posttoday

Soft Power ภาคประชาชนทุกคนก็ทำได้การส่งสารที่ติดตรึงใจสไตล์ไทยๆ ที่ถูกใจชาวโลก

23 มิถุนายน 2565

โดย....ดร.พรชณิตว์ แก้วเนตร และ ลักษณ์สุดา รักษากิจ

ในขณะที่สังคมกำลังพุ่งเป้าและจับตาการดำเนินนโยบาย Soft Power ของภาครัฐ รอคอยที่จะเห็นความก้าวหน้าในระดับมหภาค แต่ในการเสวนากลุ่ม “คนไทยกับโอกาสจาก Soft Power” ที่จัดโดยมหาวิทยาลัยสวนดุสิต คำว่า “การทูตภาคประชาชน” และ “Soft Power ภาคประชาชน” กลายเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ได้รับความสนใจ และถูกหยิบยกขึ้นมาขยายภาพให้เห็นถึงพลังเล็กๆ ที่สร้างปรากฎการณ์ได้ ไม่ต้องสวย-หล่อ ขอเพียงจริงใจ มั่นใจ มีจุดเชื่อม ก็สร้าง Soft Power ได้

“การส่งเสริม Soft Power มีหลายวิธี ซึ่งการทูตภาคประชาชน (Public Diplomacy) คือหนึ่งในนั้น ประชาชนมีส่วนสำคัญในการสร้าง Soft Power ด้วยการแบ่งปันเรื่องราวความเป็นตัวตนของแต่ละบุคคล” คุณเมืองภูมิ หาญสิริเพชร พิธีกรชาวไทยที่โด่งดังในจีนในชื่อ “หันปิง” (韩冰) จากรายการ 世界青年说 (A Bright World) เปิดประเด็น Soft Power ในระดับจุลภาค และกล่าวว่า Soft Power ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ทุกคนสามารถทำได้ด้วยการสื่อสารข้ามวัฒนธรรมที่สร้างความติดตรึงใจ

Soft Power ภาคประชาชนทุกคนก็ทำได้การส่งสารที่ติดตรึงใจสไตล์ไทยๆ ที่ถูกใจชาวโลก

สำหรับผู้ที่ศึกษาเรื่อง Soft Power อาจคุ้นเคยกับคำว่า การทูตสาธารณะ (Public Diplomacy) ซึ่งศาสตราจารย์ โจเซฟ ไนย์ แห่งมหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด ผู้ริเริ่มใช้คำว่า Soft Power กล่าวว่า เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ทำให้ Soft Power

บรรลุผลในทางปฏิบัติ โดยการทูตสาธารณะ (Public diplomacy) จะหมายถึงปฏิสัมพันธ์ที่มิได้พุ่งเป้าไปที่รัฐบาลของต่างประเทศ หากแต่พุ่งเป้าหมายหลักไปยังปัจเจกบุคคลและองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ ซึ่งนอกจากจะเป็นไปเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศของตนเองแล้ว ยังมุ่งหวังที่จะสร้างบรรยากาศอันดีในระยะยาวเพื่อรองรับนโยบายต่างประเทศที่จะตามมาในอนาคตอีกด้วย แต่สำหรับสิ่งที่คุณเมืองภูมิกำลังนำเสนอนั้นเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวประชาชนทั่วไปมากกว่าคำว่า Public Diplomacy หากแต่เป็น Soft Power ในลักษณะ People’s Diplomacy หรือ People-to-People Diplomacy กล่าวคือ ที่นักการทูตขอประเทศหนึ่งสื่อสารโดยตรงกับ ประชาชนของอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งการทูตประเภทนี้สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างประเทศ เกิดการสนับสนุนทางการค้า หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ พาไปสู่ความมั่งคั่ง

ยูจีนี แอนเดอร์สัน เอกอัครราชทูตหญิงคนแรกของอเมริกา คือผู้บุกเบิกการทูตระหว่างบุคคล ซึ่งเธอเรียกว่า "การทูตของประชาชน" (People’s Diplomacy) ในฐานะเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำเดนมาร์กระหว่างปี 2492 ถึง 2496 แอนเดอร์สัน พยายามเข้าถึงประชาชนและมีส่วนร่วมกับกิจกรรมสาธารณะต่าง ๆ ของเดนมาร์ก จนทำให้ความสัมพันธ์โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศเป็นไปอย่างแน่นแฟ้น

คุณเมืองภูมิ กล่าวว่า การทูตภาคประชาชน เพื่อสร้าง Soft Power เริ่มได้ที่ตัวเรา เพียงแค่เรารู้ว่าต้องการส่งสาร หรือสื่อสารอะไรให้ผู้รับสารและสื่อสารอย่างไรให้ผู้รับสารสนใจ เข้าใจ และคล้อยตาม แต่จำเป็นต้องหาจุดเชื่อมโยงหรือจุดร่วมระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร และรู้ถึงพฤติกรรมและความชอบของผู้รับสาร โดยตนเองในฐานะพิธีกร ก็ใช้ Soft Power ด้วยการสื่อสารที่ทำให้คนติดตรึงใจหรือคล้อยตาม เช่น การแต่งชุดไทยไปตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ และถ่ายวิดีโอเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย ทำให้คนจีนจำนวนมากเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยและแต่งชุดไทยไปถ่ายรูปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ หรือการ Live ขายข้าวสารของกระทรวงเกษตร ที่ทำให้มียอดการสั่งซื้อถึง 5 ตันภายในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง

ขณะที่ คุณสรวง สิทธิสมาน นายกสมาคมนักเรียนไทย-จีน เจ้าของคอลัมน์ “มาหามังกร” ใน a day BULLETIN เลือกใช้คำว่า Soft Power ภาคประชาชน เพื่อสื่อถึงการที่ประชาชนในทุกสาขาอาชีพสามารถสร้าง Soft Power ได้ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ จุดเด่นในแบบฉบับของตนเอง ต้นทุนทางวัฒนธรรม ค่านิยม และเอกลักษณ์เฉพาะตัวของคนไทย รวมถึงการที่ชาวไทยด้วยกันเองที่ต้องช่วยเป็นสายพานส่งต่อ Soft Power ซึ่งสามารถทำได้ง่ายในยุคดิจิทัล ที่ประชากรโลกส่งสารและสื่อสารถึงกันได้ด้วยโซเชียลมีเดีย

ในขณะที่ Soft Power ระดับประเทศของไทยกำลังถูกขับเคลื่อนอย่างจริงจัง ชาวไทยทุกคนก็สามารถร่วมกันสร้างพลังแห่ง Soft Power ภาคประชาชนได้ ทั้งจากการมองหาจุดเด่น หรือสิ่งดี ๆ ของไทย เพื่อสื่อสารออกไปให้ติดตรึงใจชาวโลก หรือการเป็นส่วนหนึ่งในการกระพือ Soft Power ของไทยให้ขยายวงกว้างด้วยความภาคภูมิใจ เพราะหากชาวไทยด้วยกันไม่เห็นคุณค่าของ Thai Soft Power แล้ว ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ปฏิบัติการครั้งนี้ประสบความสำเร็จได้