posttoday

นักวิชาการติงห้ามเด็กต่ำ18ออกบ้าน หวั่นมิจฉาชีพ-ตร.นอกรีดทำมิดีมิร้ายเด็ก

14 มกราคม 2554

วิทยา ปะระมะ

วิทยา ปะระมะ

พลันที่ พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล ออกมาประกาศนโยบายห้ามเด็กอายุต่ำกว่า18 ปีออกนอกบ้านหลัง4ทุ่ม เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็เกิดขึ้นในหลายแง่มุม บ้างก็เห็นด้วย บ้างก็บอกว่าละเมิดสิทธิ์เด็ก ฯลฯ

เหตุผลของตำรวจชี้ว่าเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมปัญหาอาชญากรรมที่เกิดจากการกระทำของเด็กวัยรุ่นเนื่องจากในหลายพื้นที่มีเยาวชนออกมามั่วสุมกันเป็นจำนวนมากทั้งการตั้งกลุ่มซิ่งรถหรือมั่วสุมตามร้านเกมร้านอินเตอร์เน็ต ขณะที่ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผบช.น. ระบุว่ามาตรการนี้มีเพื่อพิทักษ์ปกป้องเด็กและเยาวชนไม่ใช่การละเมิดสิทธิ

สำหรับมุมมองของนักวิชาการด้านเด็ก แม้จะเห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าวแต่ก็มีประเด็นท้วงติงที่น่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน

วิทิต มันตาภรณ์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่ามาตรการดังกล่าวเป็นของธรรมดาในการสร้างวินัยแก่เยาวชน แต่เห็นว่าควรให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการนำเสนอ รับรู้และเห็นชอบด้วยเพราะเด็กคือผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากกฎระเบียบนั้นๆ ไม่ใช่เกิดจากรัฐหรือผู้ใหญ่กำหนดฝ่ายเดียว

เช่นเดียวกับ สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่าเรื่องนี้มองได้ 2 แบบ ถ้ามองในแง่ดีก็ต้องบอกว่าปัญหาเด็กและเยาวชนเป็นสิ่งที่สังคมไทยละเลยมานาน ชีวิตกลางคืนสำหรับเด็กมีแต่เรื่องของการเที่ยวเตร่ ยาเสพติดและเพศสัมพันธ์ ดังนั้นเมื่อถึงเวลาที่ตำรวจเอาจริงก็ต้องให้เวลาทำงานสักระยะแล้วค่อยประเมินกันว่าแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่

“ถ้าตำรวจมีการประชาสัมพันธ์ให้คนในสังคมเข้าใจเป็นอย่างดี สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นคุณมหาศาลเพราะช่วยลดความเสี่ยงที่เด็กจะเสียอนาคตได้เยอะ แต่ประเด็นที่ผมเป็นห่วงคือก่อนจะมีมาตรการอะไรช่วยทำประชาพิจารณ์ก่อนได้ไหม ควรเชิญผู้ปกครอง สถานศึกษามาหารือกันจะได้ช่วยกันทำงานไม่ใช่ตำรวจเป็นผู้กำหนดฝ่ายเดียวเพราะมันอาจดูว่าเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตได้”สมพงษ์กล่าว

อีกประเด็นที่สมพงษ์เป็นห่วงคือมาตรการนี้จะเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนฉวยโอกาสใช้ประโยชน์ในทางที่ผิดกับเด็กที่ถูกจับ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องรับเงิน ยัดยาหรือแม้แต่การพาไปทำมิดีมิร้าย

“ต้องยอมรับว่าสังคมคลางแคลงใจกับตำรวจบางส่วนที่มีพฤติกรรมหาผลประโยชน์ ถามว่าถ้าเด็กไปเจอตำรวจไม่ดีเหล่านี้มีช่องทางอะไรให้เด็กร้องเรียนหรือไม่ และถ้ามีแล้วจะมีการลงโทษอย่างไร”สมพงษ์กล่าว

สมพงษ์สรุปว่ามาตการดังกล่าวมีทั้งด้านดีและด้านลบ ฉะนั้นไม่ควรดำเนินการอย่างผลีผลามแต่ควรทำประชาพิจารณ์เปิดโอกาสให้ฝ่ายอื่นๆแสดงความคิดเห็นเพื่อให้เกิดความรอบคอบมากที่สุด

ด้านครูหยุย วัลลภ ตังคณานุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก แสดงความคิดเห็นผ่านเว็บบล็อก http://gotoknow.org/blog/kru-yui ระบุว่าหลักการทำงานดีและไม่น่าจะเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก แต่ที่ยังห่วงมากๆ อยู่เรื่องเดียวคืออาจมีกลุ่มคนแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือตำรวจเลวบางคนฉวยโอกาสนี้พาเด็กไปทำมิดีมิร้าย ซึ่งเชื่อว่าเรื่องแบบนี้จะมีขึ้นและเป็นข่าวใหญ่ในเวลาอีกไม่กี่วัน ฉะนั้นต้องระวังเป็นพิเศษ

“ที่สำคัญคือสถานที่ทำผิดกฎหมาย เช่น สถานบริการที่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าไปต้องปิด ร้านเกมส์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าไปเล่นหลังสามทุ่มต้องจัดการ ขับรถซิ่งนั้นผิดกฎหมายอยู่แล้ว คือต้องทำควบคู่กับสถานที่ทำผิดกฎหมายไปพร้อมกันด้วยไม่ใช่มาลงแต่ที่เด็กโดยปล่อยปละละเลยบรรดาสถานที่แย่ๆ เหล่านั้นโดยไม่จัดการเหมือนที่ผ่านมา”ครูหยุยกล่าว

อย่างไรก็ตาม สำหรับครูจิ๋ว ทองพูล บัวศรี ครูข้างถนนผู้ทำงานกับเด็กเร่รอนมานานหลายสิบปีกลับเป็นกังวลกับมาตรการนี้ไม่น้อย เนื่องจากเกรงว่ากลุ่มเด็กเร่ร่อนจะได้รับผลกระทบในการดำเนินชีวิตตามไปด้วย

“ต้องเข้าใจว่าวิถีชีวิตของเด็กเร่ร่อนเขากินนอนอยู่ตามถนน และเขาต้องหาเลี้ยงชีวิตด้วยการเก็บขยะไปขาย ซึ่งเวลาทำงานของเด็กพวกนี้คือช่วงที่ร้านค้าร้านอาหารปิดกันไปแล้ว รวมทั้งเด็กบางกลุ่มที่ต้องช่วยพ่อแม่ขายพวงมาลัยตามสี่แยกต่างๆก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย”ครูจิ๋วกล่าว

ครูจิ๋วย้ำว่าหากเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กฎหมายเข้มงวดจะมีเด็กเร่ร่อนจำนวนไม่น้อยที่โดนจับ

“อยากให้ตำรวจดูความจำเป็นเฉพาะรายและยกเว้นกับเด็กเร่ร่อนได้ไหม เพราะสำหรับเด็กเหล่านี้แล้วมันหมายถึงการหาเลี้ยงชีวิตให้อยู่รอด บางครั้งหมายถึงการหาเลี้ยงครอบครัวอีกหลายชีวิตด้วย”ครูจิ๋วกล่าว