posttoday

เปิด 5 ปมเกมล้มกสทช.ชุดใหม่ผลประโยชน์ชาติหรือผลประโยชน์ใคร

29 พฤศจิกายน 2564

.

โดย...ทีมข่าวการเมือง

เป็นอีกวาระใหญ่ของประเทศที่ต้องติดตาม สำหรับการแต่งตั้ง 7 กรรมการ หรือบอร์ด กสทช. ซึ่งเวลานี้เดินมาถึงขั้นตอนของวุฒิสภา โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ที่ได้รับเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ กสทช. ซึ่งล่าสุดขีดเส้นไว้ว่า 14 ธ.ค. นี้  7 รายชื่อว่าที่ กสทช.จะสามารถฝ่าพงหนามเข้าไปคุมขุมทรัพย์ดูแลผลประโยชน์ประเทศให้ตกแก่แผ่นดินหรือจะโดนอาถรรพ์ มนต์ดำ ยัดลงหม้อมัดตราสังข์สั่งสะกดถ่วงทิ้งน้ำ เหมือน 2 ชุดก่อนหน้านี้  

แม้รายชื่อว่าที่ 7 กสทช.อันประกอบด้วย 1.พลอากาศโทธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ด้านกิจการกระจายเสียง 2.ดร.พิรงรอง รามสูต ด้านกิจการโทรทัศน์ 3.นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ ด้านกิจการโทรคมนาคม 4.ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค 5.นายต่อพงศ์ เสลานนท์ ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน 6.ร้อยโท ดร.ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ ด้านกฎหมาย และ 7.รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย ด้านเศรษฐศาสตร์ จะเดินมาถึงขั้นตอนใกล้บทจบ แต่กระแสข่าวการเดินเกมล้มก็ยังปรากฏให้เห็นไม่ต่างอะไรจากชะตากรรมของบรรดารายชื่อบอร์ดที่เคยได้รับการเสนอ 2 ชุดก่อนหน้าที่ถูกล้มกระดานไป  อาจเรียกได้ว่าเป็นเกมสกัดที่อาศัยพล็อตเดิมๆ มาใช้ แต่คราวนี้จะสมใจนึกกันอีกหรือไม่  โดยเฉพาะบรรยากาศประเทศยามนี้การหวังใช้อำนาจเหนือความถูกต้องชอบธรรมมีอยู่สูง แล้วผลงานที่ผ่านมาก็เป็นที่ปรากฏว่า สามารถเดินเกมล้มมาได้แล้ว 2 ครั้ง 2 ครา ดังนั้นหากจะเพิ่มสถิติอีกสักครั้งให้เป็นมหากาพย์ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ 

เมื่อพิจารณาจากเงื่อนเวลาที่เหลืออยู่ ต้องเรียกว่าเข้าโค้งสุดท้ายแล้ว คนที่หวังล้มกระดานจึงเดินเกมกันเต็มสูบ เราๆท่านๆ ในฐานะเจ้าของประเทศ ไม่ควรปล่อยให้เกมแห่งอำนาจผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มมาอยู่เหนือส่วนรวม ต้องช่วยกันติดตามและแสดงให้เห็นว่ามหากาพย์นี้อยู่ในสายตาประชาชน

จับตา 5 เงื่อนไขชี้ชะตา 7 กสทช.

เพื่อเป็นการขมวดประเด็นให้ง่ายต่อการติดตามจับตาเรื่องนี้ ขอให้พิจารณาจากเงื่อนไขและผู้มีส่วนได้เสียหลักๆ ดังนี้

1.บอร์ด กสทช.ชุดปัจจุบัน ซึ่งนั่งตีตั๋วยาวมาจนย่างเข้าปีที่ 11  และบางคนนั่งยาวมาถึง 15 ปี อยู่กันเกินเกณฑ์เกินหลักการ โดยมีความชอบธรรมเดียวที่อ้างอิงได้คือ คำสั่ง คสช. ที่ให้ปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน ระยะเวลาที่นั่งกุมอำนาจในอาณาจักรสายลมมาขนาดนี้ จึงไม่ต้องถามเลยว่า  พวกเขาจะสั่งสมอำนาจ บารมี และเครือข่ายเอาไว้ได้ขนาดไหน  ซึ่งหากมีบอร์ดคนใดคนหนึ่งเกิดเสพติดอำนาจ ยิ่งอยู่นานยิ่งอยากอยู่ต่อแล้วขยับเขยื้อนอะไรในเชิงลึก พวกเขาย่อมเป็นตัวแปรสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม

2.ให้จับตา “บริษัทเอกชน”  บริษัทหนึ่งซึ่งเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. และยังคงมีประเด็นคาราคาซัง กรณีหน่วยงานรัฐดังกล่าวได้รับผลกระทบจากนโยบายเรียกคืนคลื่น และ กสทช.ต้องจ่ายเงินเยียวยาให้ แต่ปัญหาคือ บริษัทเอกชนที่เป็นคู่สัญญากลับเรียกร้องขอแบ่งเงินเยียวยาด้วย โดยอ้างว่าตัวเองก็เกิดความเสียหาย ซึ่งตัวเลขก็เป็นเงินพันกว่าล้านบาท ที่กล่าวว่าปัญหานี้ยังคาราคาซัง เพราะ บอร์ด กสทช.เองก็มีท่าทีกลับไปกลับมา โดยตอนแรกไม่เห็นด้วยที่จะต้องแบ่งเงินเยียวยาให้บริษัทเอกชน แต่ต่อมากลับพลิกมติเป็นเห็นชอบ ทำให้หน่วยงานรัฐต้นเรื่องต้องยื่นอุทธรณ์ และมีความเป็นไปได้สูงที่เรื่องนี้จะถูกรื้อมติอีกครั้ง

ความจริงประเด็นนี้สื่อหลายฉบับรายงานว่า เคยเป็นเงื่อนไขล้มบอร์ด กสทช.ชุดก่อนหน้ามาแล้ว และมาวันนี้ก็ยังถือเป็นตัวแปรที่ต้องจับตาดูความเคลื่อนไหว เพราะมองให้แง่คนทำธุรกิจก็เชื่อว่า คงไม่นั่งสวดมนต์รอ แต่ต้องดิ้นรนกันสุดฤทธิ์เพื่อหาแนวทางสร้างความมั่นใจว่า ผลประโยชน์บริษัทจะไม่เสียหาย

3.ปัญหาใบอนุญาตวิทยุชุมชนกว่า 5,000 สถานี ซึ่งวันนี้ก็ยังไร้ทิศไร้ทาง ทำได้แค่ถือใบอนุญาตชั่วคราวมากว่า 10 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาพอๆ กับอายุของบอร์ดชุดปัจจุบัน น่าสนใจคือทำไมบอร์ดยังไม่มีทางออกให้แต่ปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นระเบิดเวลา ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2564 ตัวแทนองค์กรภาคีเครือข่ายผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงภาคประชาชนแห่งประเทศไทย ก็เริ่มออกมาเคลื่อนไหวโดยไปยื่นหนังสือร้องเรียนกับนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย

4.ภารกิจเร่งด่วน ที่รอไฟเขียวจาก 7 กสทช.ชุดใหม่ คือ การจัดประมูลใบอนุญาตการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม เพราะอายุของดาวเทียมไทยคม 4 กำลังจะหมดในอีก 2-3 ปีข้างหน้า และ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU ( International Telecommunication Union )  อาจจะยกเลิกสิทธิการใช้วงโคจร หากว่าเราไม่มีความคืบหน้า นอกจากนี้ยังมีโครงการประมูลคลื่น 3500 MHz ซึ่งเทคโนโลยีนี้นอกจากจะสร้างเม็ดเงินเข้ารัฐแล้ว ยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศยุคดิจิตอล ซึ่งจะว่าไปประเทศเพื่อนบ้านรอบข้างเราแซงหน้าไปหลายขุมแล้ว และล่าสุดคือ ปัญหาดีลการควบรวมกิจการของ  TRUE และ DTAC ซึ่ง กสทช.ได้ออกแถลงการณ์ว่า จะติดตามตรวจสอบว่า ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและผู้ใช้บริการ หรือไม่

ทั้งหลายทั้งปวงของภารกิจที่ยกมาข้างต้น เมื่อถอดรหัสก็จะพบว่า กลุ่มทุนโทรคมนาคมเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องกระโจนเข้าสู่ เกม Power Play ครั้งนี้ด้วย

5.รอยปริร้าวระหว่าง “2 ป.พี่น้องบูรพาพยัคฆ์” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชา – พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ แม้จะปรากฏภาพเคลียร์ใจกันหลายหน แต่ทุกวันนี้ในหน้าสื่อการเมือง และข่าววงในก็มีแต่ประเด็นที่ยังสะท้อนให้เห็นความขัดแย้งอันเนื่องมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการเขี่ย ร.อ.ธรรมนัส  พรหมเผ่า ให้พ้นไปจากเส้นทางอำนาจ เพราะแค้นฝั่งหุ่นว่า ร.อ.ธรรมนัส  คือ คีย์แมนหลักในการเดินเกมโค่นพล.อ.ประยุทธ์ เมื่อครั้งอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา

สถานการณ์ปริร้าวนี้ เป็นเงื่อนไขเอื้ออย่างยิ่งสำหรับการเดินเกมล้มกระดาน หากมีการชงข้อมูลว่า ว่าที่  7 กสทช. เป็นคนที่อยู่ในเครือข่ายกลุ่มอำนาจที่ต้องการล้ม พล.อ.ประยุทธ์ แล้วพล.อ.ประยุทธ์ เกิดเชื่อขึ้นมา การตั้งบอร์ด กสทช.ครั้งนี้ก็คงติดบ่วงอาถรรพ์อีกหน

เผย 2 กลุ่มออกตัวแรงเดินเกมล้ม

ตามข่าววงในระบุว่า เกมล้มที่มีการเดินงานอย่างออกหน้าออกตาตอนนี้มีอยู่ 2 กลุ่มคือ กลุ่มทุนเอกชน กับอีกกลุ่มอดีตนายทหารนอกราชการ ซึ่งมีแบ็คระดับ“บิ๊ก” กันทั้งคู่ ความเคลื่อนไหวของ 2 กลุ่มนี้ที่ออกตัวแรงจึงถูกพูดถึงในหน้าสื่อหลายต่อหลายสำนัก แต่อย่างที่กล่าวมาข้างต้นว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ได้มีแค่ 2 กลุ่มนี้ บางกลุ่มอาจเดินแบบเซียนเหยียบหิมะไร้ร่องรอย และด้วยข้อจำกัดของสื่อจะนำข้อมูลมานำเสนอก็น่าจะเสี่ยงกับคดีความอยู่ไม่น้อย

สรุป

ภายใต้ 5 เงื่อนไขข้างต้น หากจะเดินจะขยับกันยังไงล้วนมีผลต่อชะตากรรม ว่าที่  7 กสทช. ทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นในรูปการณ์ที่ตามข่าวบางกระแสบอกว่า ที่ประชุม สว.อาจไฟเขียวให้ไม่ครบทุกรายชื่อ หรือ เลวร้ายที่สุดคือไม่ผ่านให้เลยสักรายชื่อนั้น คำถามคือ บ้านเมืองนี้ที่ว่า ศักดิ์สิทธิ์นั้น ต้องเสียโอกาสเพื่อสนองอำนาจและผลประโยชน์ของคนไม่กี่กลุ่มอีกนานแค่ไหน