posttoday

ผ่าคำแปรญัตติสารพัดสูตรสส. ก่อนถึงยกสอง25ม.ค.

20 มกราคม 2554

สำรวจคำแปรญัตติสารพัดสูตรแก้รัฐธรรมนูญประเด็นที่มาและจำนวนส.ส.ท่ามกลางความเห็นที่หลากหลายในรัฐสภา...

สำรวจคำแปรญัตติสารพัดสูตรแก้รัฐธรรมนูญประเด็นที่มาและจำนวนส.ส.ท่ามกลางความเห็นที่หลากหลายในรัฐสภา...

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

เสร็จสิ้นแล้วสำหรับการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีนายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ สส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน โดยกระบวนการที่ผ่านมาเป็นการพิจารณาในส่วนร่างแก้ไข คือ 1.มาตรา 190 เกี่ยวกับกรอบการเจรจาระหว่างประเทศ และ 2.มาตรา 93-98 เกี่ยวกับที่มาและจำนวนของ สส. ซึ่งถือว่าตลอดการพิจารณาที่ผ่านมาเต็มไปด้วยความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกันเป็นอย่างมากใน กมธ. โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับที่มาของ สส.

มากันที่ร่างแก้ไขมาตรา 190 การพิจารณาที่ผ่านมาโดยรวมแล้วถือว่าไม่ได้ปรากฏความขัดแย้งอะไรมากมาย ส่วนใหญ่สมาชิกรัฐสภาได้แปรญัตติขอให้มีการกำหนดประเภทหนังสือสัญญาที่ต้องผ่านการเห็นชอบของรัฐสภาให้ความชัดเจนเพื่อป้องกันปัญหาความมั่นคงของประเทศ ทำให้สรุปแล้ว กมธ.ได้มีการแก้ไขด้วยถ้อยคำดังนี้

"หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย หรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญา หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้รัฐสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว ให้มีการออกกฎหมายลูกภายในระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา"

ผ่าคำแปรญัตติสารพัดสูตรสส. ก่อนถึงยกสอง25ม.ค.

จากนั้น กมธ.ได้พิจารณาในร่างแก้ไขมาตรา 93-98 ต่อทันที ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนที่ยุ่งเหยิงที่สุด เพราะสมาชิกรัฐสภาต่างมีความเห็นกันอย่างหลากหลายในเรื่องจำนวน ส.ส.โดยสรุปแล้วมีสมาชิกรัฐสภาที่ไม่เป็นกมธ.ใช้สิทธิ เสนอคำแปรญัตติเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับมติของกมธ.ที่เห็นชอบให้มีส.ส.เขตเดียวเบอร์เดียว 375 คน และบัญชีรายชื่อ 125 คน โดยสามารถแบ่งเป็น10 กลุ่มดังนี้

กลุ่มที่ 1 เสนอสูตรส.ส.400+100 แบ่งเป็น ส.ส.ที่เสนอคำแปรญัตติได้แก่ นายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ  ส.ส.นครราชสีมา พรรครวมชาติพัฒนา นางวรศุลี สุวรรณปริสุทธิ์  ส.ส.มุกดาหาร พรรครวมชาติพัฒนา นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ นายพิษณุ หัตถสงเคราะห์ ส.ส. หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย

นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อแผ่นดิน นายนิยม วรปัญญา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย นายพีรพันธ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย นายนัจมุดดีน อูมา ส.ส.นราธิวาส พรรคมาตุภูมิ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคชาติไทยพัฒนา

ขณะที่ ส.ว.ที่ร่วมเสนอคำแปรญัตติเช่นกัน ประกอบด้วย นายนิคม ไวรัชพานิช ส.ว.ฉะเชิงเทรา นายจารึก อนุพงษ์ ส.ว.สรรหา นางนฤมาล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ ส.ว.มุกดาหาร นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ ส.ว.ปราจีนบุรี นายเจริญ ภักดีวานิช ส.ว.พัทลุงพล.ต.ท.พิชัย สุนทรสัจบูลย์ ส.ว.อุดรธานี นายสุริยา ปันจอร์ ส.ว.สตูล

นายทวีศักดิ์ คิดบรรจง ส.ว.บุรีรัมย์ นายวรวิทย์ บารู ส.ว.ปัตตานี นายสุวิศว์ เมฆเสรีกุล ส.ว.สมุทรสาคร พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี ส.ว.สรรหา นางตรึงใจ บูรณสมภพ ส.ว.สรรหา นายประวัติ ทองสมบูรณ์ ส.ว.มหาสารคาม นายสุโข วุฒิโชติ ส.ว.สมุทรปราการ นายประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์ ส.ว.ขอนแก่นนายยุทธนา ยุพฤทธิ์ ส.ว.ยโสธร

กลุ่มที่ 2 400+125 มีเพียงนายสถาพร มณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย คนเดียว กลุ่มที่ 3 สูตร 300+100 เสนอโดย นายคำนูน สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา

กลุ่มที่ 4 สูตร 350+150 ได้แก่นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา นายสุรจิต ชิรเวทย์ ส.ว.สมุทรสงคราม นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มที่ 5 สูตร 400+80 เป็นของ นายพีระเดช ศิริวันสาณฑ์ ส.ว.นครสวรรค์ นายนิพนธ์ วิสิษฐ์ยุทธศาสตร์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์

กลุ่มที่ 6 สูตร 300+200 ของนายมณเฑียร บุญตัน ส.ว.สรรหา นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว.สรรหา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กลุ่มที่ 7 สูตร 380+100 นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา กลุ่มที่ 8 สูตร200+100 นายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา กลุ่ม 9 สูตร375+100 น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.และกลุ่มที่ 10 สูตร360+140 นายชลิต แก้วจินดา ส.ว.สรรหา

จากทั้งหมดนี้เมื่อเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 ของที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 25 ม.ค.นี้ เชื่อว่าจะมีการอภิปรายอย่างดุเดือดอย่างแน่นอนแต่ถึงที่สุดแล้วน่าจะเหลือเพียงแค่สูตร 375+125 และ 400+100 เท่านั้นที่น่าจะมีเสียงสนับสนุนสูสีแต่ของใครจะเข้าวินคงต้องรอให้ที่ประชุมรัฐสภาเป็นผู้ตัดสินเพื่อเข้าสู่ด่านสุดท้ายวาระ3ในเดือนก.พ.ต่อไป