posttoday

เพราะถูกทุบหม้อข้าว เราจึงต้องสู้

22 กุมภาพันธ์ 2554

ฟังเีสียงสะท้อนจากชาวบ้านในนาม ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมเป็นธรรม กับปัญหาระดับรากหญ้าที่ยังถูกหลายฝ่ายมองข้าม...

ฟังเีสียงสะท้อนจากชาวบ้านในนาม ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมเป็นธรรม กับปัญหาระดับรากหญ้าที่ยังถูกหลายฝ่ายมองข้าม...

โดย...ชลธิชา เหลิมทอง  

เมื่อเวลา 14.00 น. ที่มหาวิทยาธรรมศาสตร์ ได้มีการจัดงาน ปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทอง 2554 โดยภายในงานมีการจัดกิจกรรมเสวนาชาวบ้าน “ผลกระทบจากนโยบายรัฐ กับแผนพัฒนาประเทศ”  ซึ่งหัวข้อการเสวนาครั้งนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นการพูดแทน  ผู้ประสบปัญหาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย สัญชาติ เครือข่ายสมัชชาคนจน กลุ่มเขื่อนปากมูล และกลุ่มผู้คัดค้านโรงไฟฟ้า ที่รวมตัวกันเป็น “ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ” จำนวนกว่า 3,000 คนที่ปักหลักชุมนุมอยู่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้ามานานกว่าสัปดาห์แล้ว

เพราะถูกทุบหม้อข้าว เราจึงต้องสู้

ทั้งนี้ วันที่ 22 ก.พ. กลุ่มพีมูฟ ที่วันนี้มีการรวมตัวกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อรอฟังคำตอบว่าคณะรัฐมนตรีว่าจะมีแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องที่ทำกินอย่างไร และการเสวนาครั้งน่าจะเป็นคำตอบว่าเหตุใดเกษตรกรผู้ยากไร้ต้องละจากเกิดเพื่อมานอนประท้วงที่ลานพระบรมรูปทรงม้าแบบนี้  และการต่อสู้ที่เกิดขึ้นพวกเขาต้องเผชิญกับความยากลำบากอะไรบ้าง

ตัวแทนภาคประชาชนที่ร่วมเสวนาบนเวที โกมล คีมทอง ประกอบไปด้วย พ่อหลวงจอนิ  โอ่โดเชา ที่ปรึกษาเครือข่าย กลุ่มเกษตรภาคเหนือ ที่มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องการประกาศพื้นที่ป่าชุมชน น.ส.กรณ์อุมา  พงษ์น้อย  ตัวแทนกลุ่มรักท้องถิ่น บ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ภรรยา นายเจริญ วัดอักษร แกนนำกลุ่มอนุรักษ์บ่อนอกที่ถูกยิงเสียชีวิต ในปี 2547 และ นายอุทัย สอาดชอบ ตัวแทนจากเครือข่ายป่าสมัชชาคนจน  

นายอุทัย เล่าว่า ตนเองเป็นคน อ.ตาพระยา  จ.สระแก้ว ได้รับผลกระทบโดยรัฐต้องการเอาพื้นที่เพื่อให้ทหารฝึกการรบ โดยผลักดันชาวบ้านออกจากพื้นที่ จึงเข้ามารวมตัวกับสมัชชาคนจน  โดยตอนแรกคิดว่าจะได้รับการดูแลอย่างรวดเร็วจากรัฐบาล แต่ในทางเป็นจริงกับไม่เป็นแบบนั้นทำให้มีการชุมนุมนานถึง 99วัน แม้จะยากลำบากแต่ก็มีเหมือนมีความคืบหน้ามีความหวัง โดยมีการตั้งคณะกรรมการเข้าไปตรวจสอบ โดยจากวันนั้นถึงวันนี้ คิดว่าการแก้ปัญหาที่มีความคืบหน้าได้ ส่วนหนึ่งประชาชนต้องเข้าไปมีส่วนร่วม  อย่างไรก็ตามการปฏิบัติงานของข้าราชการมีความล่าช้ามาก ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนมาก

เพราะถูกทุบหม้อข้าว เราจึงต้องสู้

เขาขยายความความไม่จริงใจของข้าราชการว่า ในระดับพื้นที่เจ้าหน้าที่จะยื้อเรื่องเวลา  และมีการปลุกคนขึ้นมาคัดค้านการเรียกร้องสิทธิของประชาชน โดเป็นการรวมมือกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับนายทุน  เช่น การให้ปลูกป่ายูคาลิปตัส  ทั้งที่สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐกล่าวได้ว่าแทบไม่คิดที่จะช่วยเหลือชาวบ้านเลย ข้าราชการดีๆ มีอยู่บ้างแต่น้อยมากและเป็นคนที่ไม่มีอำนาจหน้าที่  คนที่เห็นใจชาวบ้านกลับเป็นคนนอกที่เห็นอกเห็นใจพวกเรา  ทั้งที่การที่ชาวบ้านถูกรัฐยึดที่ดินก็เหมือนกับถูกแย่งหม้อข้าว  ทำให้ชาวบ้านต้องต่อสู้  เพราะเราก็ไม่รู้ว่าจะไปทำอาชีพอะไร

ทั้งนี้หากให้ประเมินชัยชนะและการพ่ายแพ้เป็นเรื่องที่ตอบยากมาก  แม้จะได้ที่ดินคืนมา แต่ชีวิตก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะต้องมีการต่อสู้กับคดีความต่างๆ  ทำให้คิดว่าคงยังไม่ใช่ชัยชนะที่แท้จริง เพราะยังมีเพื่อนๆ ที่ยังถูกกระทำและได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐอีกเป็นจำนวนมาก จนเริ่มได้แนวคิดที่มาแลกเปลี่ยนกันแล้วว่าเราจะปล่อยให้ชีวิตเป็นไปตามการพัฒนาที่รัฐหยิบยื่นมาให้เท่านั้นหรือ   ซึ่งจากโจทย์เหล่านี้เริ่มทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่มีอยู่กับเราตั้งแต่ดั้งเดิมต่างหากคือสิ่งที่ดีต่อคุณภาพชีวิตที่แท้จริง  นั่นคือวิถีบรรพบุรุษที่อาศัยกินอยู่กับป่า   ดังนั้น  ชัยชนะที่ได้มากที่สุดจากการ่วมมือกันของคนที่เดือดร้อนด้วยกัน มีความเห็นอกเห็นใจ เรียนรู้และแก้ปัญหาร่วมกัน มากกว่า

น.ส. กรณ์อุมา หรือที่ใครๆ รู้จักในนาม “กระรอก”  เล่าว่า จากการต่อสู้เรื่องพลังงานที่ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ  ได้พัฒนามาเป็นการต่อสู้ไม่ให้วัดความเจริญเติบโตของประเทศด้วยจีดีพี เพราะโครงการพัฒนาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเซาท์เทอร์นซีบอร์ด หรือ อีสเทอร์นซีบอร์ด   โดยกลุ่มทุนต่างชาติ เหมือนกับการล่าอาณานิคมสมัย   เพราะในบางพื้นที่เดินเข้าไปนึกว่าเป็นประเทศญี่ปุ่น  ทิศทางการพัฒนาแบบนี้ ที่รัฐขว้างปามาให้เราโดยไม่ถามความสมัครใจว่าเราต้องการหรือไม่ทำให้เรารับไม่ได้ เพราะยิ่งรัฐพัฒนา แต่พวกเรากลับจนลง และมีความสูญเสียจำนวนมาก เพราะการพัฒนาที่รัฐนำเข้ามามักจะแลกด้วยความแตกแยกของชุมชน   แลกด้วยการทำลายฐานทรัพยากรท้องถิ่น  และการถูกดำเนินคดีต่างๆเป็นจำนวนมากซึ่งพวกเราต้องยอมรับและต่อสู้ไม่สามารถยอมแพ้ได้

เพราะถูกทุบหม้อข้าว เราจึงต้องสู้

ทั้งนี้วาทกรรมว่าการเข้ามาของการพัฒนาจะช่วยลดปัญหาการว่างงาน  ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วประชาชนในพื้นที่แทบไม่มีการว่างงาน  ดังนั้น การพัฒนาที่รัฐหยิบยื่นมาให้จึงไม่ใช่การพัฒนาที่แท้จริง เพราะอย่างมากที่สุด ชาวบ้านก็เป็นแค่ลูกจ้างโรงงานเท่านั้น   ซึ่งความเป็นอยู่เดิมของชาวบ้านทั้งการประมง การทำไร่ ทำสวนของชาวบ้านถือว่ายั่งยืนกว่า 

สำหรับความเข้มแข็งของพวกเราที่ยังมีอยู่และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้น  เพราะเรามองประชาชนด้วยกันแล้วทำให้เรามีกำลังใจ ไม่คิดหาอัศวินม้าขาว เพราะมันไม่มีจริง  และคนเรานั้นถ้าคิดจะต่อสู้และเสียสละและอย่ากลัว  เพราะถ้ากลัวก็กลับไปนอนได้เลย  สำหรับการต่อสู้ที่เกิดขึ้นในตอนนี้เป็นการต่อสู้เพื่อสะสมแต้ม ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อเอาชนะ แต่สู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน

สำหรับความคืบหน้าของคดี นายเจริญ วัดอักษร 5-6 ปีที่ผ่านมาแทบไม่มีความคืบหน้า เพราะแม้ว่าผู้จ้างวานจะได้รับโทษประหารชีวิต แต่ยังเป็นขั้นตอนในศาลชั้นต้น แต่กลับได้รับประกันตัวอย่างรวดเร็ว

พ่อหลวงจอนิ กล่าวว่า ตอนนี้รู้สึกหมดศรัทธากับ ส.ส. ส.ว.ไปแล้ว คนเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์เท่านั้น เพราะเคยไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากคนเหล่านี้ได้   เพราะเขาไม่รับผิดชอบต่อประชาชน  เพราะเมื่อไปหาก็บอกให้เรามาหา “หน่วยเหนือ” ซึ่งเป็นรัฐมนตรี ที่เราต้องมาชุมนุมเรียกร้องด้วยตัวเองนั่นเอง   ทั้งนี้การต่อสู้ของพวกเรา เราต้องหาคนที่สู้ด้วยกันมารวมตัวกัน  เพื่อให้เรารวมกันสู้ต่อไป    และขอให้ทุกคนกลับมาที่วิถีชีวิตเดิมให้เร็วที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่จะทำให้เราอยู่ได้อย่างยั่งยืน

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเสียงสะท้อนเพียงส่วนหนึ่งของความยากลำบากของพี่น้องพีมูฟที่ถูกรัฐทุบหม้อข้าวด้วยคำว่า “โครงการพัฒนาจากรัฐ” เท่านั้น