posttoday

ครูน้อยแม่พิมพ์ผู้เต็มเปี่ยมจิตวิทยาครู

14 มกราคม 2554

วันครูปีนี้สิ่งที่ครูน้อยปราถนาที่สุดคืออยาก"เห็นเด็กนักเรียนมีอนาคตก็ภาคภูมิใจแล้ว"

วันครูปีนี้สิ่งที่ครูน้อยปราถนาที่สุดคืออยาก"เห็นเด็กนักเรียนมีอนาคตก็ภาคภูมิใจแล้ว"

โดย...สายอรุณ ปินะดวง

"การศึกษาในยุคปัจจุบันนี้เหมาะสมสำหรับคนไทยบางส่วนที่มีความพร้อมทังนี้ฐานะความเป็นอยู่และฐานทางการเงินจึงจะมีความสะดวกเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาในระดับสูงๆ"เป็นคำกล่าวของคุณครู"ผ่องฉวี การะเกตุ" หรือ  "ครูน้อย"ข้าราชการครูนอกประจำการ วัย 53 ปี ที่เพิ่งผันตัวเองออกมาจากระบบ"ราชการ" แต่ก็ยังเป็น "ครู" ให้กับสังคมอย่างเต็มเปี่ยม

ด้วยภูมิประเทศของประเทศไทยที่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นทุนทางสังคมสามารถเป็นทุนของชีวิตคนไทยได้อย่างมากมาย ครูน้อย มองว่า"ระบบการศึกษาที่เหมาะสมกับคนไทยส่วนใหญ่ คือ การศึกษาตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ คือ การศึกษาตามวิถีแห่งความพอเพียง โดยการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีคุณค่าของคนไทยให้เกิดคุณประโยชน์อย่างสูงสุดด้วยความประหยัดและมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดนับตั้งแต่ครูน้อยยึดอาชีพเป็นครูสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาต้องระลึกเสมอ คือ ทำอย่างไรจะต้องประคับประคองลูกศิษย์ซึ่งเป็นเยาวชนของชาติให้อยู่ได้อย่างมีสติและคิดให้เป็น เพื่อดำรงชีวิตให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่าเพราะคนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นคนดีของสังคมได้

ย้อนหลังในช่วงชีวิตของครูน้อยที่ยังเยาว์วัย เธอบอกว่า ไม่ได้คิดที่จะมาเป็นครูเลยตั้งแต่แรกด้วยแรงบันดาลใจและคำแนะนำของ นายอินปั๋น การะเกตุ ผู้เป็นบิดาที่มองเห็นแวว จึงเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้ก้าวขึ้นมาสู่อาชีพแม่พิมพ์ของชาติ

"จริงๆแล้วแต่แรกตั้งใจอยากเรียนมัณฑณศิลป์ อย่างเป็นมัณฑนากรชอบประดิษฐ์ ตกแต่ง ซึ่งพ่อก็ไม่ขัดใจหากจะไปเรียนอย่างที่ชอบ แต่ท่านแนะนำว่า(สมัยนั้น)หากเรียนมัณฑณศิลป์จบมาแล้วจะมาทำงานอะไร?ในบ้านเรา แต่หากเป็นครูจะช่วยคนได้มากมายเหลือเกิน เพราะช่วยสอนให้คนมีความรู้"

จึงตัดสินใจเรียนครู หลังจบออกมาก็ไปสมัครสอนหนังสือให้เด็ก ๆ เริ่มรู้สึกว่า นี่แหละ!คือตัวตนของเรา เพราะได้เห็นเด็ก ๆ เขาได้รับความรู้หรือสิ่งที่เราได้สอนแล้วเขานำไปทำให้เกิดผลในเชิงรูปธรรม มันคือความภาคภูมิใจนะพอได้เห็นเด็ก ๆ ที่เราสอนจบไปแล้วมีอนาคตที่ดี

แม้ไม่ร่ำรวยแต่มีชีวิตที่มีความสุข ใช้ชีวิตในสังคมอย่างปลอดภัยคือความสุขใจที่ยากจะอธิบายได้ และนี่คงเป็นสิ่งที่พ่อได้มองเห็นในตัวของเราตั้งแต่ต้นจึงแนะนำและก็ไม่ผิดจริง ๆ (ยิ้มอย่างภาคภูมิใจ)เพราะหลังจากครูน้อยก็ไม่เคยทำให้ลูกศิษย์ลูกหาผิดหวังทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฎิบัติโดยยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง

"ชอบที่จะพาเด็ก ๆ ไปเรียนรู้จากประสบการณ์จริง เช่น เคยพาเด็ก ๆไปขอความรู้จากผู้ที่ประกอบอาชีพเพาะถั่วงอกขายในพื้นที่ อ.เชียงคำซึ่งเด็ก ๆ จะตื่นเต้นกับการเพาะถั่วงอกซึ่งเราจะเป็นผู้อธิบายขั้นตอนของการทำส่วนการสาธิตการเพาะถั่วงอกคือผู้ที่ประกอบอาชีพจนในที่สุดคนเพาะถั่วงอกขายสามารถเป็นครูสอนนักเรียนได้ในหลายปีถัดมา"ครูน้อยเล่าถึงประสบการณ์

ตรงนี้ทำให้เด็ก ๆ ได้รู้ว่าความเป็น "ครู"ไม่ใช่แต่ครูในโรงเรียนเท่านั้นที่จะสอนหรือให้ความรู้แก่นักเรียนได้ แต่เป็นผู้ที่แบ่งปันความรู้และให้ประสบการณ์ คือ "ครู" นอกห้องเรียน ทำให้เด็กๆเรียนรู้โดยตรงและจดจำนำไปทำได้อย่างไม่ต้องอายใครและเมื่อเด็กทำเป็น ความรู้ต่าง ๆ จะไม่สูญหายไปจากสังคมไทย

ไม่เพียงแต่นักเรียนที่ได้รับโอกาสดี ๆ จากครูน้อยหากแต่เพื่อนในอาชีพเดียวกัน ทั้งพี่ เพื่อน และ น้องครูทั้งหลายได้รับการแบ่งปันประสบการณ์และข้อคิด ข้อแนะนำดี ๆจากครูน้อยจนได้รับการแต่งตั้งเป็น ครูผู้สอน(คส.) 3 หรือ อาจารย์ 3กันมากมาย

"ถามว่าการทำ คส.3 ทำไมต้องช่วยครูคนอื่นซึ่งมีคนถามนะว่าช่วยแล้วเราได้อะไร ? ตรงนี้ตอบได้ทันทีว่า การช่วยครู 1คน เท่ากับช่วยนักเรียนอีกมากมายนับไม่ถ้วนเพราะอย่างน้อยการจัดทำแผนการสอนที่เกิดประโยชน์แก่นักเรียนจะเป็นคุณูปการแก่นักเรียนอย่างมหาศาล"

ดังนั้นครูที่ทำงานจริงด้วยจิตและวิญญาณของความเป็นครูเมื่อนำแผนการสอนที่จัดทำไว้ไปใช้จริงอานิสงค์จะเกิดแก่เด็ก ๆ และตัวของครูอย่างน้อยอานิสงค์ที่เป็นครูที่แท้จริงไม่หวังผลตอบแทนทำงานด้วยความมุ่งมั่น คส.3 คือผลตอบแทนในความดีของครูผู้สอนให้ได้รับความภาคภูมิใจและรางวัลในเวลาต่อมามีครูไม่น้อยที่มาขอให้ช่วยทำ คส.3แต่หากเป็นรายที่มาขอช่วยในลักษณะการจ้าง จะไม่ช่วยและไม่ให้คำแนะนำใด ๆทั้งสิ้น เพราะไม่ใช่มือปืนรับจ้าง

อย่างไรก็ตามหากว่าต้องการได้รับคำแนะนำเพื่อก้าวไปถึงจุดหมายโดยมาขอคำแนะนำคำปรึกษา และการช่วยเหลือในบางเนื้อหาที่จะต้องปรับปรุงตรงนั้นยินดีช่วยเพราะอย่างน้อยได้ช่วยเรื่องเนื้อหาแผนการสอนซึ่งจะถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับเด็ก ๆ ได้

" 30 ปี ที่ครูน้อยทุ่มเททั้งเด็กและผู้ใหญ่ซึ่งจนถึงเวลานี้แม้จะเป็นครูนอกประจำการ หรือข้าราชการครูบำนาญไปแล้วแต่ครูน้อยก็ยังไม่วางมือจากการเป็น "ผู้ให้"มีเวลายังแวะเวียนไปโรงเรียน หรือทำงานร่วมกันสังคมด้านการศึกษาไม่ขาด

ครูคือภูมิปัญญาที่จะสืบทอดแก่เด็กๆต่อไปโดยจิตวิญญาณความเป็นครูจะไม่หายไป