posttoday

คลายล็อค-เปิดประเทศ ระวังระลอกใหม่ บทเรียนจากรูรั่วเดิม

23 ตุลาคม 2564

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

******************

อีกเพียง 1 สัปดาห์ ก็นับถอยหลังสู่การเปิดประเทศ หรือเปิดเมืองท่องเที่ยวให้นักนักท่องเที่ยวต่างเข้ามาโดยไม่ต้องกักตัว

การเปิดประเทศมีความจำเป็นที่ต้องฟื้นเศรษฐกิจ หลังจากมีการนำร่องแล้วที่ภูเก็ตและสมุย สำหรับ 1 พ.ย.จะเริ่มใน 17 พื้นที่ท่องเที่ยว เช่น กรุงเทพฯ , กระบี่ , พังงา ,เชียงใหม่ 4 อำเภอ , เลย (อ.เชียงคาน) อ.หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ , พัทยา จ.ชลบุรี , ระยอง (เกาะเสม็ด) , ตราด (เกาะช้าง) , เชียงใหม่ 4 อำเภอ

บนเงื่อนไขว่า พื้นที่เหล่านั้นต้องฉีดวัคซีน 70% ขึ้นไป และนักท่องเที่ยวต้องมาจากประเทศที่ความเสี่ยงต่ำ 46 ชาติ ต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบโดสแล้ว ต้องแสดงหลักฐานว่าตนปลอดเชื้อโควิด-19 เช่น ผลตรวจ RT-PCR เป็นลบ

หลายคนบอกว่า นี่เป็นเดิมพันสำคัญ และเสี่ยงจะเกิดการระบาดระลอกใหม่อีก คำถาม คือ มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดรัดกุมเพียงพอหรือไม่

อย่างในพื้นที่เปิด กรุงเทพ หรือเชียงใหม่ ชะอำ หัวหิน ไม่เหมือน เกาะสมุย ภูเก็ต จะควบคุมอย่างไร ไม่ให้นักท่องเที่ยวเดินทางออกนอกพื้นที่ หรือ ข้ามจังหวัด แม้จะพอเข้าใจได้ว่า ช่วงแรกของการเปิดเมืองจะมีนักท่องเที่ยวไม่มาก แต่ก็ต้องอุดรูรั่วทุกจุด ตรงนี้ยังไม่มีความชัดเจนจากพื้นที่ที่เตรียมเปิดเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพที่เป็นจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดว่า ข้ามเขตได้แค่ไหน หรือว่ามั่นใจแล้วว่า คุมได้ตั้งแต่ต้นทางที่สนามบิน

อีกประการ อัตราการฉีดวัคซีนครบโดสในภาพรวมของไทยยังไม่ถึงเป้า 70% เหมือนมาตรฐานที่หลายประเทศที่มีการเปิดเมืองจะอยู่ที่ 70% หรือเกือบ 70% เช่น สิงคโปร์ (85%) ฝรั่งเศส (67 %) เดนมาร์ก (75%) ชิลี (74% ) แต่ปัจจุบัน ณ วันที่ 23 ตค. ไทยฉีดวัคซีนครบโดสเพียง 30 %

อย่าลืมว่า ตอนนี้เราเห็นตัวอย่างในบางประเทศแม้ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ก็ไม่สามารถคุมเชื้อเดลต้าให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ เช่น สิงคโปร์ อัตราการฉีดอยู่ที่ 85% แต่มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มรายวันสูงเกิน 3,000 รายต่อเนื่อง อังกฤษก็เช่นกันยอดติดเชื้อสูงเกิน 5 หมื่นรายต่อวันแล้ว ที่น่ากังวลต่อสถานการณ์โควิดโลก ล่าสุดพบสายพันธุ์ใหม่ เดลต้าพลัส หรือ A.Y.4.2 ระบาดในอังกฤษ มีส่วนทำให้การแพร่เชื้อไม่หยุด

อย่างไรก็ตาม แม้ประเมินจากความเป็นจริง ช่วงแรกโอกาสที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้าไทยคงน้อย ขณะที่ มาตรการคุมเข้มทางสายการบินรัดกุกว่าผู้ที่เดินทางทางบก แต่ก็ต้องระวังสายพันธุ์ใหม่ที่อาจแพร่เข้ามา

ประการสำคัญ ต้องยอมรับว่า ปัจจัยเสี่ยงสุดที่น่ากลัวที่สุด คือ แรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาทุกวัน และ คนไทยที่ติดเชื้อกันเองในประเทศที่ยังเกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ อยู่

บทเรียนจากภูเก็ตแซนบ็อคซ์หรือสมุยพลัสที่นำร่องเปิดเมืองไปก่อน อาจเป็นแนวทางบอกเราได้ว่า แม้ทั้ง 2 พื้นที่จะมีการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ 70% แล้ว แต่ผู้ที่นำเชื้อมาแพร่ ไม่ใช่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางจากเครื่องบินมากอย่างที่เข้าใจ แต่เป็นการเดินทางไปมาหาสู่กันเองของคนนอกพื้นที่เข้ามาสมุยและภูเก็ต รวมถึงจากแรงงานต่างด้าว

ช่วงแรกของภูเก็ตแซนบ็อคซ์คุมเข้มได้ดี แต่พอเปิดเมืองนานวัน ช่องโหว่จากด่านเข้าภูเก็ตทางบก หรือ การลอบผ่านทางทะเลเป็นจุดอ่อน ข้อสรุปที่พบคือ กลุ่มเสี่ยงสูงเป็นชาวประมง แรงงานต่างด้าวในแคมป์คนงาน ก่อนที่ต่อมาจะแพร่กระจายไปยังเกือบทุกชุมชนทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในภูเก็ตวิกฤตสุดช่วงกลางเดือนก.ย. พุ่งถึง 200 คนต่อวัน เมื่อเทียบกับยอดชาวต่างชาติในโครงการภูเก็ตแซนบ๊อกซ์ช่วงสองเดือนครึ่ง (ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-11 ก.ย.) พบผู้ติดเชื้อเพียง 89 คน ขณะที่สมุยพลัส หลังเปิดได้ไม่กี่เดือน มีการแพร่เชื้อระบาดจากคนไทยด้วยกัน จากคลัสเตอร์สถานบริการของคนในพื้นที่

คำถามคือ การเปิดประเทศ 1 พ.ย. รัฐบาลได้แก้ปัญหาการลักลอบของแรงงานต่างด้าวได้เรียบร้อยและน่าพอใจหรือไม่ คำตอบคือ ยัง....แถมน่ากังวลด้วยซ้ำ

ปัจจุบัน ตัวเลขแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบผ่านขบวนการนายหน้า สูงขึ้นทุกวัน เป็นผลจากความต้องการแรงงานหลังจากกิจกรรมต่างๆ ในประเทศเริ่มคลายล็อค

ข้อมูล สถิติจาก ศบค.พบว่า ตลอดเดือน ก.ย. 2564 เพียงเดือนเดียว มีผู้ลักลอบเข้าประเทศผิดกฎหมาย ทั้งชายแดนเมียนมาร์ กัมพูชา มาเลเซีย รวม 5,984 คน ถือว่าเป็นเดือนที่มีตัวเลขสูงสุดในรอบปี ในจำนวนนี้จากฝั่งกัมพูชามากสุด รองลงมาคือ เมียนมาร์

พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ประเมินว่า ในช่วง 3-4 เดือนหลังคลายล็อคจากนี้ สถานประกอบการในประเทศมีความต้องการแรงงานถึง 4 แสนคน ภายใต้สภาพการณ์ที่ไม่สามารถเปิดรับแรงงานอย่างถูกกฎหมายได้ และยอมรับว่า ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง มีความยากลำบากในการสกัดกั้นแรงงานเถื่อน โดยเฉพาะที่มาจากเมียนมาร์ เพราะเป็นปัญหาภายใน ทั้งเรื่องชาติพันธุ์ และชนกลุ่มน้อย บางส่วนอาจจะมีผู้หนีภัยจากความไม่สงบ

ข่าวการจับกุมแรงงานเถื่อนที่ลักลอบ มีไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะหลังคลายล็อคปลายเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ผู้ถูกจับกุมต่างยอมรับว่า มีการจ่ายค่านายหน้าเฉลี่ย 5,000 ถึง 20,000 บาทต่อหัว

หากไล่เลียงช่วง 7 วันที่ผ่านมาที่เป็นข่าวล่าสุด

23 ต.ค. พิจิตร จับกุมแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ได้ผู้ต้องหาชาวเมียนมาร์ 39 คน

20 ต.ค. ตำรวจสกัดจับแรงงานชาวกัมพูชาทะลักชายแดน 60 คน

19 ต.ค. - แรงงานเมียนมาร์ ทะลักชายแดนจ.กาญจนบุรี วันเดียวจับได้ 33 คน ค่าหัวหลักหมื่น เป้าหมายมุ่งหน้า กทม.สมุทรสาคร วันเดียวกัน มีการรวบชาวกัมพูชาหลบหนีเข้าเกือบร้อยชีวิต เตรียมไปทำงานก่อสร้าง รับจ้างทั่วไป จ่ายค่าหัว 9,000 บาท

16 ต.ค. - จับกุมแรงงานเมียนมาร์ 10 คน ที่จ.กาญจนบุรี พร้อมนายหน้าฝั่งไทยได้ค่าหัวรายละ 1 หมื่นบาท เจ้าหน้าที่บอกว่า ช่วงนี้มีบุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองเป็นจำนวนมาก จนสถานีตำรวจในเขตอำเภอไทรโยค อำเภอทองผาภูมิ และอำเภอสังขละบุรี ไม่มีที่คุมขังแล้ว

14 ต.ค. - จับแรงงานเมียนมาร์ 22 คน ลักลอบเข้าเมืองได้ที่ จ.ตาก

ที่น่าสะพรึงกว่านั้น ช่วง 15 วันที่ผ่านมา ที่ชายแดน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีการจับกุมแรงงานเถื่อนมากกว่า 100 ราย พบว่า มีผู้ติดเชื้อโควิดมากกว่าร้อยละ 10 เป็นสายพันธุ์เดลตา

การจับกุมทุกวันไม่ได้หมายความว่า เจ้าหน้าที่มีประสิทธิภาพ แต่สะท้อนการทะลักลอบเข้าเมืองที่เป็นจุดอ่อนของการแพร่ระบาดเชื้อโควิด ที่สำคัญ คือ การจับกุมเหล่านี้ ได้แต่ปลาซิวปลาสร้อย แทบไม่ได้ ผู้บงการรายใหญ่ ชี้ว่า กลไกการเอาผิด ล้มเหลว ทำให้เชื่อว่า มีการคอรัปชั่นระหว่างเจ้าหน้าที่ กับ นายหน้า ถึงไม่สามารถหาตัวการมาลงโทษได้ เหมือนปลายปีที่แล้ว ที่ปัญหาแรงงานต่างด้าวเป็นต้นเหตุการระบาดใหญ่

ย้อนไปต้นปี 2564 ยังจำได้หรือไม่ คณะกรรมการที่ นายกฯ ตั้งเพื่อตรวจสอบการกระทำความผิดลักลอบนำแรงงานผิดกฎหมายเข้าประเทศซึ่งเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่จ.สมุทรสาคร ตอนนั้นดูคึกคัก รัฐบาลขู่จะเอาตัวการมาลงโทษ ที่สุดจนถึงวันนี้ไม่มีรายงานความคืบหน้าให้ประชาชนทราบ ทั้งที่ปัญหาการลักลอบยังมีมากมาย สะท้อนว่า วิธีการแก้ปัญหาแรงงานเถื่อนของรัฐบาล ทำแบบลูบหน้าปะจมูก

อีกปัจจัย คือ การย่อหย่อนและส่อทุจริตของเจ้าหน้าที่ที่ปล่อยให้สถานบันเทิง ขายสุรากันโจ่งแจ้งในหลายพื้นที่ ทั้งที่ยังคุมเข้ม หลังคลายล็อคอยู่ เช่น ในกทม. สัปดาห์ที่ผ่านมา สน.ปทุมวัน จับกุมนักเที่ยว 93 รายมั่วสุมในสถานบันเทิงตั้งอยู่ไม่ไกลจากโรงพักปทุมวัน ตำรวจบอกว่า ผับนี้ไม่ใช่ครั้งแรก มีการตักเตือนไปก่อนแล้ว นั่นแสดงว่า ตำรวจไม่บังคับใช้กฎหมายจริงจัง ทำให้ประชาชนตั้งคำถามว่าหรือจะเข้าอีหรอบเดิม เจ้าหน้าที่มีนอกมีในกับเจ้าของสถานบันเทิง เป็นต้นเหตุระบาดอีก

ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน สน.ลุมพินี ก็เพิ่งจับกุมร้านอาหารย่านสุขุมวิท ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขายแอลกอฮอล์ให้นั่งกินในร้าน รวบ 116 นักเที่ยว เสี่ยงต่อการระบาดเชื้อโควิด

อย่าลืมว่า ต้นเหตุการระบาดโควิดระลอกล่าสุดของเราที่สูญเสียจนถึงวันนี้ ก็จากสถานบันเทิงทองหล่อ จนถึงวันนี้ การเอาผิดผู้เกี่ยวข้องก็เงียบหาย

สุดท้าย กลับมาที่ประเด็นเดิม หากจะเปิดประเทศ ภาครัฐสร้างความมั่นใจให้ประชาชนได้หรือไม่ มีมาตรการเข้มข้นที่จะแก้จุดอ่อน 2 เรื่องนี้หรือยัง คือ แรงงานต่างด้าว กับ การย่อหย่อนของเจ้าหน้าที่ในการควบคุมสถานบันเทิง

อย่าให้ทุกอย่างต้องย้อนกลับมาวนลูบเหมือนเดิมทั้งที่รู้ต้นตอ สาเหตุ แต่ปัญหาที่ลึกกว่านั้น คือ การคอรัปชั่น มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องระหว่างเจ้าหน้าที่ในระดับต่างๆ นี่คือ ต้นเหตุการระบาดที่อาจทำให้การคลายล็อคและซ้ำด้วยการเปิดประเทศครั้งนี้ ถ้าคุมเข้มไม่ได้ การแพร่เชื้อระลอกใหม่ก็อาจกลับมากระทบกับคนไทยอีกครั้ง

*********************