posttoday

ส่องนโยบายพรรคเอสเอ็มอี ก้าวไม่พ้นประชานิยม

02 พฤษภาคม 2554

นโยบายของพรรคการเมืองขนาดกลาง หรือที่เรียกกันในภาษาการเมืองว่า “พรรคเอสเอ็มอี” ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีลักษณะของนโยบายคล้ายๆ กัน คือ การลด แลก แจก แถม

นโยบายของพรรคการเมืองขนาดกลาง หรือที่เรียกกันในภาษาการเมืองว่า “พรรคเอสเอ็มอี” ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีลักษณะของนโยบายคล้ายๆ กัน คือ การลด แลก แจก แถม

โดย...ทีมข่าวการเมือง

เข้าสู่สัปดาห์สุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 23 ซึ่งถือว่าเป็นสภาชุดแรกจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 หลังจากปักหลักฝ่าฟันกับวิกฤตการเมืองไทยได้มานานถึง 4 ปี ซึ่งทำท่าเจียนอยู่เจียนไปท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่มีพลวัตของการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเป็นสภาในหน้าประวัติ ศาสตร์การเมืองไทยที่ใช้นายกรัฐมนตรีถึง 3 คน ตั้งแต่ สมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นตัวสะท้อนถึงความไร้เสถียรภาพของการเมืองไทยได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้วทุกอย่างก็ผ่านมาได้จนถึงฉากสุดท้ายในสัปดาห์นี้ ก่อนที่ประเทศไทยจะเข้าสู่อารมณ์และบรรยากาศของการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ บรรดาพรรคการเมืองขนาดใหญ่อย่าง “ประชาธิปัตย์” และ “เพื่อไทย” ต่างโหมการรณรงค์หาเสียงกันอย่างเต็มที่ผ่านการเปิดตัวนโยบายหาเสียงกันอย่างยิ่งใหญ่

นอกเหนือไปจากพรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองพรรคดังกล่าว “พรรคการเมืองขนาดกลาง” หรือพรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบันต่างดำเนินการเปิดตัวนโยบายเช่นกัน เพื่อเป็นการลบคำสบประมาทของบรรดาผู้สันทัดกรณีทางการเมืองว่าเล่นการเมืองเพื่อรอเสียบร่วมเป็นรัฐบาลเพียงอย่างเดียว

ส่องนโยบายพรรคเอสเอ็มอี ก้าวไม่พ้นประชานิยม เนวิน / บรรหาร / สุวัจน์

เริ่มที่ พรรคภูมิใจไทย ได้ออกนโยบายมาแล้ว 9 นโยบายสำคัญ 9 ข้อ ประกอบด้วย 1.มีน้ำมีเงิน สร้างทางน้ำเข้าไร่นาเกษตร 2.สร้างศูนย์ฝึกนักกีฬาอาชีพสู้แล้วรวย 3.เงินสะพัดในพื้นที่ กองทุนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จังหวัดละ 100 ล้านบาทต่อปี

4.ชีวิตดี มีงานทำ กองทุนจ้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง 5.ปลูกแล้วไม่เป็นหนี้ กองทุนประกันราคาสินค้าเกษตร ข้าวเปลือกตันละ 2 หมื่นบาท 6.ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม 2% ทำให้ของถูกลง 7.ตู้เอทีเอ็มไร่นาเกษตรกร 8.ทำดีมีรายได้ กองทุนสวัสดิการผู้บำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม และ 9.สร้างที่ทำกิน ที่ค้าขาย 1 ล้านคน

ทั้ง 9 ข้อ ส่วนใหญ่มาจากมันสมองของชายที่ชื่อ “เนวิน ชิดชอบ” เป็นหลัก โดยหนนี้ เนวิน ต้องการเน้นนโยบายด้านการสร้างอาชีพผ่านการผลักดันให้เยาวชนเข้าสู่ระบบกีฬาอาชีพในระยะยาว ซึ่งมองว่าจะเป็นอาชีพสร้างรายได้ให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก

ส่วนนโยบายด้านอื่นๆ มาจากการระดมสมองของแกนนำพรรค และให้ “ปองพล อดิเรกสาร” เป็นผู้รวบรวมและร่างออกมาเป็นนโยบายดังกล่าว โดยนโยบายที่เปิดตัวออกมาในครั้งนี้เป็นเพียงการเสนอกรอบนโยบายคร่าวๆ เท่านั้น แต่จะมีการเปิดนโยบายพรรคอย่างละเอียด ซึ่งจะมีการระบุถึงแผนการดำเนินการที่แสดงถึงความเป็นไปได้จริงของนโยบายในทางปฏิบัติหลังจากการยุบสภา

ต่อด้วย พรรคชาติไทยพัฒนา บรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ได้เสนอแนวทางให้กับพรรคเอาไว้ว่า ไม่อยากให้พรรคให้ความสำคัญกับนโยบายประชานิยมเหมือนกับสองพรรคการเมืองใหญ่

กลายเป็นโจทย์ใหญ่ของ “เกษมสันต์ วีระกุล” อดีตมือเศรษฐกิจของพรรครวมชาติพัฒนา ที่คราวนี้ผันตัวมาอยู่ร่วมกับพรรคชาติไทยพัฒนาตามคำชวนของ “ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์” อดีตเลขาธิการพรรครวมชาติพัฒนาที่ปัจจุบันมาอยู่ใต้ชายคาเดียวกัน

เบื้องต้นได้มีการเสนอนโยบายด้านเศรษฐกิจออกมาแล้ว โดยยังเน้นหนักเศรษฐกิจภาคเกษตรกรรม เช่น ขยายพื้นที่ชลประทานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ 25 ลุ่มน้ำ ต่อยอด พ.ร.บ.สภาเกษตรกรให้เกิดเป็นรูปธรรม ด้วยการให้มีอาสาสมัครเกษตรประจำหมู่บ้าน (อกม.) พร้อมกับให้ค่าตอบแทนคนละ 1,000 บาท จัดตั้งสถานีโทรทัศน์การเกษตร และพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม

สำหรับนโยบายด้านสวัสดิการสังคมของพรรคชาติไทยพัฒนาก็ไม่น้อยหน้าพรรคการเมืองใหญ่เช่นกัน เพราะเสนอเพิ่มเงินสวัสดิการผู้สูงอายุ 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน และสร้างสนามกีฬาเพื่อสุขภาพแบบครบวงจรแห่งละ 12 ล้านบาทให้กับทุกตำบล

ปิดท้ายด้วย พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน เป็นอีกพรรคที่ให้ความสำคัญกับการสร้างนโยบายเช่นกัน เพราะมีการวางตัวมือเศรษฐกิจเอาไว้ถึง 3 คนสำคัญด้วยกัน คือ กรพจน์ อัศวินวิจิตร อดีต รมช.พาณิชย์ มนตรี ฐิรโฆไท อดีตผู้ช่วยอธิการบดี และภิรมย์ จั่นถาวร อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จุดสนใจอยู่ที่การเข้ามาของ “กรพจน์” เพราะมีคุณสมบัติเพียบพร้อมต่อการเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคทุกประการ โดยนอกจากเคยเป็น รมช.พาณิชย์แล้ว ยังเคยเป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และผู้แทนการค้าไทยในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ในส่วนนโยบายของพรรคได้มีการนำเสนอออกมาให้เห็นเป็นน้ำจิ้มกันบ้างแล้ว โดยการผลักดันสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษให้กับหัวเมืองใหญ่ตามภูมิภาคของไทย เพื่อผลักดันให้สามารถส่งออกสินค้าได้ถึง 10 ล้านล้านบาทต่อปี และให้ความสำคัญกับการศึกษาโดยจัดตั้งกองทุนให้กู้ยืมศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก หลังจากกองทุนการศึกษาของไทยจะเน้นเฉพาะการศึกษาในระดับปริญญาตรีเท่านั้น

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนโยบายจากพรรคการเมืองขนาดกลาง หรือที่เรียกกันในภาษาการเมืองว่า “พรรคเอสเอ็มอี” ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีลักษณะของนโยบายคล้ายๆ กัน คือ การลด แลก แจก แถม ตามแบบฉบับประชานิยมเหมือนกันทุกพรรคการเมือง เป็นการแสดงให้เห็นว่ายังไม่มีพรรคการเมืองใดสามารถก้าวข้ามประชานิยมได้เลยแม้แต่พรรคเดียว