posttoday

จรวยพร ยึดมั่น กพค. ดึงขรก.พ้นอุ้งการเมือง

15 เมษายน 2554

ก.พ.ค.เป็นหน่วยงานที่เปรียบเสมือนเป็นเกราะป้องกันให้กับข้าราชการชั้นผู้น้อย ให้พ้นจากเงื้อมมือผู้บังคับบัญชาที่วางตัวไม่เป็นกลางและไม่เป็นธรรม...

ก.พ.ค.เป็นหน่วยงานที่เปรียบเสมือนเป็นเกราะป้องกันให้กับข้าราชการชั้นผู้น้อย ให้พ้นจากเงื้อมมือผู้บังคับบัญชาที่วางตัวไม่เป็นกลางและไม่เป็นธรรม...

โดย...ทีมข่าวการเมือง

เมื่อข้าราชการถูกกลั่นแกล้งจากน้ำมือผู้มีอำนาจ เมื่อนั้นก็จำเป็นต้องมีเครื่องมือในการปกป้อง นางจรวยพร ธรณินทร์ คณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรม (ก.พ.ค.) กล่าวเปิดใจกับโพสต์ทูเดย์ถึงการทำหน้าที่ของ ก.พ.ค. หลังถูกที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กล่าวหาว่า ก.พ.ค.ทำเกินหน้าที่ พร้อมกับหาช่องในการดำเนินคดีตามกฎหมาย กรณีการคืนตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครองให้นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ หลังถูกเด้งไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย

“จรวยพร” อธิบายอย่างภาคภูมิใจว่า ก.พ.ค.เป็นหน่วยงานที่เปรียบเสมือนเป็นเกราะป้องกันให้กับข้าราชการชั้นผู้น้อย ให้พ้นจากเงื้อมมือผู้บังคับบัญชาที่วางตัวไม่เป็นกลางและไม่เป็นธรรมต่อ “ข้ารับใช้ประชาชน”

ทั้งนี้ หน่วยงานของ ก.พ.ค.เพิ่งมีตามกฎหมาย ซึ่งอาจจะต้องทำความเข้าใจ แต่ ก.พ.ค.ยืนยันว่าทำงานอย่างเต็มที่และถูกต้องตามกฎหมายที่กำหนดไว้ ดังนั้นนายมงคล สุระสัจจะ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อได้รับผลกระทบ ก็สามารถใช้สิทธิฟ้องศาลปกครองชั้นต้น แต่ก็ต้องไปดูว่าศาลจะตัดสินอย่างไร

จรวยพร ยึดมั่น กพค. ดึงขรก.พ้นอุ้งการเมือง

“จรวยพร” กล่าวว่า การที่จะฟ้อง ก.พ.ค.ในมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้น จะมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำหน้าที่วินิจฉัยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่ง ป.ป.ช.จะเข้าไปตรวจสอบว่ากฎหมายให้อำนาจ ก.พ.ค. และ ก.พ.ค.ทำตามอำนาจหน้าที่หรือไม่

ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าได้ทำตามหน้าที่ หากจะฟ้อง ป.ป.ช.ก็มีสิทธิ แต่ ป.ป.ช.จะวินิจฉัยอย่างไรก็เป็นดุลพินิจ เพราะในกฎหมายเฉพาะได้ป้องกันในส่วนของคู่กรณีไม่ให้สามารถไปฟ้องได้ หากฟ้องได้การตัดสินก็จะไม่ถึงที่สุด และไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ สั่งอธิบดีแล้วไม่ยอมทำตาม จะมี ก.พ.ค.ไว้ทำไม

“บังเอิญข้อมูลทั้งหมดอธิบดีวงศ์ศักดิ์มีอยู่ในมือว่าถูกสั่งหรือไม่สั่งใน|บางเรื่อง ข้อมูลฝ่ายการเมืองไม่มีรายละเอียดหรือใบเสร็จ แต่กรณีกระทรวงมหาดไทยในคำวินิจฉัยโดยปลัดมหาดไทยได้ชี้แจงกลับมาว่า กรณีสมาร์ตการ์ดและคอมพิวเตอร์ไม่ใช่เหตุผลที่ใช้ในการย้ายนายวงศ์ศักดิ์ แต่เหตุที่ย้ายเนื่องจากไม่สามารถควบคุมการชุมนุมได้ แต่ปลัดมหาดไทยไม่ได้ชี้แจงว่าการเอานายมงคลมาทำหน้าที่ควบคุมการชุมนุมได้ดีกว่าหรือไม่ เพราะการชุมนุมก็ยังคงมีอยู่ อีกทั้งหน้าที่การควบคุมการชุมนุมไม่ใช่หน้าที่หลักของกระทรวงมหาดไทย แต่เป็นของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)”

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ก.พ.ค.ก็ไม่ได้เขียนคำวินิจฉัยรุนแรง เพราะไม่อยากก้าวล่วงกับฝ่ายการเมือง จึงระมัดระวังอย่างที่สุด แต่มันมีร่องรอยว่าเรื่องนี้มีความเป็นมาอย่างไร

“เราพยายามเป็นกลางที่จะนำเสนอข้อมูลไม่ให้เกิดผลกระทบกับคู่กรณีและผู้ร้องทุกข์ เวลาเลือกข่าวนำเสนอเพื่อต้องการให้เป็นอุทาหรณ์ ป้องกันไม่ให้ข้าราชการอื่นทำผิดซ้ำซากเหมือนผู้อุทธรณ์ หรือกรณีผู้ร้องทุกข์เป็นฝ่ายได้ชัยชนะ เพื่อให้คู่กรณีระมัดระวังทำร้ายข้าราชการ และถ้าเกิดเหตุไปแล้วจะไม่มีการเกิดซ้ำ”

ก.พ.ค.ได้อำนาจตามกฎหมาย คือ ปลอดจากการเมือง เห็นได้จากอัตราเงินเดือนคงที่ตลอด 6 ปี และมีวาระการทำงานวาระเดียวเต็มเวลา ทั้งหมดไม่จำเป็นต้องผ่านนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี และมาตรา 42 ยังกำชับว่าการแต่งตั้งต้องเป็นกลาง จะเอาความคิดเห็นทางการเมืองมาใส่ไม่ได้ และขีดเส้นให้คุ้มครองระหว่างฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ

ดังนั้น การทำงานที่ผ่านมาจึงไม่เคยมีฝ่ายการเมืองเข้ามาบงการ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพราะถือว่าเป็นองค์กรผู้ทรงคุณวุฒิตามกฎหมายให้อำนาจ แต่ก็ถูกล็อกด้วยกฎหมาย ป.ป.ช.ที่ระบุว่า เมื่อ ป.ป.ช.ชี้มูลแล้วองค์กรที่พิจารณาทบทวนอุทธรณ์ไม่สามารถเปลี่ยนฐานความผิด แต่สามารถปรับระดับโทษได้

เพราะ ป.ป.ช.ได้อำนาจตามกฎหมายเฉพาะ แต่เราจะเขียนเป็นสังเกตว่า ที่ไม่เห็นด้วยกับการชี้มูล แต่ผู้อุทธรณ์ก็จะต้องไปฟ้องศาลปกครองสูงสุดอีกครั้งเพื่อขอพึ่งอำนาจศาล และอีกกรณีหนึ่งคือส่วนราชการลงโทษตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูล เนื่องจาก ป.ป.ช.มีกฎหมายเฉพาะ ให้อำนาจถือดาบอาญาสิทธิ์ว่า ส่วนราชการไม่ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวน ให้ใช้สำนวนของ ป.ป.ช.สั่งลงโทษได้ ซึ่งเราก็ดำเนินการตามกฎหมายเฉพาะ

โฆษก ก.พ.ค. กล่าวยอมรับว่า ชีวิตส่วนตัวในการทำงานที่ผ่านมา ไม่เคยมีปัญหาที่ถูกฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซง เมื่อเป็นข้าราชการประจำโดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูง ต้องประสานกับฝ่ายการเมืองให้ได้ โดยเฉพาะอธิบดีกับปลัดกระทรวง เพราะรัฐมนตรีเป็นผู้ออกนโยบาย ปลัดกระทรวงมีหน้าที่นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ถ้าทำงานไม่เข้าขา รัฐมนตรีก็มีสิทธิปลดปลัดได้ เพระรัฐมนตรีมีอำนาจเดียวในการตั้งข้าราชการระดับซี 11

ตามกฎหมาย รัฐมนตรีมีอำนาจคุมและแต่งตั้งปลัดได้เท่านั้น รัฐมนตรีจึงใช้กลไกในการแต่งตั้งปลัด แต่ในทางปฏิบัติจะลงมาล้วงลูกหรือไม่ เราไม่สามารถทราบได้ แต่จะดูจากพฤติกรรมปลัดกระทรวงต่างๆ ว่าปลัดจะสนองหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ปรากฏหลักฐาน จึงไม่สามารถเอาข้อเท็จจริงมายืนยัน ดังนั้นจึงเป็นความสัมพันธ์กับฝ่ายการเมืองและข้าราชการ ทั้งนี้ยืนยันว่าตำแหน่งใน ก.พ.ค.ฝ่ายการเมืองไม่สิทธิเข้ามาแทรกแซงได้ เพราะถูกออกแบบมาให้ปลอดการเมือง

อย่างไรก็ดี สิ่งที่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สุดในกฎหมาย คือ มาตรา 123 เพราะอยากให้มีการกำหนดวันอย่างชัดเจน เมื่อมีคำสั่งออกมาแล้วจะต้องนำไปปฏิบัติภายในกี่วัน เหมือนกับมาตรา 116 ในกรณีอุทธรณ์ ถ้าหากสั่งแล้วไม่ดำเนินการ ถือว่าเป็นการจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น โดยจะต้องยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.

เพราะมาตรา 123 ระบุเพียงว่า เมื่อ ก.พ.ค.ได้พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ประการใด ให้หัวหน้าส่วนราชการระดับกรมที่อยู่ในบังคับบัญชา หรือรับผิดชอบการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี หรือต่อรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง รัฐมนตรีเจ้าสังกัดแล้วแต่กรณี ดำเนินการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค. ทั้งนี้ถ้าฝ่ายการเมืองไม่พอใจก็ต้องมาแก้ตรงนี้ ดังนั้นกฎหมายเฉพาะจึงได้ออกมาเพื่อให้คู่กรณีปฏิบัติตาม