึ้น และเสียเป็นรายเดือนรายปี ไม่ใช่ครั้งเดียวจบ
         
นอกจากนี้ ภาษีบริโภคที่หลายคนบอกว่าคนจนเดือดร้อนมาก เพราะเสียเท่ากับคนรวยนั้นเขาคงลืมคิดไปว่า การเก็บภาษี 7% คนเงินเดือน1 หมื่นบาท ก็อาจจะดื่มเหล้าขาว แต่คนเงินเดือนเป็นแสนก็อาจจะดื่มไวน์ 7% ที่ว่าก็แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นก็สามารถนำมาเป็นเครื่องมือพิจารณาเก็บเฉพาะภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยได้ส่วนสินค้าบางอย่างเช่น ยาที่เป็นยาตามใบสั่งแพทย์ ก็ไม่ต้องคิดภาษี ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้  

สำหรับภาษีที่ดินที่มีการเก็บตามราคาประเมิน ไม่ใช่ราคาซื้อขายจริง เช่นบางคนซื้อที่ 100 ล้านบาท แล้วขายได้ 1,000 ล้านบาท ก็ไม่ได้เสียภาษีคำนวณจากกำไร900 ล้านบาท เพราะอาจไปคำนวณจากราคาประเมินซึ่งตารางวาละล้านบาท แต่ราคาประเมิน 2 แสนบาท อีก 8 แสนบาทไม่ต้องเสียภาษี เพราะกฎหมายเขียนว่าตามราคาประเมินทั้งหลายเหล่านี้ต้องพิจารณาปรับทั้งระบบ
        
ส่วนที่มีกระแสโจมตีรัฐบาลประชาธิปัตย์โดยเฉพาะ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ว่าดีแต่พูดนั้น "กอร์ปศักดิ์" ในฐานะคนใกล้ชิดนายกฯยืนยันว่าไม่ใช่ หลายๆ โครงการที่ออกมาก็จะเห็นได้ แม้อภิสิทธิ์จะเป็นคนพูดเก่ง แต่ไม่ใช่ดีแต่พูด และบางทีอาจจะทำได้เก่งกว่าผู้นำหลายคนด้วยซ้ำ
         
ส่วนปัญหาเรื่องการลงพื้นที่หาเสียงในช่วงความขัดแย้งในสังคมดำรงอยู่ กอร์ปศักดิ์ มองว่าไม่จำเป็นต้องลงไปทุกพื้นที่ เพราะอาจจะเป็นการยั่วยุให้เกิดปัญหา และการที่ไม่ไปก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเสียคะแนน โลกสมัยใหม่เราไม่ต้องเจอตัว อย่างเราจะมีรายการเดินหน้าต่อกับนายกฯ อภิสิทธิ์ทางเฟซบุ๊กผ่านระบบ  Live  Stream ผ่านไปถึงคนเล่นเฟซบุ๊ก 2-3 ล้านคน

สมองกลพรรค

เลือก ปชป.เดินหน้า เลือก พท.วนอยู่กับที่

หนึ่งในแก๊งออฟโฟร์คู่บารมี "อภิสิทธิ์เวชชาชีวะ" ที่ถูกแรงเสียดทานจากทั้งในพรรคและนอกพรรค จน "กอร์ปศักดิ์"ตัดสินใจม้วนเสื่อ อำลาตำแหน่งเลขาธิการนายกฯ  มารับหน้าที่ประธานคณะทำงานด้านยุทธศาสตร์เตรียมการเลือกตั้งเที่ยวนี้ 
        
ฟางเส้นสุดท้ายที่ว่ากันว่าทำให้ตัดสินใจทิ้ง"ทำเนียบ" กลับมาทำงานพรรคเที่ยวนี้ ว่ากันว่าเกิดการแย่งซีนระหว่างคนกันเอง อย่าง กรณ์ จาติกวณิช ขุนคลัง เมื่อครั้งปล่อยแคมเปญ"ประชาวิวัฒน์" จนบานปลาย ถึงขั้นออกอาการฟาดงวงฟาดงา
         
ในช่วงกว่า 2 ปี ของรัฐบาล "กอร์ปศักดิ์"จัดเป็นคนใกล้ตัว "อภิสิทธิ์" ที่มีข่าวคราวในกระแสอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อครั้งถูกเพื่อไทยขุดคุ้ยเรื่องโครงการชุมชนพอเพียง และพาดพิงมาถึงคนใกล้ชิด "กอร์ปศักดิ์"
         
จากสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน"กอร์ปศักดิ์" ถูกมอบฉายาว่าเป็น "คุณชายชุนละเอียด" เพราะเข้าไปตรวจสอบอุดรอยรั่วช่องโหว่ ในแต่ละโครงการที่เสนอเข้ามาสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีจนมีปากเสียงกับพรรคร่วมหลายรอบ โดยเฉพาะกับ พรทิวา นาคาศัย ที่กลายเป็นศึกเกาหลา หลายรอบจากโครงการเกี่ยวกับสินค้าเกษตร
         
ทว่า จังหวะที่ นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกฯ ลาออกแสดงความรับผิดชอบ กรณีแต่งตั้ง ผบ.ตร.ที่ยืดเยื้อยาวนาน "กอร์ปศักดิ์" จึงถูกวางตัว เปลี่ยนตำแหน่งมาเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
         
งานเรื่องนโยบายถือเป็นอีกงานถนัดของ"กอร์ปศักดิ์" ที่จับมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งก่อนภายใต้สโลแกน "99 วันทำได้จริง"และรับหน้าที่ดูงานมาอย่างต่อเนื่อง
         
เส้นทางการเมืองที่ผ่านมา "กอร์ปศักดิ์"เป็น สส.นครราชสีมา 4 สมัย ตั้งแต่ 2529 สส.บัญชีรายชื่อ 2548 เป็นที่ปรึกษา รมว.อุตสาหกรรม รมช.พาณิชย์ รองนายกฯเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
         
บทบาทในพรรคประชาธิปัตย์ เคยรับตำแหน่ง ผู้อำนวยการพรรค รองเลขาธิการพรรค เหรัญญิกพรรค รองหัวหน้าพรรค สร้างผลงานจนเป็นที่รู้จัก จากการเข้าไปตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินที่คลุมเครือของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร   ผลการเลือกตั้งครั้งนี้จึงจะเป็นเครื่องพิสูจน์ผลงานครั้งสำคัญของ "กอร์ปศักดิ์"