posttoday

รวม 10 ข่าวปลอมโควิดที่มีคนหลงเชื่อมากที่สุด

08 ธันวาคม 2564

แม้ว่า 'ข่าวปลอม' จะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาอย่างยาวนาน แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มันกลับถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอย่างมาก และหลายคนเริ่มตระหนักถึงความน่ากลัวของข่าวปลอม ซึ่งสร้างความเข้าใจผิดจนนำไปสู่การกระทำที่ส่งผลร้ายในภายหลัง

โดยเฉพาะในช่วงที่ ไวรัสโควิด-19 เกิดการแพร่กระจายอย่างหนัก จนคร่าชีวิตคนทั่วโลกไปมากมาย ข่าวปลอม บนโลกออนไลน์เองก็เกิดการระบาดอย่างหนักเช่นกัน เราจะไปไล่เรียงกันว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา 10 ข่าวปลอมเกี่ยวกับโควิด-19 ซึ่งนำไปสู่การเข้าใจผิดในสังคมมากมายนั้น มีข่าวอะไรกันบ้าง 

1. เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช พบนักโทษติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1,300 คน

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 มีโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กระบุว่า เรือนจำกลางนครศรีธรรมราชนั้นมีผู้ติดเชื้อโควิดทั้งหมดถึง 1,300 ราย โดยกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ได้ออกมาชี้แจงว่า รายงานดังกล่าวเป็นรายงานข้อมูลของวันที่ 24 ตุลาคม 2564 เวลา 16:00 น. ซึ่งพบผู้ติดเชื้อจากการตรวจ PCR+ATK จริง แต่เป็นจำนวน 347 ราย ไม่ใช่ 1,300 ราย ไม่ตรงตามโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กแต่อย่างใด

2. สหรัฐอเมริกาจะปล่อยเชื้อโควิดในประเทศไทย ผู้ที่ได้รับเชื้อจะมีอาการรุนแรงภายใน 2 ชม. และอยู่ได้ไม่เกิน 2-3 วัน

ข้อมูลดังกล่าวถูกระบุว่า มีการแชร์ต่อกันในเฟซบุ๊กและในไลน์ จนสร้างความตื่นตระหนกให้ผู้ที่เข้าใจผิด ซึ่งทางกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้ทำการตรวจสอบและพบว่าข้อความดังกล่าวไม่มีมูลความจริง

3. ยาฟ้าทะลายโจร สามารถกินก่อนติดเชื้อโควิด-19 ได้ แถมช่วยบำรุงรักษาตับ

มีการแชร์ข้อมูลถึง ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรว่า สามารถรับประทานกันไว้ก่อนเพื่อป้องกันติดเชื้อโควิดได้โดยไม่ทำลายตับ แต่ช่วยบำรุงรักษาตับได้อีกด้วย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) กระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบและพบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้นเป็นเท็จ โดยไม่พบงานวิจัยที่เชื่อมโยงในประเด็นดังกล่าวเลย ในทางกลับกัน หากใช้ฟ้าทะลายโจรติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน กลับจะยิ่งส่งผลรบกวนกับการทำงานของตับ ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง ไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อ

4. ทานเนื้อวัว นมวัว ประจำเลือดมักเป็นกรด จะทำให้เชื้อไวรัสโควิด-19 เจริญเติบโต ได้เป็นอย่างดี 

ในเคสที่มีการแชร์ข้อมูลกันว่า ผู้ที่ทานเนื้อวัว นมวัวอยู่เป็นประจำ จะทำให้เลือดในร่างกายเป็นกรด และเมื่อติดไวรัสโควิด-19 จะยิ่งทำให้เชื้อเติบโตได้ดี ซึ่งทางสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบและพบว่า ข้อมูลดังกล่าวสร้างความเข้าใจผิด เนื่องจากค่าความเป็นกรดด่างของเลือด ไม่ได้เปลี่ยนแปลงได้ จากการรับประทานอาหารเพียงอย่างเดียว โดยระบบการทำงานร่างกายจะมีกลไกการควบคุมอวัยวะในร่างกายให้ทำงาน รวมทั้งการกินอาหารที่เป็นกรดหรือด่าง ไม่สามารถลดหรือทำลายไวรัสโควิดในร่างกายได้

5. บังคับหมอพยาบาลให้ฉีควัคซีนแอสตร้าฯ เพื่อนำวัคซีนไฟเซอร์ไปฉีดให้กลุ่ม VVIP

มีการแชร์ข้อมูลกันว่า หมอ พยาบาล ถูกบังคับให้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ขณะที่วัคซีนไฟเซอร์จะถูกนำไปให้โควต้าบุคคลระดับ VVIP โดยหากหมอ พยาบาล ไม่ยอมฉีดวัคซีน ก็จะไม่ได้รับเงิน ซึ่งทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ระบุว่าไม่มีการบังคับให้หมอพยาบาลฉีดแอสตร้าฯ ทั้งสิ้น โดยจะมีการปรับสูตรฉีดวัคซีนในกรณีบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ได้รับวัคซีน Sinovac 2 เข็ม ให้ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น 1 เข็ม โดยอาจเป็นวัคซีน AstraZeneca หรือวัคซีนชนิด mRNA

6. ประเทศไทยมีการรายงานการเสียชีวิต และการติดเชื้อโควิด-19 เป็นอันดับ 1

มีการพบโพสต์ข้อความดังกล่าวบนเฟซบุ๊กในช่วงเดือนกรกฏาคม 2564 ซึ่ง ทางด้านศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ออกมายืนยันว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ โดยในเวลานั้น จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมและผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ของประเทศไทยอยู่อันดับที่ 67

7. ผู้ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ผู้หญิงจะมีปัญหาเรื่องมดลูกและมีบุตรยาก ผู้ชายจะทำให้เชื้ออสุจิน้อยลงและเป็นหมัน

ข้อมูลดังกล่าวที่มีการแชร์บนโลกออนไลน์นั้น ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและชี้แจงว่า ยังไม่มีหลักฐานว่าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จะส่งผลต่อความสามารถในการมีบุตร ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย

8. นายกฯ อนุมัติ ได้คนละ 10,000 บาท ทุกคนทุกอาชีพ ไม่ต้องลงทะเบียน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาโควิด-19

กรณีที่มีการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาโควิด-19 ในเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ระบุว่า นายกรัฐมนตรีมีการอนุมัติให้เงินเยียวยาประชาชนคนละ 10,000 บาท ทุกคนทุกอาชีพ ไม่ต้องลงทะเบียน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาโควิด-19 นั้น ทางกรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงประเด็นดังกล่าวว่า ตรวจสอบแล้ว ไม่พบมาตรการดังกล่าวแต่อย่างใด

ทั้งนี้ มาตรการเยียวยาประชาชน ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 มีดังนี้

1. โครงการเราชนะ 32.9 ล้านคน เพิ่มวงเงิน 2,000 บาท (2 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 1,000 บาท) ใช้จ่ายถึง 30 มิ.ย. 2564

2. โครงการ ม.33 เรารักกัน 9.29 ล้านคน เพิ่มวงเงิน 2,000 บาท (2 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 1,000 บาท) ใช้จ่ายถึง 30 มิ.ย. 2564

3. โครงการคนละครึ่งเฟส 3 จํานวน 31 ล้านคน รัฐสมสบวงเงินให้คนละ 3,000 บาท 2 งวด งวดแรก 1,500 บาท ก.ค.-ก.ย. / งวดสอง 1,500 บาท ต.ค.-ธ.ค. 2564

4. โครงการยิ่งใช้ ยิ่งได้ คาดเข้าร่วม 4 ล้านคน สนับสนุน E-Voucher สูงสุด 7,000 บาท รับ E-Voucher ช่วง ก.ค. – ก.ย. 2564 ใช้จ่ายช่วง ส.ค. – ธ.ค. 2564

5. เพิ่มเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.65 ล้านคน คนละ 200 บาท 6 เดือน ก.ค. – ธ.ค. 25646. เพิ่มกําลังซื้อให้ผู้ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ 2.5 ล้านคน โดยเพิ่มวงเงิน 200 บาท 6 เดือน ก.ค. – ธ.ค. 2564

9. ติดโควิด-19 รักษาด้วยตนเองได้ แค่รับประทานยาแอสไพริน

กรณีนี้ที่มีการแชร์ข้อมูลต่อ ๆ กัน ทางสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าตรวจสอบแล้วเป็นข้อมูลเท็จ เนื่องจากการรักษายังต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษาเท่านั้น ไม่ควรซื้อยากินเอง

โดยยาแอสไพริน มีฤทธิ์เป็นยาต้านการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด ใช้ในการป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำในโรคกลุ่มที่เป็นหลอดเลือดอุดตัน ไม่ว่าจะเป็นเส้นเลือดอุดตันในสมอง หลอดเลือดหัวใจ หรือแม้แต่หลอดเลือดส่วนปลาย คุณสมบัติการป้องกันการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือดนี้ จะช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือดและอุดตันภายในหลอดเลือดได้ แต่ก็มีผลข้างเคียง หรืออาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาดังกล่าว เช่น ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการมีเลือดออกในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ ทั้งในสภาวะปกติ หรือเวลาที่มีแผลที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุหรือแผลอันเนื่องมาจากการผ่าตัด การทำหัตถการต่าง ๆ ดังนั้น การรับประทานยาดังกล่าวโดยไม่มีข้อบ่งชี้ชัดเจน อาจจะทำให้เกิดเลือดออกผิดปกติ จนอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

10. น้ำยาบ้วนปาก ป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้

เป็นเคสที่มีผู้หลงเชื่อจำนวนมาก โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าไม่เป็นความจริง ซึ่งน้ำยาบ้วนปากนั้นมีคุณสมบัติฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของกลิ่นปาก และน้ำยาบ้วนปากนั้นจะมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในส่วนผสม ไม่เกินร้อยละ 20 ถือว่าน้อยกว่าเกณฑ์ที่ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ในการฆ่าเชื้อโควิด-19 นั้น จะต้องใช้เอทิลแอลกอฮอล์ หรือเอทานอล ที่มีความเข้มข้น 70% ขึ้นไปหรือโซเดียมไฮโปคลอไรท์ (NaOCl) ในการฆ่าเชื้อโควิด-19 ทำให้ การจะใช้น้ำยาบ้วนปากสำหรับ ฆ่าเชื้อโควิด-19 จะไม่ได้ผลในการป้องกันการติดเชื้อ

อ้างอิง : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย