posttoday

แก้รธน.ไม่แก้ปัญหา-เลือกตั้งใหม่เหมือนเดิม

01 กุมภาพันธ์ 2554

กองบก.หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์และโพสต์ทูเดย์ได้จัดเสวนาโต๊ะกลมเมื่อวันที่ 31 ม.ค.โดยเชิญนักการเมืองและนักวิชาการมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

กองบก.หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์และโพสต์ทูเดย์ได้จัดเสวนาโต๊ะกลมเมื่อวันที่ 31 ม.ค.โดยเชิญนักการเมืองและนักวิชาการมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

"รัฐบาลใหม่ไม่มีเสถียรภาพ"
สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

แก้รธน.ไม่แก้ปัญหา-เลือกตั้งใหม่เหมือนเดิม สมบัติ

การแก้รัฐธรรมนูญแค่มาตรา 190 และ 93-98 เป็นเพียงประเด็นเล็กน้อย ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมือง หรือพรรคการเมือง รวมไปถึงปัจจัยในการตัดสินใจเลือกตั้งของประชาชน

หลังการเลือกตั้งจะไม่มีพรรคการเมืองไหนมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งเบ็ดเสร็จเพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ โดยตัวแปรสำคัญอยู่ที่พรรคขนาดกลาง 3-4 พรรคที่มีอยู่ในปัจจุบัน ถ้าพรรคการเมืองเหล่านี้ไปร่วมกับพรรคใหญ่พรรคหนึ่งพรรคใดจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ทันที
รัฐบาลใหม่ไม่มีทางอยู่ได้ยาว สมมติถ้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล จะทนกับแรงกดดันจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ได้หรือไม่ เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ ต้องเจอกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

ส่วนเรื่องการรัฐประหารตอนนี้ยังมีปัจจัยน้อยอยู่ เพราะมีแรงกดดันจากนานาชาติ เว้นแต่จะทำแบบพม่าโดยไม่สนใจประชาคมโลก

"มีอำนาจนอกระบบแทรกแซง"
สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล กรรมการที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา

แก้รธน.ไม่แก้ปัญหา-เลือกตั้งใหม่เหมือนเดิม สมศักดิ์

การมี สส.บัญชีรายชื่อ 125 คน ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้มี สส.ใหม่มากขึ้น ตรงกันข้ามจะทำให้นายทุนเข้ามามีอำนาจต่อรองมากขึ้น เหมือนกับที่เคยเกิดในอดีต ทั้งๆ ที่เดิมมีเจตนาต้องการให้ สส.บัญชีรายชื่อเข้ามาเป็นตัวเชื่อมโยงกับ สส.เขตในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่สุดท้ายก็กลายเป็นช่องว่างให้นายทุนเข้ามามีอำนาจ

ในการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 บอกไม่ได้ว่าจะผ่านหรือไม่ เพราะมีผู้ใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์หลายคนแสดงความเห็นในทำนองไม่อยากแก้ไข จึงบอกว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ไม่ว่าจะเป็นเขตไหน เราเป็นนักกีฬา ถ้าพอใจกติกานี้ก็เล่น ถ้าไม่พอใจก็ไม่เล่นเหมือนปี2549

ผมสัมผัสได้มาตลอดว่าระบบพรรคประชาธิปัตย์เข้มแข็งมาก ทำให้เวลาคุยกับเลขาธิการพรรคและนายกรัฐมนตรี รู้สึกว่าทั้งสองคนเป็นเพียงเมสเซนเจอร์ (ผู้ส่งสาร) เท่านั้น นอกจากนี้การเมืองเวลานี้ยังไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะมีการสั่งจากเขาคนนั้นอยู่ เป็นรูปแบบแอบแฝงเข้ามา

เคยคิดว่าเมื่อมีรัฐธรรมนูญ 2540 คงจะไม่มีรัฐประหารอีก แต่พอเกิดขึ้นมา ร่างกติกากันใหม่ แม้จะไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน พวกผมก็เป็นนักกีฬาพอที่จะยอมรับ แต่กลายเป็นว่าเมื่อผมยอมรับแล้ว แต่พวกคุณกลับไม่ยอมรับ จนเป็นปัญหา และบ้านเมืองเดินหน้าไม่ได้ แบบนี้การปฏิวัติจะไม่ตายไปจากสังคมไทย ตราบใดถ้าอำนาจประชาชนมากขึ้น แต่ยังไม่ถูกใจเขา

"เสียงต้องเบ็ดเสร็จเพื่อเป็นรัฐบาล"
พีรพันธุ์ พาลุสุข สส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย

แก้รธน.ไม่แก้ปัญหา-เลือกตั้งใหม่เหมือนเดิม พีรพันธุ์

ว่ากันตามความเป็นจริง พรรคประชาธิปัตย์ไม่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะต้องการสร้างความได้เปรียบเอาไว้ เช่นเดียวกับระบบ 375+125 รัฐบาลต้องการควบคุมให้ได้มากที่สุด โดยระบบการเลือกตั้งตามที่มีการแก้กันอยู่ ไม่เป็นธรรมกับพรรคการเมืองเล็ก
ส่วนพรรคเพื่อไทยยอมรับอยู่แล้วว่าถ้าอยากเป็นรัฐบาลต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภา หรือรัฐบาลพรรคเดียวให้ได้ มิฉะนั้นต้องเจอกับคนนอกรัฐธรรมนูญเข้ามาแทรกแซง เนื่องจากการเลือกตั้งได้มีการขอให้พรรคเดิมกลับมาเป็นรัฐบาลกันแล้ว และขอร้องทหารว่าอย่ามายุ่ง ปล่อยให้การเมืองแก้ด้วยการเมือง

ส่วนสมมติฐานเรื่อง พธม.จะมาต่อต้านหากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลในอนาคต เราพร้อมจะแก้ปัญหาต่อไป โดยเชื่อว่าถ้าเราสามารถแก้ปัญหาคนส่วนใหญ่ของประเทศได้ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ย่อมต้องได้รับการยอมรับจากสังคม แต่ถ้าหากมันวุ่นวายมากก็ยุบสภา อย่างน้อยเพื่อป้องกันไม่ให้อำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซง เพื่อให้การเมืองได้รับการแก้ไขด้วยการเมือง

"การปรองดองยังไม่เกิด"
เสรี สุวรรณภานนท์ อดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550

แก้รธน.ไม่แก้ปัญหา-เลือกตั้งใหม่เหมือนเดิม เสรี

ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ 2540 หรือ 2550 ล้วนมีประเด็นที่สังคมพอใจและไม่พอใจเหมือนกัน โดยสมมติฐานของการร่างแต่ละครั้งจะเอาปัญหาบ้านเมืองเป็นตัวตั้งว่าจะแก้และสร้างอะไรขึ้นมาใหม่ เช่น ของปี 2540 มีคนไม่พอใจเรื่องการสังกัดพรรคการเมือง 90 วัน รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็แก้ไขให้ หรือเรื่องการห้ามไม่ให้ สส.และรัฐมนตรีสวมหมวกใบเดียวกันตามรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ได้รับการแก้ไขในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ต้องการทำลายพรรคการเมือง และไม่ได้เป็นการร่างรัฐธรรมนูญตามใบสั่งของใคร

การยุบสภาในทางปฏิบัติ ใครก็ตามที่มีอำนาจอยู่ในมือก็ไม่อยากยุบทั้งนั้น เว้นเสียแต่จะมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามา ส่วนการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งถ้ายังปล่อยแบบนี้ต่อไป การปรองดองไม่เกิด เพราะมีแต่การเอาแพ้เอาชนะกันตลอด ต่อให้ใครมาเป็นรัฐบาลก็ไม่มีเสถียรภาพ