posttoday

จรัญ ภักดีธนากุล ชูอุดมการณ์สร้างชาติ

08 มกราคม 2554

ในวันที่สังคมกำลังก้าวสู่ทางแยกระหว่างการเดินหน้าฟื้นฟูประเทศกับความรุนแรงที่อาจหวนกลับมาใหม่ "จรัญ ภักดีธนากุล" วิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงที่ผ่านมาไว้อย่างน่าสนใจ

ในวันที่สังคมกำลังก้าวสู่ทางแยกระหว่างการเดินหน้าฟื้นฟูประเทศกับความรุนแรงที่อาจหวนกลับมาใหม่ "จรัญ ภักดีธนากุล" วิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงที่ผ่านมาไว้อย่างน่าสนใจ

โดย...ทีมข่าวการเมือง

ห่วงโซ่แห่งความยับยั้งชั่งใจ คลี่คลายวิกฤต

ในวันที่เสียงระเบิด เสียงปืนเริ่มเงียบลง ควันไฟที่เคยคละคลุ้งปกคลุมประเทศเริ่มสลายตัว สังคมกำลังก้าวสู่ทางแยกที่ด้านหนึ่งนำไปสู่การปฏิรูปฟื้นฟูประเทศ และอีกด้านที่สุ่มเสี่ยงว่าความรุนแรงหวนกลับมาอีกครั้ง โดยที่ยังไม่รู้ว่าสังคมจะเคลื่อน 

จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กับประสบการณ์ในฐานะอดีตเลขาธิการประธานศาลฎีกาอดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม และอดีตรองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เจ้าของรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่นประจำปี 2550-2551 วิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงที่ผ่านมาไว้อย่างน่าสนใจ

จรัญ ภักดีธนากุล ชูอุดมการณ์สร้างชาติ

ปัญหาที่เกิดขึ้นจุดแรก เกิดจากที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองยึดมั่นในผลประโยชน์ของกลุ่มตัวเองมากเกินกว่าประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ทำให้ความสามัคคีในชาติสูญเสียไป ประกอบกับมีการเปิดช่องทางให้คนที่นิยมความรุนแรงใช้อาวุธสังหารเข้ามาเอาชนะคะคาน เลยทำให้สถานการณ์ขัดแย้งรุนแรง

อีกประการที่สำคัญ แต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายต่างใช้วิธีปลุกระดมมวลชน เสมือนเสกฟางขึ้นมาทำสงครามตัวแทน และในการปลุกระดม ใช้วิธีการยัดเยียดความเกลียดชัง คลั่งแค้น และชุดข้อมูลที่เพิ่มเติมความรุนแรง เข้าใส่กัน ทำให้เราตกอยู่ในสภาพเหมือนกับจะเป็นสงครามกลางเมือง

"โชคดีที่มันคลี่คลายลงไปได้ และผมเห็นว่าการคลี่คลายนี้ จำเป็นจะต้องดำเนินการต่อไป ถ้าหยุดเมื่อไหร่ก็อาจจะวกกลับ เพราะเชื้อของคนที่นิยมความรุนแรง เชื้อของความคลั่งแค้นอาฆาตเกลียดชังฝังหัว ยังจะมีอยู่ในผู้คนจำนวนมาก

...ถ้าเราไม่ดำเนินกระบวนการคลี่คลายเงื่อนไขสาเหตุของปัญหาอย่างต่อเนื่อง เชื้อพวกนี้ก็จะกลับมาแข็งแรงและดื้อยามากกว่าเดิม เพราะฉะนั้นจำเป็นจะต้องช่วยกันทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ และการดำรงอยู่ได้ของประเทศชาติ"

"จรัญ" มองว่า กระบวนการคลี่คลายแม้จะมีอยู่ แต่ยังไม่เพียงพอ เราเห็นสัญญาณดีๆ จากเกือบทุกฝ่าย การเคลื่อนไหวของผู้นำมวลชนในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ที่เป็นไปในทิศทางของสันติจริงๆ เป็นไปในทิศทางของสติปัญญา และสร้างสรรค์จริงๆ

ปรากฏให้เห็นจากแทบทุกด้าน เพียงแต่ว่ามันอาจจะไม่ชัดเจน อาจจะยังมีความหวาดระแวงไม่เต็มกำลัง ถ้าเราจะเพิ่มยกระดับแนวทางที่ดีๆ ให้มีความเข้มมากขึ้นขยายวงให้มากขึ้นและต่อเนื่องสม่ำเสมอมากขึ้น อย่าเปิดโอกาสให้คนที่นิยมความรุนแรงกลับเข้ามาเป็นผู้นำกลุ่มชน ไม่ว่าฟากฝ่ายใด

จากนั้นค่อยๆ สร้าง "อุดมการณ์ชาติ"ไม่ใช่"ชาตินิยม"คือ จัดลำดับความสำคัญของผลประโยชน์ของผู้คนในชาติให้ลดหลั่นกันตามลำดับประโยชน์พรรคพวก ต้องเป็นที่สองรองจากประโยชน์ของประเทศชาติ นี่จะช่วยลดความรุนแรง การเอาชนะคะคานกันอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ที่เคยเป็นมาให้เบาลง

อุดมการณ์ชาติอย่างนี้จะเป็นเครื่องชี้วัดตัดสินง่ายๆ ที่ประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นเสียงข้างมาก หรือไซเลนส์ เมเจอริตี เสียงข้างมากที่นิ่งเงียบจะพอตัดสินใจได้ว่า ทิศทางไหนที่จะเป็นทิศทางที่ถูกต้องสำหรับประเทศชาติ

"จรัญ" อธิบายว่า สื่อมวลชน สื่อสาธารณะทั้งระบบ จะช่วยขยายประเด็นนี้ได้มากที่สุดเพราะว่าสื่อมวลชนมีพลังอำนาจที่จะหยิบยื่นความถูกต้องเป็นธรรม สติปัญญา และจุดที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติส่วนรวมให้เข้าสู่ประชาชนกว้างขวาง จริงจังมากกว่ารัฐบาลเสียอีก

ปัญหาอยู่ที่ในอดีตสื่อสาธารณะของเรากลับถูกแบ่งแยกออกเป็นฝักฝ่ายจำนวนหนึ่ง เลยทำให้ไม่มีพลังเหนี่ยวรั้งความขัดแย้งให้อยู่ในกรอบของความพอเหมาะพอควร ที่ไม่เป็นอันตรายต่อประเทศชาติ กลับกลายเป็นการเพิ่มความรุนแรงโกรธแค้นอาฆาต หวาดระแวงเกลียดชังให้มากขึ้นไป ตรงกันข้ามกับที่ควรเป็น

"กลุ่มทุน"เป็นกลุ่มที่อยู่ในภาคธุรกิจเอกชนความจริงไม่น่าจะเกี่ยวข้อง แต่ในกรอบของสังคมไทย เราต้องยอมรับว่ากลุ่มทุนมีอิทธิพลชี้นำให้กับผู้ที่กุมอำนาจรัฐ ทั้งฝ่ายการเมืองข้าราชการประจำไม่น้อยไปกว่ากลุ่มอื่น เพียงแต่ว่าไม่ได้ออกมาพูดเปิดเผยชัดเจนสู่สาธารณะ

ถ้ากลุ่มทุน มองเห็นโทษภัยของความแตกแยก ซึ่งท้ายที่สุดก็ไปกระทบต่อธุรกิจการค้ากลุ่มทุนของตัวเอง และหันกลับเข้ามาช่วยชี้นำเรียกร้อง หรือถึงกับกดดันผู้ที่อยู่ในอำนาจรัฐ ให้คู่วิวาทต่างๆ ที่แย่งผลประโยชน์กันให้เข้ามาอยู่ในครรลองการต่อสู้ที่เป็นอารยะตามมาตรฐานระบบเสรีประชาธิปไตย

"สถาบันการศึกษา" ครูอาจารย์ ผู้มีความรู้ผู้นำทางปัญญาในทุกระดับจะต้องลุกขึ้นยืนและมีเสียงดังขึ้นในเวทีและมีบทบาทมากขึ้น ในการให้แนวทางที่ถูกต้องกับผู้คนในสังคม ที่ผ่านมาสถาบันการศึกษายังมีบทบาทในการแก้ปัญหานี้ให้กับสังคมน้อย

"ถ้าสถาบันการศึกษาครูบาอาจารย์ ได้ปลูกฝังกรอบความคิดเหล่านี้ ให้กับยุวชนรุ่นใหม่ของเรามากขึ้นให้ได้เห็นคำนึงถึงการเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ให้คุณค่ากับความรู้รักสามัคคี ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมากกว่าที่ผ่านมาให้เข้มข้นขึ้น เสริมสร้างเข้าไปในเนื้อหาการเรียนอย่างเป็นระบบต่อเนื่องจริงจัง เราจะค่อยๆ ลดค่านิยมของนักเรียน ที่ดูจะเห็นประโยชน์ของวัตถุทรัพย์สินเงินทองและประโยชน์พวกพ้องจนมองไม่เห็นประโยชน์ของประเทศชาติ"

"ฝ่ายการเมือง"แน่นอนว่าจะต้องเป็นตัวละครหลักในเรื่องนี้เป็นโต้โผใหญ่ เพราะต้นเหตุความขัดแย้ง บาดหมางในสังคมครั้งนี้เกิดขึ้นจากความแตกแยกแตกหักของฝ่ายการเมือง เลยทำให้ส่วนย่อยต่างๆ ของสังคม ลุกลามไปถึงสถาบันครอบครัว พลอยต้องแตกแยกไปด้วยอย่างน่าเศร้าใจ

"ข้าราชการประจำ"บุคลากรในระบบงานยุติธรรม ไม่ว่าจะในระดับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจ พนักงาน อัยการ ผู้พิพากษา ตุลาการราชทัณฑ์จะต้องยืนหยัดให้มั่นคงในการทำหน้าที่อย่างมั่นคงตรงไปตรงมา ไม่หวั่นไหว ต่อแรงกดดันไม่ว่าจะมาจากฟากฝั่งใด ด้วยวิธีใด

"ถ้าเราเพิ่มความเข้มแข็งของระบบงานยุติธรรมของประเทศให้มากขึ้นได้ อยู่ในหลักในเกณฑ์มากเท่าไหร่ ก็จะมีส่วนช่วยคลี่คลายและป้องกันปัญหา ปัญหาอยู่ตรงไหน แก้ตรงนั้น นั่นน่าจะเป็นทางที่ถูกต้อง เมื่อใดก็ตาม ที่การต่อสู้ออกไปอยู่ในสภา อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ก็ลดความกดดันลง ความยากลำบากในการทำงานก็จะลดน้อยลง

...ปัญหาที่แย่ คือในระบอบการปกครองเสรีประชาธิปไตย ไม่ใช่หมายความทุกคนจะมีเสรีที่จะต่อสู้กันในท้องถนน นอกระบบ โดยไม่ต้องคำนึงถึงความเสียหายความเดือดร้อนของคนที่เกี่ยวข้อง มันควรจะมีขอบเขตอะไรบ้าง ซึ่งมันจะต้องค่อยๆ คิด ค่อยๆ สร้างขึ้นมา"

"ผมยังเชื่อว่าเอากฎหมายเอาอำนาจมาล้อมกรอบไม่ได้ผลจริง ผลสำเร็จจะเกิดได้ดีกว่ามากกว่า ถ้าอาศัยการยับยั้งชั่งใจแต่ละฝ่าย ที่เรียกว่า เซลฟ์เรสเทรนต์ (Self Restraint) จะมีพลังลึกซึ้งกว่า เพราะเมื่อฝ่ายหนึ่ง ได้แสดงให้เห็นว่าเขายับยั้งตัวเอง ในการรุกที่เขาทำได้ แต่เขาไม่ทำ เพราะเห็นว่าจะทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ เขาก็ยอมยับยั้งสละประโยชน์ฝ่ายตัวเองในปฏิบัติการนั้นเสีย กระบวนการยับยั้งตัวเองของฝ่ายที่หนึ่ง จะทำให้เกิดปฏิกิริยาสนองกลับจากฝ่ายตรงข้าม มันจะเป็นสายโซ่ของการยับยั้งชั่งใจแต่ละฝ่าย และแข็งขึ้นเป็นวัฒนธรรมการเมือง"

ทั้งนี้ ถ้าเรารุกคืนด้วยความเกลียดชัง ก็จะเกิดห่วงโซ่แห่งความเกลียดชัง โกรธแค้นอาฆาต ตอบโต้ที่รุนแรงมากกว่า อย่างภาษิตสากล "ไวโอเลนซ์ บรีด มอร์ ไวโอเลนซ์" ดังนั้น"เซลฟ์เรสเทรนต์ บรีด มอร์ เซลฟ์เรสเทรนต์"ซึ่งเรื่องเซลฟ์เรสเทรนต์ต้องเริ่มต้นที่ตัวเอง อย่าไปเรียกร้องคนอื่น

"ผมได้แต่หวังว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่ถือตัวว่าเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองแล้ว ถ้าหันมาทำเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ มากกว่าส่วนย่อยกระบวนการคลี่คลายปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นจะต่อเนื่องและขยายตัว มั่นคงกว้างขวางขึ้น ผมยังเชื่อว่าคนไทยอารยะ จิตใจสูง สติปัญญาไม่เลวทรามที่จะพัฒนาวัฒนธรรมการเมืองและวิถีชีวิตในสังคมเสรีนิยม ทุนนิยม ที่มีสิ่งเย้ายวนกิเลสตัณหาต่างๆ ขึ้นมาได้"

จรัญ ภักดีธนากุล ชูอุดมการณ์สร้างชาติ

ส่วนประเทศจะเดินหน้าไปสู่ทิศทางไหนดีขึ้นแย่ลงเป็นไปได้ทั้งสองทาง อยู่ที่เงื่อนไขต่างๆ คนที่เป็นหัวขบวนของการต่อสู้ขัดแย้งกัน เพื่อแย่งชิงอำนาจรัฐผลประโยชน์ จะเลือกใช้วิธีใดในสองวิธีหากยังใช้วิธีรุนแรงแบบเดิมหรือใช้วิธีอารยะที่ไม่ใช่เรื่องอะไรลึกซึ้งเหมือนกับการเล่นกีฬาจะใช้วิธีนอกกฎเกณฑ์กติกา เอาชนะหรือจะยึดมั่นในกฎเกณฑ์กติกาของการแข่งขัน แม้จะแพ้ก็ตาม นักกีฬาที่ได้รับความชื่นชมอย่างสูงสุด ไม่ใช่นักกีฬาที่ประสบชัยชนะสูงสุด แต่เป็นนักกีฬาที่ยอมพ่ายแพ้ โดยยึดมั่นอยู่ในกฎเกณฑ์ของกติกานั้น ทั้งที่มีโอกาสจะชนะได้ด้วยการเหยียบย่ำกฎเกณฑ์กติกาบางข้อที่ไม่รู้และจับได้

"ถ้าผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง โดยเฉพาะในแวดวงการเมืองได้หาทางออกให้กับประเทศด้วยสติปัญญา ก็จะช่วยให้กลไกเล็กๆ อื่นๆ ที่เราพูดกันมาค่อยๆ ประสานกันได้ และอยากให้กระบวนการทางการเมืองเป็นไปตามวาระ4 ปีเปลี่ยนกันที จะได้มีความต่อเนื่องและเข้าสู่ระบบมาตรฐานของสากล นั่นแหละคือ เงื่อนไขใหญ่ของการเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติ"

อย่าทำลายสถาบันตุลาการ?

คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านพ้นการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในช่วงปลายปีที่ผ่านมา นำมาสู่แรงกดดันและกระบวนการดิสเครดิตที่ถาโถมเข้าใส่ศาลรัฐธรรมนูญ กระทบชิ่งถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

"จรัญ" ปฏิเสธที่จะลงรายละเอียดในเรื่องนี้แต่มองว่าแค่ดู "เงื่อนเวลา" ที่เกิด "คลิป" อย่างเดียวก็จะพอเห็นอะไรชัดเจน สมมติว่ามีความเลวร้ายเช่นนั้นเกิดขึ้นจริง ทำไมไม่เปิดเผยออกมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เพราะเหตุการณ์หลายเหตุการณ์เกิดตั้งแต่ 2552 แล้ว ทำไม?

อย่างไรก็ตาม การคาดหวังคุณภาพมาตรฐานของผู้พิพากษาตุลาการในทางที่สูงขึ้นไม่ผิด แต่ต้องอย่าเอาสิ่งนั้นมากดดันงานคดี ผลคดี นั่นคือสิ่งที่ผิด และสังคมไม่ควรยอมให้เกิดขึ้น ต้องช่วยกันส่งเสริมประคับประคองให้ระบบงานยุติธรรมตรงไปตรงมา อย่ากดดันด้านใดด้านหนึ่ง และถ้ามีความชั่วร้ายเลวทรามก็พิสูจน์ เล่นงานกัน โดยไม่ให้มีผลต่อคดี นั่นถึงจะถูกต้อง

จากหลายบทบาทในแวดวงยุติธรรม "จรัญ"มองว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นงานหนักขึ้นว่า คดีแพ่ง คดีอาญาทั่วไป เพราะคู่ความ คู่กรณีมีพลังอำนาจมากกว่า แต่เมื่ออาสาเข้ามา ก็ปฏิเสธไม่ได้ ไม่มีใครขอร้องให้เรามา ก็ต้องทำให้เต็มกำลัง ทำให้ดีที่สุด เท่าที่สติปัญญาความรู้ความสามารถจะทำได้

ที่สำคัญ คือ เนื้อหาความจริงอยู่บนการดำเนินการของศาลอย่างถูกต้องตรงไปตรงมา ไม่มีตุกติก นอกลู่นอกทาง นี่คือเรื่องใหญ่สุดทำให้สถาบันตุลาการยังมั่นคงอยู่ได้ และส่วนที่สองความหวาดระแวงและการกล่าวร้ายโดยไม่มีมูลความจริง ควรจะต้องได้รับการปราม ว่าอย่าทำเลย เพราะเป็นผลเสียต่อประเทศชาติ ไอ้ที่ทำไปแล้ว ก็แล้วไป แต่อย่าได้ทำอีกเลย มันไม่ได้ประโยชน์

"มันทำให้เกิดความเสื่อมศรัทธาในใจประชาชน และถ้าประชาชนหมดศรัทธาในสถาบันตุลาการของประเทศแล้ว นึกเสียว่าการวิวาทบาดหมางของประชาชนต่อไปข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ทุกคนต่างก็ตั้งกองกำลังของตัวเองเมื่อประชาชนเชื่ออย่างนั้นแล้วความมุ่งมั่นของผู้พิพากษาตุลาการที่จะมั่นคงอยู่ในหลักเกณฑ์ก็จะสั่นคลอนไปด้วย ถึงได้ยืนยันว่า ถ้าคนไหนไม่ดี ก็ดำเนินการเป็นรายบุคคล อย่าทำลายสถาบัน"

ที่ผ่านมาระบบงานยุติธรรมถูกสั่นคลอนและมีผลกระทบไปหมด จากที่ยักษ์ใหญ่ทะเลาะกันเจ้านายกำลังทะเลาะกันอยู่ เจ้าหน้าที่ในระบบงานยุติธรรมจะทำอะไร ไม่ทำอะไร จะเอนเอียงไปเข้าฝ่ายนั้น ฝ่ายนี้ ให้ประโยชน์ฝ่ายนั้น ให้โทษฝ่ายนี้ แล้วเลยทำหรือไม่ทำ ทำให้ระบบงานยุติธรรมของประเทศหมดกำลัง

"เมื่อหมดกำลัง ไม่สามารถที่จะยืนหยัดหลักการใหญ่ให้กับประเทศชาติประชาชนได้ มันก็ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ระบบงานยุติธรรมดำรงอยู่ไม่ได้ เมื่อระบบงานยุติธรรมดำรงอยู่ไม่ได้ ความมั่นคง สงบสุขในประเทศชาติ ก็จะดำรงอยู่ไม่ได้ตามไปด้วย เพราะฉะนั้นจุดสำคัญ คือเราจะต้องชี้ชวนให้ช่วยกันคิดว่า อย่างไรเสียประเทศนี้ก็จำเป็นจะต้องมีระบบกฎหมายและระบบงานยุติธรรม

...ถ้าบุคลากรคนใดประพฤติปฏิบัติตัวไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ ชั่วร้ายเลวทราม ก็ลงโทษดำเนินการกับบุคลากรที่นอกลู่นอกทางเป็นรายกรณี แต่อย่าไปทำลายระบบงานยุติธรรม โดยวิธีทำลายความน่าเชื่อถือศรัทธาในการรับรู้ของประชาชนไปเสียทั้งหมด อย่างนั้นมันเท่ากับทำลายประเทศชาติ"

หลายเสียงวิจารณ์ว่า ความยุ่งเหยิงในกระบวนการยุติธรรม เกิดจากการเข้ามามีบทบาททางการเมืองของตุลาการมากเกินไปประเด็นนี้ "ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" ชี้แจงว่าตุลาการไม่ได้มีบทบาทกับการเมืองมากขึ้น แต่การเมืองเข้ามาในวิถีชีวิตตุลาการมากขึ้น

"ตุลาการไม่เคยมีโอกาสได้ตัดสินคดีอาญานักการเมือง แต่เกิดภารกิจนี้ขึ้นเพราะรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งไม่ใช่เกิดจากการเรียกร้องหรือสร้างสรรค์จากตุลาการ ตรงกันข้าม เกิดจากการสร้างอนุมัติโดยการเมืองโดยแท้ รัฐสภาให้ความเห็นชอบ หลายๆ เรื่องที่ตุลาการต้องเข้าไปแบกรับความขัดแย้งทางการเมือง เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ใช่เกิดจากการเรียกร้องหรือจัดทำ หรือปรารถนาของตุลาการ"

จรัญ อธิบายต่อว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ให้ตุลาการเข้ามามีบทบาท ปัญหาอยู่ที่มีการต่อสู้เข้ามาแบบนอกระบบเข้ามาในแวดวงตุลาการด้วยวิธีการนอกระบบ ไม่ว่าจะเป็นด้วยอำนาจเงินอำนาจรัฐ อำนาจเถื่อน

ภูมิคุ้มกันผู้พิพากษาตุลาการที่ดีที่สุด คือความซื่อสัตย์สุจริตตรงไปตรงมาของผู้พิพากษาตุลาการเป็นเรื่องแรก หลังจากนั้นส่วนที่สองที่ขาดไม่ได้คือ สังคม โดยเฉพาะรัฐต้องปกป้องคุ้มครอง เพราะว่าผู้พิพากษาไม่มีกำลังอำนาจในตัวเอง ไม่มีเงิน แม้กระทั่งงบประมาณมากนัก ไม่มีกำลังคน ไม่มีอาวุธ ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ มีแต่ความซื่อสัตย์สุจริต ตามแต่สติปัญญาที่จะช่วยอำนวยความยุติธรรมให้กับสังคม เพื่อทำนุบำรุงค้ำจุน ความดำรงอยู่ได้ของประเทศชาติ และสันติสุขของประชาชน เพราะฉะนั้นต้องมีสองตัวขาดตัวใดตัวหนึ่งอยู่ไม่ได้